เมนูปิด

การยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 / 3 / 53 และ ภ.พ. 30 / ภ.ธ.40 ผ่านอินเทอร์เน็ต

 

    1. การยื่นแบบเพิ่มเติมผ่านอินเทอร์เน็ต

 

     การยื่นแบบเพิ่มเติมผ่านอินเทอร์เน็ต หากเป็นการยื่นเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลา สามารถยื่นแบบเพิ่มเติมผ่านอินเทอร์เน็ตได้

     สำหรับการยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องเป็นการยื่นเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลา และเป็นรายสถานประกอบการหรือรายสาขาเท่านั้น กรณีได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกันไม่สามารถยื่นแบบเพิ่มเติมผ่านอินเทอร์เน็ตได้แม้จะเป็นการยื่นเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาก็ตาม

 

 

     2. วิธีแก้ไขปัญหาการติดตั้งโปรแกรมใบแนบ

 

     โดยทั่วไปคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้แต่ละท่านจะถูกติดตั้งอยู่ในสภาวะที่แตกต่างกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบปัญหาจากการติดตั้งโปรแกรมประกอบต่าง ๆ ซึ่งสามารถสรุปปัญหา และวิธีการแก้ไขได้เป็น 3 กรณีดังนี้ 

 

          1. กรณีที่ติดตั้งโปรแกรมเรียบร้อยแล้ว แต่เปิดโปรแกรมแล้วมี error แจ้งว่า "... msvbvm60.dll Could not be found ..." หรือ "... msstdfmt.dll Could not be found ..." ให้ Download Service Pack 1 ไปทำการติดตั้ง (เลือกลง Path ใดก็ได้) 

 

          2. กรณีที่มี error แจ้งว่า "...Can not Register" ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

 

               (1) เปิด Command Prompt - change directory ไปที่ c:windowssystem (กรณี OS เป็น Windows98, ME หรือต่ำกว่า Windows2000) - change directory ไปที่ c:winntsystem32 (กรณี OS เป็น Windows2000 ขึ้นไป) 

               (2) คีย์ regsvr32 msvbvm60.dll หรือ regsvr32 msstdfmt.dll แล้วกด Enter  

               (3) ทำการ เปิดโปรแกรมดูใหม่

          3. กรณีที่มี error แจ้งว่า "... (ชื่อไฟล์).ocx not found หรือ expire"

 

               (1) ให้ทำการ copy ไฟล์ดังกล่าวจาก Path ที่ติดตั้งโปรแกรมใบแนบไว้ก่อนแล้ว ไปไว้ที่ c:windowssystem (กรณีที่เป็น Windows98, ME หรือต่ำกว่า Windows2000)

               (2) ให้ทำการ copy ไฟล์ดังกล่าวจาก Path ที่ติดตั้งโปรแกรมใบแนบไว้ก่อนแล้ว ไปไว้ที่ c:winntsystem32 (กรณีที่เป็น Windows XP หรือ Windows 2000 ขึ้นไป) (สามารถศึกษารายละเอียดวิธีการติดตั้งโปรแกรมใบแนบได้จากเว็บไซต์ www.rd.go.th ==> ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ==> แนะนำบริการ ==> แนะนำโปรแกรมประกอบ ==> แก้ไขปัญหาการติดตั้ง )

 

 

      3.  กรณีที่ไม่สามารถ Browse File ใบแนบได้ โดยระบบแจ้งว่า “แฟ้มข้อมูลไม่ถูกต้อง”

    กรณีที่ไม่สามารถ Browse File ขึ้นมาได้ โดยระบบแจ้งว่า “แฟ้มข้อมูลไม่ถูกต้อง” เกิดขึ้นเนื่องจาก Browse File ไม่ถูกต้อง ให้ตรวจสอบแฟ้มข้อมูลที่ Browse ขึ้นมา เช่น ประเภทแบบ เดือนปีภาษี เลขที่สาขา ยื่นปกติหรือยื่นเพิ่มเติม ถูกต้องตรงกับแบบที่ประสงค์จะยื่นหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องอาจเกิดจากการ Browse File ผิด หรือบันทึกรายการข้อมูลผิด จะต้องแก้ไขข้อมูลใบแนบให้ถูกต้องตรงกับแบบฯ ที่ประสงค์จะยื่นแบบฯ

 

 

      4.  การแก้ไขข้อมูลในใบแนบภายหลังจากการยื่นแบบ แต่ยังไม่ได้ชำระเงิน

 

    กรณีที่ยังไม่พ้นกำหนดการยื่นแบบ เมื่อพบว่ารายการข้อมูลในใบแนบไม่ถูกต้องหลังจากดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระเงิน สามารถดำเนินการแก้ไขข้อมูลได้โดยการ Log in เข้าสู่ระบบจะปรากฏ สถานะแบบค้างชำระ ให้ Click ที่หมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบจะปรากฏแบบฯ ขึ้นมา ให้ทำการยกเลิกการยื่นแบบฯ ฉบับนั้น โดยกดปุ่ม “ยกเลิกการยื่นแบบ” (ที่ด้านล่างของแบบ) แล้วทำการยื่นแบบฯ ใหม่

 

 

      5.  การตรวจสอบความสมบูรณ์ของการชำระภาษี

 

          เมื่อชำระเงินภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้ว หน่วยรับชำระภาษี (ธนาคาร / ไปรษณีย์) จะส่งข้อมูลให้แก่ กรมสรรพากรในสิ้นวันทำการ ดังนั้น หากอยู่ในระหว่างวันข้อมูลอาจยังไม่ถูกส่งมาให้ ระบบจึงแสดงสถานะค้างชำระหน้าจอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการส่งข้อมูลของแต่ละหน่วยรับชำระภาษี (ธนาคาร / ไปรษณีย์) ซึ่งบางแห่งอาจส่งข้อมูลการชำระเงินภาษีให้กรมสรรพากรทันทีที่ทำรายการเสร็จ แต่บางแห่งจะสรุปข้อมูลเมื่อสิ้นวัน ทำให้สถานะที่ปรากฏไม่ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อชำระเงินภาษีหน่วยรับชำระภาษีจะออกใบเสร็จรับเงินให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน หรือในกรณีที่เลือกชำระภาษีผ่านทาง e-payment หรือ Internet Banking สามารถตรวจสอบการ ชำระเงินได้จาก Statement ของธนาคาร และหลังจากนั้น 2 วันทำการ จึงสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน เพื่อใช้ เป็นหลักฐานยืนยันความสมบูรณ์ของการชำระภาษี 

 

 

     6.  การยื่นแบบและชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีที่ไม่สามารถชำระเงินภายในกำหนดเวลา

 

     การยื่นแบบและชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อได้มีการชำระเงินเต็มตามจำนวนเงินภาษีและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากดำเนินการยื่นแบบฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรมสรรพากรจะถือว่าไม่ได้ยื่นแบบฯ และยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบฯ พร้อมทั้งชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ เนื่องจากเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบฯจะไม่สามารถยื่นแบบและชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตได้

 

     7.  ขั้นตอนการพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน

 

     หลังจากทำรายการยื่นแบบและชำระภาษี (ถ้ามี) ผ่านอินเทอร์เน็ตเสร็จสมบูรณ์แล้ว ประมาณ 2 วันทำการ จึงสามารถดำเนินการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้ คือ

 

          1. เข้าสู่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th == > บริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต == > บริการ สมาชิก == > พิมพ์ใบเสร็จรับเงิน 

          2. Log in เข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขผู้ใช้ (User ID) และรหัสผ่าน (Password)

          3. เลือกประเภทแบบแสดงรายการภาษีที่ต้องการพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน

          4. บันทึกรายการข้อมูล เช่น หมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบ หรือ เดือน/ปีภาษี

          5. Click ที่หมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบ จะปรากฏใบเสร็จรับเงิน

          6. พิมพ์ใบเสร็จรับเงิน

 

 

     8.  การขอคัดแบบ กรณียื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตแต่ไม่สามารถสั่งพิมพ์แบบได้

 

     การพิมพ์แบบแสดงรายการภาษีโดยปกติสามารถสั่งพิมพ์ได้ทันทีที่หน้าจอหลังจากทำรายการเสร็จสมบูรณ์ หรือหากเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91, ภ.ง.ด.94) แต่มิได้พิมพ์แบบไว้ในขณะยื่นรายการ สามารถกลับเข้าไปพิมพ์ในภายหลังได้

     กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีประเภทอื่นที่ไม่สามารถพิมพ์แบบฯ ได้หลังจากออกจากระบบแล้ว หากต้องการแบบแสดงรายการภาษี ดังกล่าว ให้ติดต่อขอคัดแบบฯ พร้อมเอกสารประกอบได้ด้วยตนเองหรือนำส่งทางไปรษณีย์ที่ สำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ชั้น 27 กรมสรรพากร เลขที่ 90 ซ.พหลโยธิน 7 ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400  หรือ  e-mail: email.epadmin@remove-thisrd.go.th (ตอบกลับตาม email ที่แจ้งตาม ภ.อ. 01)

 

     9.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ผิด นำส่งภาษีถูกต้อง ให้ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ (ฝ่ายกรรมวิธี)

 

 

    กรณียื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีถูกต้องแล้ว แต่บันทึกข้อมูลไม่ถูกต้องให้ดำเนินการ ดังนี้

          1. ให้ทำหนังสือเพื่อขอแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด พร้อมแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณา

          2. ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ (ฝ่ายกรรมวิธี) ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ เพื่อขอแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด

 

     10.  กรณีวันสุดท้ายของการยื่นแบบฯผ่านอินเทอร์เน็ต ตรงกับวันหยุดราชการ

 

    การยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถทำรายการยื่นแบบฯ ได้ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ภายในเวลา 06.00 - 22.00 น. (ยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยื่นได้ตลอด 24 ชั่วโมง) ทุกวันโดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ส่วนการชำระภาษีขึ้นอยู่กับหน่วย รับชำระภาษี (ธนาคาร / ไปรษณีย์) ที่เปิดให้บริการ และหากวันสุดท้ายของการยื่นแบบฯ ตรงกับวันหยุดราชการ สามารถยื่นแบบฯ ได้ในวันทำการถัดไป

 

 

 

RD Call  Center  1161

บริการอย่างเป็นมิตร เพื่อนคู่คิดทางภาษี

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-01-2021