เมนูปิด

โค้งสุดท้าย! ซื้อ RMF/LTF ประหยัดภาษี ปี2553

 

1. ชื่อเรื่อง : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ

คำถาม  :ปี 2553 นาย ก. มีเงินได้ทั้งปี จำนวน 3,400,000 บาท และจ่ายเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 100,000 บาท ซื้อประกันชีวิตแบบปกติ จำนวน 60,000 บาท ประกันชีวิตแบบบำนาญ จำนวน 300,000 บาท  รวมทั้งซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF จำนวน 360,000 บาท นาย ก. สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าเบี้ยประกันชีวิต และค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ได้เท่าไหร่

คำตอบ : การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักได้ร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMFแล้วต้องไม่เกิน 500,00 บาท      

                  

ตัวอย่าง ใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันชีวิตแบบบำนาญ บางส่วน เพื่อหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ตามจำนวนที่ซื้อ

 

1. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ                                                            40,000 บาท

(เพดานในการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

และค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF

= 500,000 - 360,000 (ค่าซื้อกองทุนรวม RMF) - 100,000 (เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ)

 

2. เบี้ยประกันชีวิตแบบปกติ                                                                        100,000 บาท

(60,000+40,000 (จากเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ) เพื่อใช้สิทธิให้ครบ 100,000 บาท)    

                          

3. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ                                                                   100,000 บาท

(3,400,000*15% = 510,000 แต่ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 200,000)

4. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF                                                 360,000 บาท

(เพดานในการหักลดหย่อนฯ = 500,000 – 40,000 (เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) - 100,000 (เบี้ยประกันชีวิต

แบบบำนาญ))   

 

 

2. ชื่อเรื่อง : จำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF

 

คำถาม : กรณีผู้มีเงินได้ ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งในแต่ละปีผู้มีเงินได้ต้องลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ที่ได้รับในแต่ละปี หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี หากคำนวณมูลค่าซื้อหน่วยลงทุนจากอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ แล้วเป็นจำนวน 4,000 บาท ผู้มีเงินได้จะต้องซื้อหน่วยลงทุนเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำเท่าใด จึงจะถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขการยกเว้นเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF

 

คำตอบ : ในการใช้สิทธิยกเว้นเงินได้สำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ผู้มีเงินได้ต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง โดยมีมูลค่าขั้นต่ำอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท

                 ดังนั้น เมื่อผู้มีเงินได้คำนวณเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF จากอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ที่ได้รับในแต่ละปี ซึ่งอาจจะเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่า 5,000 บาท ในกรณีที่คำนวณในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้แล้วเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่า 5,000 บาท ผู้มีเงินได้สามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ตามจำนวนที่คำนวณได้ โดยถือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 173)และ (ฉบับที่ 170) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 174)

3. ชื่อเรื่อง :  การคำนวณค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF

 

คำถาม : นาย ก. มีเงินเดือนทั้งปี จำนวน 2,000,000 บาท และจ่ายเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 200,000 บาท นาย ก. มีสิทธิซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จำนวนเท่าใด

 

คำตอบ : นาย ก. มีสิทธิซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ได้จำนวน 300,000 บาท ตามข้อ 2(55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)ฯ โดยมีวิธีการคำนวณดังนี้

เงินได้ทั้งปี                                                                                                     2,000,000 บาท

เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ                                                                 200,000 บาท

ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF                                                      300,000 บาท

(2,000,000*15% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)

 

4. ชื่อเรื่อง :   ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และซื้อใหม่ในปีภาษีเดียวกัน

 

คำถาม     :   นาย ก. มีเงินเดือนทั้งปี จำนวน 2,000,000 บาท และมีเงินค่าขายกองทุนรวม RMF ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ จำนวน 1,000,000 บาท โดยมีส่วนต่างระหว่างราคาขายกับราคาทุน จำนวน 200,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน นาย ก. ต้องการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ใหม่ นาย ก. มีสิทธิซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF เพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในจำนวนเท่าใด

 

คำตอบ    :   นาย ก. มีสิทธิซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ได้จำนวน 330,000 บาท โดยฐานเงินได้พึงประเมินที่นำมาคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ได้แก่ เงินเดือน และเงินได้ที่เป็นส่วนต่างระหว่างราคาขายกับราคาทุนจากการขาย RMF ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 

 

5. ชื่อเรื่อง : เครดิตภาษีเงินปันผล นำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF

 

คำถาม     :  นาย ก. มีเงินได้จากเงินปันผล จะซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF เพื่อได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในอัตราไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น เงินได้ที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมฯ ต้องรวมเครดิตภาษีจากเงินปันผลด้วยหรือไม่

 

คำตอบ    :  เงินได้ที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF ต้องรวมเครดิตภาษีจากเงินปันผลด้วย เนื่องจากเครดิตภาษีจากเงินปันผลต้องนำมารวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

6. ชื่อเรื่อง : มีเงินได้จากเงินเดือน เงินบำเหน็จ และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ให้นำมารวมเป็นฐานในการคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF ทั้งหมด

 

คำถาม  :  นาย ก. เกษียณอายุปี 2553 ได้รับบำเหน็จและเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและระเบียบ จำนวนเงิน 5,748,717 บาท และมีเงินได้จากเงินเดือน อีกจำนวน 535,022 บาท รวมเป็นเงิน 6,283,739 บาท นาย ก. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนละ 500,000 บาท ต่อมา นาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 โดยนำเงินบำเหน็จและเงินชดเชยดังกล่าว คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในใบแนบ ภ.ง.ด.91 ฐานเงินได้พึงประเมินที่นำมาคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และกองทุนรวม LTF ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท จะต้องนำเงินบำเหน็จและเงินชดเชยดังกล่าวมารวมด้วยหรือไม่

 

คำตอบ  :  ในปี 2553 นาย ก. มีเงินได้ทั้งสิ้น จำนวนเงิน 6,283,739 บาท ร้อยละ 15 ของเงินได้ เป็นจำนวน 942,560.58 บาท ดังนั้น เมื่อ นาย ก. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 กองทุนละ 500,000 บาท จึงได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF ได้กองทุนละ 500,000 บาท ตามข้อ 2(55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)และตามข้อ 2(66) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169)

7. ชื่อเรื่อง : ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ที่ไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุน แต่ถือครบ 5 ปีปฏิทิน

 

คำถาม  :  การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยไม่ใช้สิทธิยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุน เนื่องจากคาดว่า จะขายหน่วยลงทุนนี้ก่อนครบ 5 ปี แต่ไม่ได้ขาย จนกระทั่งถือครบ 5 ปีปฏิทิน จึงขายคืนกองทุนรวม LTF  และมีกำไรจากการขาย เงินได้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคลธรรมดาหรือไม่

 

คำตอบ   :  เงินค่าขายกองทุนรวม LTF ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามข้อ 2(67) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)นั้น ต้องเป็นเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย และเงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าว ต้องคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนฯ ดังนั้น แม้ได้ถือกองทุนรวมดังกล่าว ครบ 5 ปีปฏิทิน แต่มิได้ใช้สิทธิยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุนฯ ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 กำไรที่ได้รับจากการขายคืน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้แสดงรายการในข้อ 7 ของแบบ ภ.ง.ด.90 เงินค่าขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หัก ราคาทุน เงินส่วนต่างกรณีราคาขายมากกว่าราคาทุน ในช่องไม่รับยกเว้น

 

8. ชื่อเรื่อง  :  เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากขายหน่วยลงทุนที่ถือไม่ครบ 5 ปี

 

คำถาม   :  กรณีขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในระหว่างที่ถือหน่วยลงทุนไม่ครบ 5 ปี คืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับ เนื่องจากการขายคืนหน่วยลงทุนจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่

 

คำตอบ  : เนื่องจากถือหน่วยลงทุนไม่ครบ 5 ปี จึงไม่เป็นไป ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169)เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ (Capital Gain) จากการขายหน่วยลงทุนคืนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับ (ส่วนต่างราคาขายหน่วยลงทุนคืนหักราคาทุน) เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรและเป็นเงินได้ที่เกิดจากการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่า ซึ่งมิใช่การขายสินค้า แต่เป็นการให้บริการ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

9. ชื่อเรื่อง : โอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ไปยังอีกกองทุนหนึ่ง

 

คำถาม     :  โอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองหนึ่งไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอีกกองหนึ่งโดยไม่ต้องการให้เสียสิทธิการได้รับยกเว้นเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุน จะต้องปฏิบัติอย่างไร

 

คำตอบ     :  กรณีผู้มีเงินได้ได้โอนการลงทุนในหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ทั้งหมดหรือบางส่วน ไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอีกกองทุนหนึ่ง ไม่ว่าจะโอนไปยังกองทุนเดียวหรือหลายกองทุน ผู้มีเงินได้จะต้องโอนการลงทุนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวนั้น ภายใน 5 วันทำการ นับแต่วันถัดจากวันที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่โอนได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้ จึงจะถือว่าระยะเวลาในการถือหน่วยลงทุนในกรณีดังกล่าวมีระยะเวลาต่อเนื่องกัน และกองทุนฯ ที่โอนจะต้องจัดทำเอกสารหลักฐานการโอนส่งมอบให้แก่กองทุนที่รับโอนเก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมให้กรมสรรพากรตรวจสอบได้

10.ชื่อเรื่อง : หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF         

                 หลักฐานใช้ในการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมRMF ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)ที่กำหนดโดย ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552ได้แก่

                1. หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีผู้มีเงินได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

                2. หนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหนังสือรับรอง ตาม 1. กรณีผู้มีเงินได้โอนหน่วยลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น

                 ทั้งนี้ ในการจัดทำหนังสือรับรองดังกล่าว ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

                 1. มีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศดังกล่าว

                 2. จัดทำเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องมีคำแปลภาษาไทย กำกับด้วย ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรือเลขอารบิคก็ได้ 

                 3. ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองดังกล่าวจะลงชื่อโดยการประทับลายมือชื่อด้วยตรายาง  หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการ SCAN ลายมือชื่อไว้ก็ได้

 

11.ชื่อเรื่อง : หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว เพื่อยกเว้นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF

                 หลักฐานใช้ในการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169)ที่กำหนดโดยประกาศกรมสรรพากร เรื่อง หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้  สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552ได้แก่

                1. หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีผู้มีเงินได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว

                2. หนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหนังสือรับรอง ตาม 1. กรณีผู้มีเงินได้โอนหน่วยลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอื่น

               ทั้งนี้ ในการจัดทำหนังสือรับรองดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

               1. มีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศดังกล่าว

               2. จัดทำเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรือเลขอารบิคก็ได้ 

               3. ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองดังกล่าวจะลงชื่อโดยการประทับลายมือชื่อด้วยตรายาง  หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการ SCAN ลายมือชื่อไว้ก็ได้

 

RD Call  Center 1161

บริการอย่างเป็นมิตร เพื่อนคู่คิดทางภาษี

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-01-2021