เมนูปิด

พระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 36)

พ.ศ. 2548

   ---------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2548

เป็นปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้ประกาศว่า

                      โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร

                      พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

                      จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและ

ยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

                      มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 36) พ.ศ.2548”

 

                     มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจา-

นุเบกษาเป็นต้นไป

 

                     มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ญ) ของ (1) ในมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2534

                              “(ญ) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละสามหมื่นบาทโดยบุคคลดังกล่าวต้องมีอายุหกสิบปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

                              ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่ง ให้หักลดหย่อนสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ.2547 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ.2548 เป็นต้นไป”

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ   ชินวัตร

         นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ : -  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดให้ผู้อุปการะเลี้ยงดูบุพการีซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับการหักลดหย่อนภาษีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในประมวลรัษฎากร ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ให้กำเนิดบุตร สมควรกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนหรือบิดามารดาของสามีหรือภริยาของตนสามารถนำค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 122 ตอนที่ 4ก วันที่ 13 มกราคม 2548)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 17-01-2012