เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
กำหนดประเภท อัตรา และเงื่อนไขในการหักค่าชดเชย
รายจ่ายที่เป็นทุนเกี่ยวกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
พ.ศ. 2516

------------- 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516
เป็นปีที่ 28 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

                        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 95 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515

                        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 และมาตรา 26 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                        มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกากำหนดประเภท อัตรา

และเงื่อนไขในการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนเกี่ยวกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2516"

                        มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                        มาตรา 3  ให้ยกเลิกความใน (6) ของข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 95 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                        "(6) รายจ่ายที่เป็นทุนอย่างอื่นซึ่งมิใช่ (1) (2) (3) (4) และ (5) และซึ่งมิใช่เป็นรายจ่ายที่เป็นทุนเพื่อการได้มาซึ่งที่ดิน

                        (ก) รายจ่ายที่เป็นทุนที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ร้อยละ 20 ทีมีรูปร่าง

                        (ข) รายจ่ายที่เป็นทุนนอกจากตาม (ก) เฉพาะที่จ่ายไป ร้อยละ 20 สำหรับแปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่า เป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

                        (ค) รายจ่ายที่เป็นทุนนอกจากตาม (ก) และ (ข) ร้อยละ 10"

                        มาตรา 4  ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 3 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 95 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                        "(3) ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ให้บริษัทผู้รับโอนถือเอามูลค่าต้นทุนสุทธิของบริษัทผู้โอนมาหักค่าชดเชยได้เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการโอนกิจการปิโตรเลียม แต่ทั้งนี้

                        (ก) ถ้าค่าตอบแทนที่บริษัทผู้รับโอนจ่ายแก่บริษัทผู้โอนต่ำกว่ามูลค่าต้นทุนสุทธิของบริษัทผู้โอน ให้บริษัทผู้รับโอนถือเอามูลค่าต้นทุนสุทธิมาหักได้เพียงเท่าค่าตอบแทนที่จ่ายไป ถ้ามีรายจ่ายที่เป็นทุนหลายรายการ ให้เฉลี่ยค่าตอบแทนนั้นตามส่วนของมูลค่าต้นทุนสุทธิของ รายจ่ายที่เป็นทุนแต่ละรายการ

                        (ข) ถ้าค่าตอบแทนที่บริษัทผู้รับโอนจ่ายแก่บริษัทผู้โอนสูงกว่าผลบวกของมูลค่าต้นทุนสุทธิกับผลขาดทุนประจำปีคงเหลือของบริษัทผู้โอน ให้บริษัทผู้รับโอนนำส่วนเกินมาหักได้ โดยถือว่าส่วนเกินนั้นเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนอย่างอื่นตามข้อ 2 (6) (ค)

                        ความใน (ก) และ (ข) ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่เป็นการโอนสัมปทานตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514"

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       สัญญา ธรรมศักดิ์
        นายกรัฐมนตรี

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลได้พิจารณาเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 95 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ว่าด้วยการกำหนดประเภท อัตรา และเงื่อนไขในการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่ เป็นทุนเกี่ยวกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยเพิ่มอัตราการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนเฉพาะที่ จ่ายไปสำหรับแปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกิน สองร้อยเมตรเพื่อส่งเสริมให้ผู้รับสัมปทานรีบสำรวจปิโตรเลียม และมิให้นำวิธีการบางอย่าง ในการหักค่าชดเชยมาใช้บังคับแก่การโอนสัมปทานที่ไม่ต้องขอรับอนุญาต  จึงจำเป็นต้องตรา พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ขึ้น

 

[รก. 2516/157/586/4 ธันวาคม 2516]

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 29-11-2020