เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 147)
เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
--------------------------------
      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 438) พ.ศ. 2548 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ดังต่อไปนี้

      ข้อ   1   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้าง ต้องประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบเป็นการทั่วไป ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2548

      ข้อ   2   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องเริ่มต้นจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างภายในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2548 และเมื่อจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างคนใดของตนในเดือนใดต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้ลูกจ้างคนนั้นติดต่อกันทุกเดือนพร้อมกับการจ่ายเงินเดือน ในกรณีที่หยุดจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างคนนั้นในเดือนใด บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างคนนั้นตั้งแต่เดือนหลังจากเดือนที่หยุดจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้างคนนั้น

      ข้อ   3   เงินเดือนที่ต้องนำมารวมกับเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษ ต้องเป็นเงินเดือนที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างตามบัญชีอัตราเงินเดือน หรือตามหลักเกณฑ์หรือตามวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินเดือนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

                      ในกรณีลูกจ้างเข้าทำงานก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 เงินเดือนตามวรรคหนึ่งต้องไม่ต่ำกว่าเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนของเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 หรือในกรณีคำนวณเงินเดือนจากระยะเวลาการทำงานในแต่ละเดือนจำนวนเงินที่ต้องนำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือนต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินที่นำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือนของเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548

                      ในกรณีลูกจ้างเข้าทำงานในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 หรือภายหลังเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 เงินเดือนตามวรรคหนึ่งต้องไม่ต่ำกว่าเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนของเดือนที่เข้าทำงาน หรือในกรณีคำนวณเงินเดือนจากระยะเวลาการทำงานในแต่ละเดือนจำนวนเงินที่ต้องนำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือนต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินที่นำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือนของเดือนที่เข้าทำงาน

      ข้อ   4   ลูกจ้างซึ่งได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องไม่ตัดสิทธิในการเพิ่มเงินเดือนหรือจำนวนเงินที่นำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างนั้นซึ่งจะมีสิทธิได้รับการเพิ่มเงินดังกล่าวตามระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือข้อบังคับของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

                      กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้เพิ่มเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับเงินเดือนที่มิได้คำนวณเงินเดือนจากระยะเวลาการทำงานในแต่ละเดือน จำนวนเงินเดือนที่จะต้องนำมารวมกับเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษต้องไม่ต่ำกว่าเงินเดือนของเดือนที่มีการเพิ่มเงินเดือน และสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับเงินเดือนที่คำนวณเงินเดือนตามระยะเวลาการทำงานในแต่ละเดือน จำนวนเงินที่ต้องนำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือนที่จะนำมารวมกับเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษ ต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินที่นำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือนที่มีการเพิ่มขึ้นแล้ว

      ข้อ   5   เงินเดือนที่จะนำมารวมกับเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษของลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดที่ได้ออกจากงานไปแล้ว และได้กลับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นอีกในภายหลังให้เป็นดังนี้

                      (1)  กรณีลูกจ้างซึ่งมิใช่ลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนที่คำนวณเงินเดือนจากระยะเวลาการทำงานในแต่ละเดือน เงินเดือนนั้นจะต้องไม่ต่ำกว่าเงินเดือนของเดือนที่มีเงินเดือนมากที่สุดที่ลูกจ้างนั้นเคยได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ก่อนที่ลูกจ้างนั้นออกจากงาน

                      (2)  กรณีลูกจ้างซึ่งได้รับเงินเดือนที่คำนวณเงินเดือนจากระยะเวลาการทำงานในแต่ละเดือน จำนวนเงินที่ต้องนำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือน ต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินที่นำไปคำนวณตามระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือนที่มีจำนวนมากที่สุด ที่ลูกจ้างนั้นเคยได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ก่อนที่ลูกจ้างนั้นออกจากงาน

                      เงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษตามวรรคหนึ่งต้องจ่ายเพิ่มเติมจากเงินเดือนและเงินได้อื่นอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานที่ลูกจ้างได้รับอยู่เป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้วก่อนออกจากงานจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

      ข้อ   6   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษให้แก่ลูกจ้าง ต้องยื่นแบบแจ้งการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษซึ่งต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้

                      การยื่นแบบแจ้งการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นภายในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2549

                      การยื่นแบบแจ้งการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพพิเศษตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามเว็บไซต์ (web site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th หรือ ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

                      (1)  สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในท้องที่ที่สถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นตั้งอยู่

                      ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในท้องที่ที่สถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่

                      (2)  สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่

      ข้อ   7   ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย
ประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548
ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์
(นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์)
อธิบดีกรมสรรพากร
แบบแจ้งการใช้สิทธิ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 25-10-2005