เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 169)
เรื่องกำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในเขตปลอดอากรบางกรณีเป็นผู้ประกอบการซึ่งมีเหตุอันสมควรไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดลักษณะและวิธีการการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในเขตปลอดอากรบางกรณี มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวได้ และกำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
--------------------------------
            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 85/3(3) มาตรา 85/3 วรรคสอง และมาตรา 85/3 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในเขตปลอดอากรบางกรณีเป็นผู้ประกอบการซึ่งมีเหตุอันสมควรไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดลักษณะและวิธีการการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในเขตปลอดอากรบางกรณี มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวได้ และกำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

            ข้อ   1   ให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรเป็นตัวแทนตามมาตรา 77/1(7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตัวแทนเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะการขายสินค้าในราชอาณาจักรโดยมีตัวแทนดังกล่าว เป็นการขายสินค้าในกรณีดังต่อไปนี้

                            (1)  การขายสินค้าโดยส่งสินค้าจากเขตปลอดอากรออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศซึ่งเข้าลักษณะเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78(4) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร

                            (2)  การขายสินค้าที่อยู่ในเขตปลอดอากรให้แก่ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากรไม่ว่าจะอยู่ในเขตปลอดอากรเดียวกันหรือไม่ หรือการขายสินค้าที่อยู่ในเขตปลอดอากรให้แก่คลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร

                            (3)  การขายสินค้าในเขตปลอดอากรให้แก่ผู้ซื้อสินค้าในราชอาณาจักรที่ได้รับสิทธิไม่ต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4)(5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2535

                            "เขตปลอดอากร" ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า เขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1(21) แห่งประมวลรัษฎากร

            ข้อ   2   ให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งมีลักษณะและวิธีการการประกอบกิจการตามข้อ 1 ที่ประสงค์จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวได้ โดยให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร

                            ให้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวด้วยโดยระยะเวลาสิ้นสุดของใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวให้สิ้นสุดลงตามระยะเวลาการเป็นตัวแทนของตัวแทนที่อยู่ในเขตปลอดอากร และเมื่อระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง ให้ถือว่าการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสิ้นสุดลงทันที หากผู้ประกอบการประสงค์จะขยายเวลาการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาก่อนการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสิ้นสุดลง

            ข้อ   3   ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในประกาศนี้ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549
ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์
(นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-12-2006