เมนูปิด

คำชี้แจงกรมสรรพากร
เรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544
เรื่องสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
--------------------------------

      ตามที่ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 229 (พ.ศ.2544) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 ซึ่งกรมสรรพากรได้มีคำชี้แจงกรมสรรพากร ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 นั้น

      กรมสรรพากรขอชี้แจงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพิ่มเติม ดังนี้

      ข้อ   1   กรณีการจ่ายค่าตอบแทนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) ค่าตอบแทนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) หรือค่าตอบแทนการซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) ที่ขายโดยทั่วไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมี License หรือไม่ ถือเป็นการจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้อง หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544

      ข้อ   2   กรณีการให้บริการเป็นตัวแทนกระทำพิธีการศุลกากรแทนเจ้าของสินค้า (Shipping) หากเจ้าของสินค้าจ่าย เงินล่วงหน้าให้กับตัวแทน (Shipping) เพื่อดำเนินการกระทำพิธีการศุลกากร เจ้าของสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในขณะที่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าว

      กรณีตัวแทน (Shipping) จ่ายค่าใช้จ่ายในการออกของในนามของเจ้าของสินค้า ให้กับส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาล ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตัวแทนไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และเมื่อเจ้าของสินค้าจ่ายเงินค่าใช้จ่าย ในการออกของคืนให้กับตัวแทนตาม ใบเสร็จรับเงินของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลนั้น เจ้าของสินค้าก็ไม่มีหน้าที่ต้อง หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      กรณีตัวแทน (Shipping) ได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการออกของในนาม ของเจ้าของสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ตัวแทนมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 และ ตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการ โดยใช้แบบพิมพ์หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของตัวแทน และต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของสินค้าด้วย เมื่อเจ้าของสินค้าจ่ายเงินดังกล่าวคืนให้กับ ตัวแทน เจ้าของสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

      กรณีเจ้าของสินค้าจ่ายค่าบำเหน็จให้กับตัวแทน (Shipping) ในการเป็นตัวแทนกระทำพิธีการศุลกากร ซึ่งเป็นเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตาม คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544

      ตัวแทน (Shipping) มีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด. 53 เป็นรายฉบับแต่ละรายเจ้าของสินค้า โดยตัวแทนจะต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของสินค้าในช่อง " ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย " และระบุชื่อตัวแทน (Shipping) ในช่อง " ผู้จ่ายเงิน " ซึ่งกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินในนามของเจ้าของสินค้า และ ให้ตัวแทนส่งสำเนาแบบ ภ.ง.ด. 53 พร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินให้กับเจ้าของสินค้าด้วย

      ข้อ   3   กรณีการให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศ-ภัย เมื่อผู้เอาประกันจ่ายเงินค่าเบี้ย ประกันวินาศภัยให้กับตัวแทนของผู้รับประกัน ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตาม คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 โดยผู้เอาประกันจะต้องออกหนังสือรับรองการ หักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของผู้รับประกันซึ่งเป็นตัวการ และเมื่อตัวแทนนำเงินค่าเบี้ยประกันวินาศภัยจ่ายให้กับผู้รับประกัน ตัวแทนของ ผู้รับประกันไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      ข้อ   4   กรณีการจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้อง หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้

      (1)   การจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ผู้จ่ายเงินมี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 เว้นแต่ การจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการ ขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540 ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      (2)   การจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ซึ่งรับขนส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      (3)   การจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ซึ่งรับขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทย โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยปฏิบัติตามข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้น ๆ

      ข้อ   5   กรณีผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) เรียกเก็บ ค่าขนส่งสินค้าและค่าธรรมเนียมในการจัดการขนส่งสินค้าจากเจ้าของสินค้า โดยมิได้แยกค่าขนส่งสินค้าและค่าธรรมเนียมใน การจัดการออกจากกัน เมื่อเจ้าของสินค้าจ่ายเงินดังกล่าวให้กับ Freight Forwarder ถือเป็นการจ่ายค่าบริการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544

      กรณีผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) จ่ายค่าขนส่ง สินค้าในนามของเจ้าของสินค้าให้กับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล Freight Forwarder มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ในนามของเจ้าของสินค้า ซึ่ง Freight Forwarder จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการ ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล โดยใช้แบบพิมพ์หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของ Freight Forwarder และต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของสินค้าด้วย เมื่อเจ้าของสินค้าจ่ายเงิน ดังกล่าวคืนให้กับ Freight Forwarder เจ้าของสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณี ดังกล่าว Freight Forwarder มีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับตัวแทน (Shipping) ตามข้อ 2

      กรณีเจ้าของสินค้าจ่ายค่าบำเหน็จให้กับ Freight Forwarder ในการรับจัดการขนส่ง สินค้าระหว่างประเทศโดย เรือเดินทะเล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544

      ข้อ   6   กรณีการจ่ายค่าบริการที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจ เครดิตฟองซิเอร์ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ดี เฉพาะการจ่ายค่าบริการให้กับธนาคารตามกฎหมาย ว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจ เครดิตฟองซิเอร์ หากค่าบริการแต่ละรายการ ที่ให้บริการ (Transaction) ในแต่ละครั้ง มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      ข้อ   7   กรณีเจ้าของสินค้าขายสินค้าโดยให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังจากที่ขายสินค้า ไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนลดเงินสด เช่น บริษัท ก.จำกัด ขายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งมูลค่า 350,000 บาท มีเงื่อนไขการชำระราคาค่าสินค้าว่า ถ้าชำระ ภายใน 2 เดือน จะลดให้ 2,000 บาท กรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่จะต้องระบุเงื่อนไข ส่วนลดเงินสดไว้ใน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน และต้องเป็นการให้ส่วนลดที่เป็นปกติตามประเพณี ทางการค้าด้วย

      จึงขอชี้แจงมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน

กรมสรรพากร
13 กรกฎาคม 2544

หน้าจอหลักบริการสารสรรพากร : : หน้าจอหลัก ก.ค.44

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-08-2002