เมนูปิด
ค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF

 

1. ชื่อเรื่อง : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหลายประเภท

คำถาม :   กรณีผู้ลงทุนมีการลงทุนในกองทุนหลายประเภท เช่น ลงทุนทั้งในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PDF) หรือลงทุนทั้งในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะมีหลักเกณฑ์การคำนวณการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร

คำตอบ :   การลงทุนในกองทุนหลายประเภท จำนวนเงินที่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในกองทุน เช่น กรณีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะลงทุนได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกขนแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

2. ชื่อเรื่อง : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หลายกองทุน

คำถาม :   ผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หลายกองทุน จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

คำตอบ :   กรณีผู้ลงทุนมีการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หลายกองทุน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยพิจารณาจากตัวบุคคลเป็นเกณฑ์ในการได้รับสิทธิ กล่าวคือ ในแต่ละปีผู้ลงทุนจะต้องลงทุนในหน่วยลงทุนฯ รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท แต่หากมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนฯ ในบางกองทุน จนทำให้ยอดรวมการลงทุนในปีดังกล่าวต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่ามีการลงทุนที่ผิดเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้

3. ชื่อเรื่อง : ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ทั้งหมดแล้วซื้อใหม่นำมาหักลดหย่อนได้

คำถาม :   นาย ก. มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และซื้อติดต่อกันมาทุกปี นาย ก. ต้องการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่ซื้อมาทั้งหมด (ปี 2547 - 2551) ภายในปี 2552 และนำเงินไปซื้อกองทุน RMF ใหม่ นาย ก. นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF นี้ไปหักลดหย่อนภาษีในปี 2552 ได้หรือไม่

คำตอบ :   หากนาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF แล้ว ต่อมาในปี 2552 นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ใหม่  นาย ก. มีสิทธินำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ดังกล่าวไปหักในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2552 ได้ โดยให้ถือปฏิบัติ ตามข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ.2551) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)

 

4. ชื่อเรื่อง : ซื้อและขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ในปีภาษีเดียวกัน

คำถาม :   กรณีผู้ลงทุนมีการซื้อและขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในระหว่างปี จะมีหลักเกณฑ์การคำนวณว่าได้มีการซื้อหน่วยลงทุนในกรณีนี้เป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

คำตอบ :   กรณีผู้ลงทุนมีการซื้อและขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในระหว่างปี จำนวนเงินการซื้อหน่วยลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องเป็นจำนวนเงินการซื้อและขายหน่วยลงทุนโดยคงเหลือสุทธิ ณ ตอนสิ้นปี


5. ชื่อเรื่อง : การนับระยะเวลาการไถ่ถอน LTF เพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้

คำถาม :   ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2547 และขายหน่วยลงทุนนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 อยากทราบว่าการนับระยะเวลาการไถ่ถอน LTF เพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีใดถูกต้องระหว่าง
          กรณีที่ 1 ซื้อ LTF ในวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ถือว่านับ 1 ปีปฏิทินแล้ว ดังนั้น เมื่อขายหน่วยลงทุน LTF ในวันใดวันหนึ่งในปี 2551 ถือว่าลงทุนมาครบ 5 ปีปฏิทินแล้ว
          กรณีที่ 2 ซื้อ LTF ในวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ถือว่านับ 1 ปีปฏิทินแล้ว แต่จะต้องถือ LTF ให้เต็มปี 2551 จึงจะถือว่าลงทุนครบ 5 ปีปฏิทินแล้ว ดังนั้น ต้องขาย LTF ในวันใดวันหนึ่งในปี 2552

คำตอบ :   ค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ตามข้อ 2(66) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 175) ดังนั้น การนับระยะเวลาถือหน่วยลงทุน LTF ให้นับตามกรณีที่ 1 โดยไม่ได้คำนึงว่า ปีที่ถือครบ 5 ปีปฏิทินนั้นต้องถือให้เต็มปีปฏิทิน

 

6. ชื่อเรื่อง  :ขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่ไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำถาม :   นาง อ. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยเริ่มซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกในปี 2548 และซื้อต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกปี ในแต่ละปีได้นำค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต่อมา ปี 2552 นาง อ.ซื้อหน่วยลงทุน จำนวน 200,000 บาท และได้ขายคืนระหว่างปี ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนที่ซื้อมาในปี 2551 เฉพาะส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
                    1.
ปี 2552 นาง อ. มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุนหรือไม่
                    2.
ปี 2548 - 2551 นาง อ. มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุนหรือไม่

คำตอบ :   1. หาก นาง อ. ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพให้เป็นไป ตามข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) ก็จะมีสิทธินำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในปี 2552 เท่าที่ได้จ่ายไปจริง และถือไว้ตลอดปีภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126(พ.ศ.2509)ฯ และประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้(ฉบับที่ 90)  
                    2. เมื่อ นาง อ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว ต่อมาได้ขายหน่วยลงทุนดังกล่าวไปทั้งหมดหรือบางส่วน โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) ดังนั้น นาง อ. จึงหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของแต่ละปีภาษีที่ผ่านมา พร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

7. ชื่อเรื่อง : การนับระยะเวลาการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่ซื้อก่อน 1 มีนาคม 2551 และลงทุนไม่ต่อเนื่องได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำถาม :     นาย ก. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 และซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวเพิ่มในปี 2548 - 2550 (ปี 2547 หยุดการซื้อ) และขายหน่วยลงทุนดังกล่าวทั้งหมดคืนให้แก่กองทุนรวม RMF ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 เพื่อจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2551 การนับระยะเวลาการไถ่ถอนหน่วยลงทุนดังกล่าวครบ 5 ปี หรือไม่

คำตอบ :   ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว และเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวคืนให้แก่กองทุนรวม มีการนับระยะเวลาการไถ่ถอนหน่วยลงทุน เป็น 2 กรณี ดังนี้
                    1.ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก สำหรับผู้มีเงินได้ที่มิใช่ผู้สูงอายุ หรือทุพพลภาพ จึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(55) และ (65) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)           
                   2.ให้นับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนเฉพาะปีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ซื้อหน่วยลงทุน สำหรับผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้สูงอายุ หรือทุพพลภาพ จึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(56) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) และ ข้อ 1 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 91)
                  ดังนั้น หาก นาย ก. มิใช่ผู้สูงอายุ หรือทุพพลภาพ การนับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกตามข้อ 1 ได้แก่ ปี 2546 ทำให้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าว ครบ 5 ปี นาย ก. จึงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2551

 

8. ชื่อเรื่อง : ผู้สูงอายุซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF

คำถาม :   การยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่หักได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้นั้น คำนวณจากเงินได้หลังหรือก่อนหักการยกเว้นภาษีกรณีเงินได้สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ และเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

คำตอบ :   กรณีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ LTF ที่ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีให้ยกเว้นได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินก่อนหักยกเว้นภาษีกรณีผู้มีเงินได้อายุไม่ต่ำกว่า65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

 

9. ชื่อเรื่อง : ภริยาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF และการกรอกแบบ

คำถาม :   ภริยามีเงินได้ ตามมาตรา 40(1) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้ามีการซื้อกองทุน RMF และ LTF จะหักลดหย่อนอย่างไร และกรอกแบบอย่างไร กรณีภริยาแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 และภริยายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 รวมกันกับสามี

คำตอบ :   ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF หักลดหย่อนได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เว้นแต่จะมีการซื้อกองทุนดังกล่าวในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 หักลดหย่อนได้ทั้งหมดไม่เกิน 700,000 บาท ตามข้อ 2(55) และ (66) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) 
          การกรอกแบบ ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90 ของภริยา กรณีแยกยื่นแบบ และยื่นแบบรวมกับสามี
          1.
กรณีภริยาแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ภริยาสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมทั้ง 2 กองทุน ได้โดยเฉลี่ยตามสัดส่วนของเงินได้ของตน
          2.
กรณีภริยายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 รวมคำนวณ สามีสามารถกรอกในข้อลดหย่อนของผู้มีเงินได้ ได้ทั้งจำนวน

 

10.ชื่อเรื่อง : เอกสารที่ใช้แสดงสิทธิในการยกเว้นเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF กรณีไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนกำหนดเวลาเนื่องจากเหตุทุพพลภาพ  

คำถาม :   ผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก่อนกำหนดเวลาตามหลักเกณฑ์การได้สิทธิยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนมารวมคำนวณเพื่อเสียเงินได้บุคคลธรรมดาเนื่องจากเหตุทุพพลภาพ จะต้องใช้หลักฐานใดให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
 
คำตอบ :   ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดเงินได้ที่จะนำมาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวต่อไปได้

 

11.ชื่อเรื่อง : ขายหน่วยลงทุน RMF ก่อนครบกำหนด 

คำถาม :   ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วขายก่อน 5 ปี จะต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร

 

คำตอบ :   การขายหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องนำผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาทุน ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ในแบบ ภ.ง.ด.90

                   นอกจากนี้ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษีที่ใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร หากยื่นแบบฯ ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่หมดสิทธิ์ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามข้อ 9 ของประกาศอธิบดีฯภาษีเงินได้ (ฉบับที่171)

 

RD Call  Center 1161

บริการอย่างเป็นมิตร เพื่อนคู่คิดทางภาษี

 

ปรับปรุงล่าสุด: 03-12-2021