เมนูปิด
Untitled Document

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


Q1 : ใครบ้างมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
A1 : ผู้มีหน้าเสียเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีดังต่อไปนี้
1. บุคคลธรรมดา
- บุคคลทุกคนเมื่อมีเงินได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่ยื่นแบบและเสียภาษีเงินได้ทุกคน
- ผู้มีเงินได้เป็นผู้เยาว์ ผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ มีเงินได้ ให้เป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เป็นตัวแทนในการยื่นแบบเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว
2. ผู้ถึงแก่ความตาย
ในปีที่ถึงแก่ความตาย ผู้มีเงินได้(ถึงแก่ความตาย) ยังคงมีหน้าเสียภาษีเงินได้ โดยให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกยื่นแบบแทนผู้ถึงแก่ความตาย
ส่วนปีต่อไป หากมีเงินได้จากกองทรัพย์สินของผู้ตายที่ยังไม่ได้แบ่งให้ทายาท ต้องเสียภาษีในนามของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง โดยให้ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณีเป็นผู้ยื่นแบบแทน
3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
ทรัพย์สินในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งก่อให้เกิดเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในปีถัดจากปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในนามกองมรดกของผู้ตาย โดยให้ผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษี
4. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล
หากห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการ ยื่นแบบและชำระภาษีเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วในชื่อของห้างหุ้นส่วนนั้น
5. คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
หากคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการ ยื่นแบบและชำระภาษีเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วในชื่อของคณะบุคคลนั้น
6. วิสาหกิจชุมชน
วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล
ที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท ต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้นพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.94

Q2 : เจ้าของที่ดินตาย มีผู้จัดการมรดกจะขายที่ดินต้องเสียภาษีในนามใคร
A2 : ต้องเสียภาษีในนามกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง โดยยื่นแบบ ล.ป.10.1 ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

Q3 : คณะบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
A3 : คณะบุคคล คือ บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันพึงจะได้จากกิจการที่ทำนั้น
สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน มีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำแล้ว​

Q4 : วิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 60,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือไม่
A4 : วิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 60,000 บาท ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90

Q5 : มีเงินได้เท่าไหร่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91
A5 : เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ (ต่อปี) ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
สำหรับคนโสด
1. มีเงินได้เงินเดือนประเภทเดียว เกิน 120,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91)
2. มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือน เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส
1. มีเงินได้เงินเดือนประเภทเดียว ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน เกิน 220,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91)
2. มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือน ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน เกิน 120,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
สำหรับกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง มีเงินได้เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
สำหรับคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล/วิสาหกิจชุมชน มีเงินได้เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)

ประเภทเงินได้
Q1 : การรับทำงานให้ถือเป็นเงินได้ประเภทใด
A1 : การรับทำงานให้อาจเข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทใด ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของที่มาของเงินได้ ดังต่อไปนี้


มาตรา 40(2)

มาตรา 40(6)

มาตรา 40(7)

มาตรา 40(8)

ผู้มีเงินได้ ต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย

ผู้มีเงินได้ ต้องอาศัยวิชาชีพอิสระ เป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้

ผู้มีเงินได้ต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับจ้างทำงานให้นอกจากเครื่องมือมาประกอบการรับทำงานให้นั้นด้วย

การรับทำงานให้ที่กระทำในรูปธุรกิจที่ผู้มีเงินได้มุ่งหวังผลกำไร และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการสูง

Q2 : การจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1) กับเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แตกต่างกันอย่างไร
A2 :


ประเด็นการพิจารณา

มาตรา 40(1)

มาตรา 40(2)

1. ผลสำเร็จของงาน 

มีวัตถุประสงค์ต้องการใช้แรงงานตามกำหนดเวลาจ้าง 

มีวัตถุประสงค์ต้องการผลสำเร็จของงานเป็นสาระสำคัญ 

2. การจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้าง 

แม้งานไม่แล้วเสร็จ ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามกำหนดเวลาการจ้าง 

ผลของงานต้องแล้วเสร็จ ผู้รับจ้างจึงมีสิทธิ์ได้รับสินจ้าง 

3. ความเป็นอิสระในการทำงาน 

ลูกจ้างไม่มีอิสระในการทำงานจะต้องอยู่ในบังคับบัญชาของนายจ้าง 

ผู้รับทำงานให้มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ในบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง 

4. ความรับผิดในผลละเมิด 

นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่ลูกจ้างได้ก่อขึ้นตามหน้าที่การงานที่จ้าง 

ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่ผู้รับจ้างได้ก่อขึ้นเอง 

 

Q3 : การรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) กับเงินได้เนื่องจากการพาณิชย์การเกษตร ตามมาตรา 40(8) แตกต่างกันอย่างไร
A3 :


 ประเด็นการพิจารณา

มาตรา 40(2)

มาตรา 40(8)

1. ลักษณะงานที่ทำมีค่าใช้จ่าย 

จำนวนเงินน้อย 

จำนวนเงินสูง 

2. จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ 

ไม่มี 

มีการจัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ 

3. การลงทุน 

ต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ 

มีการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ และมีค่าใช้จ่ายสำนักงาน 

4. การจ้างลูกจ้างหรือพนักงาน 

ไม่มี 

มีการจ้าง 

Q4 : ได้รับเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวม ถือเป็นเงินได้ประเภทใด
A4 : เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมจากบริษัทไทย ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข)

Q5 : เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวม ที่ได้รับก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ถือเป็นเงินได้ประเภทใด
A5 : ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8)

Q6 : พิธีกรถือเป็นนักแสดงสาธารณะ ตามมาตรา 40(8) หรือไม่
A6 : นักแสดงสาธารณะ หมายถึง นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม เช่น นักแสดงละครเวที นักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ นักแสดงตลก นายแบบ นางแบบ นักพูดรายการทอล์คโชว์ นักมวยอาชีพ นักฟุตบอลอาชีพ เป็นต้น
นักแสดงสาธารณะตามข้างต้น ไม่รวมถึงผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการ
ในสถานบันเทิงใด ๆ ผู้บรรยายหรือนักพากย์ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงสาธารณะ ผู้กำกับการแสดง ผู้จัดการทีมกีฬา ผู้ฝึกสอน นักกีฬาหรือบุคคลผู้กระทำการในลักษณะทำนองเดียวกัน

Q7 : รับงานฟรีแลนซ์ ถือเป็นเงินได้ประเภทใด
A7 : ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2)

Q8 : รับแปลเอกสาร ถือเป็นเงินได้ประเภทใด
A8 : ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2)

 

การหักค่าใช้จ่าย

Q1 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 โดยหักค่าใช้จ่ายเหมา ตอนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้หรือไม่
A1 : สามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ หากมีหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าใช้จ่ายเหมาตามที่กำหนดไว้

Q2 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ปีต่อไป สามารถเปลี่ยนวิธีการหักค่าใช้จ่ายจากอัตราเหมาเป็นการหักค่าใช้จ่ายจริงได้หรือไม่
A2 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 โดยใช้สิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา หรือหักค่าใช้จ่ายจริง สามารถเปลี่ยนวิธีการหักค่าใช้จ่ายได้ทุกปี โดยไม่ต้องขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากร

Q3 : เงินเดือนหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้หรือไม่
A3 : เงินได้ตามมาตรา 40(1) หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาอัตราร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ได้วิธีเดียว

Q4 : มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ (2) หักค่าใช้จ่ายอย่างไร
A4 : หากมีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ 40(2) หักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท

Q5 : ค่าลิขสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
A5 : เงินได้ตามมาตรา 40(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
- ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท หรือ
- หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร

Q6 : เงินได้ตามมาตรา 40(4) หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
A6 : เงินได้ตามมาตรา 40(4) ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้

Q7 : รายได้ตามมาตรา 40(5) หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
A7 : 1. การให้เช่าทรัพย์สิน เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังนี้
(ก) บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ร้อยละ 30
(ข) ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ร้อยละ 20
(ค) ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม ร้อยละ 15
(ง) ยานพาหนะ ร้อยละ 30
(จ) ทรัพย์สินอย่างอื่น ร้อยละ 10
กรณีให้เช่าช่วง ให้หักค่าใช้จ่ายจากค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี
กรณีมีเงินได้ค่าเช่าทรัพย์สินหลายประเภท ให้เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ตามแต่ละประเภทของทรัพย์สินนั้น ๆ
2. การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน หรือการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนฯ ผู้มีเงินได้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 20 ได้วิธีเดียว

Q8 : เงินได้ตามมาตรา 40(6) หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
A8 : เงินได้ตามมาตรา 40(6) คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชีประณีตศิลปกรรม เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังนี้
(1) การประกอบโรคศิลปะ ร้อยละ 60
(2) วิชาชีพอิสระอื่นนอกจากการประกอบโรคศิลปะ ร้อยละ 30

Q9 : เงินได้ตามมาตรา 40(7) หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
A9 : เงินได้ตามมาตรา 40(7) จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60

Q10 : เงินได้ตามมาตรา 40(8) มีอะไรบ้าง หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
A10 : เงินได้ตามมาตรา 40(8) ได้แก่ เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ ตามมาตรา 40(1) - (7) เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควรที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ให้หักเหมา
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา จำนวน 43 รายการ ในอัตราร้อยละ 60 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 หากมิได้ระบุอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาไว้ ให้หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร

Q11 : นักแสดงสาธารณะ หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
A11 : วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา
- เงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 60
- เงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้อัตราร้อยละ 40
ทั้งนี้ การหักค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท
วิธีที่ 2 หากมีหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร

 

การหักค่าลดหย่อน

Q1 : การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A1 : การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
2. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หากอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ให้หักลดหย่อนได้ 120,000 บาท
5. วิสาหกิจชุมชนประกอบกิจการในรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักค่าลดหย่อนได้ ไม่เกิน 60,000 บาท

Q2 : การหักลดหย่อนคู่สมรสมีหลักเกณฑ์อย่างไร
A2 : การหักลดหย่อนคู่สมรส มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. สามีหรือภริยา (คู่สมรส) ของผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
2. สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ต้องไม่มีเงินได้พึงประเมิน
3. ต้องเป็นสามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรสกัน)
4. กรณีจดทะเบียนสมรสระหว่างปี, คู่สมรสตายระหว่างปี หรือหย่าระหว่างปี สามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้
5. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย (180 วัน) สามารถนำสามีหรือภริยาที่อยู่ต่างประเทศมาหักลดหย่อนได้
6. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนเฉพาะคู่สมรสและบุตรที่อยู่ในไทยถึง 180 วันเท่านั้น

Q3 : การหักลดหย่อนบุตรมีหลักเกณฑ์อย่างไร
A3 : การหักลดหย่อนบุตร มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือของคู่สมรส คนละ 30,000 บาท
2. บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
3. บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้น ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42)
4. บุตรต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
5. เป็นผู้เยาว์ (อายุไม่ถึง 20 ปี) หรือผู้มีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา (ระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรีขึ้นไป) รวมถึงการศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
6. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันเท่านั้น
7. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนบุตรได้ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศ
8. สำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป (ยกเว้นบุตรบุญธรรม) ที่เกิดในหรือหลัง พ.ศ. 2561 หักลดหย่อนได้เพิ่มอีก คนละ 30,000 บาท

Q4 : กรณีบุตรเป็นผู้เยาว์ หรือบรรลุนิติภาวะมีเงินได้เงินปันผลเกิน 30,000 บาท ใช้สิทธิลดหย่อนบุตรอย่างไร
A4 : 1. กรณีบุตรเป็นผู้เยาว์ (อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ / ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส) เป็นผู้มีเงินได้เงินปันผลในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว และความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรเป็นเงินได้ของบิดา แต่ถ้าความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของบิดาในกรณีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองร่วมกัน ดังนั้น บิดามารดาสามารถหักค่าลดหย่อนบุตรได้ แม้บุตรจะมีเงินปันผลเกินกว่า 30,000 บาทในปีภาษี
2. กรณีบุตรบรรลุนิติภาวะ (อายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) เป็นผู้มีเงินได้เงินปันผลในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ให้ถือว่าเป็นเงินได้ของบุตรมิใช่เป็นเงินได้ของบิดามารดา ดังนั้น บิดามารดาจึงไม่สามารถหักค่าลดหย่อนบุตรได้

Q5 : การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดามีหลักเกณฑ์อย่างไร
A5 : การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดา มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. บิดา/มารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (การคำนวณอายุให้นำปีภาษี หักด้วย พ.ศ. เกิดของบิดา/มารดา)
2. บิดา/มารดา ต้องมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
3. อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
4. หากภริยาแยกยื่นแบบเสียภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักบิดา/มารดาของตน
5. บิดา/มารดาต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้นเกิน 30,000 บาท
6. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
7. บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน
8. บุตรหลายคนอุปการะบิดา/มารดา ให้บุตรเพียงคนเดียวที่มีหลักฐาน (ล.ย.03) เป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
9. หากผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในไทย

Q6 : การหักลดหย่อนค่าอุปการะคนพิการ/ทุพพลภาพ มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A6 : การหักลดหย่อนค่าอุปการะคนพิการ/ทุพพลภาพ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. คนพิการต้องมีบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
2. ผู้ใช้สิทธิต้องมีชื่อเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวของคนพิการ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษีให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน

3. คนทุพพลภาพต้องเป็นกรณีที่แพทย์ได้ตรวจและมีความเห็นว่าทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
4. คนพิการ/ทุพพลภาพต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท
5. การหักลดหย่อนต้องมีเอกสารหลักฐาน ดังนี้
กรณีหักลดหย่อนคนพิการ
(1) หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)
(2) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการ
กรณีหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ
(1) หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04) และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04-1)
(2) ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

Q7 : การยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A7 : การยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้มีเงินได้จ่ายค่าเบี้ยประกันให้บิดา/มารดาของตน และบิดา/มารดา
ของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ให้ได้รับยกเว้นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
2. บิดา/มารดา ต้องมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
3. ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพ ไม่ใช่เบี้ยประกันชีวิต (หากเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตและมีการประกันสุขภาพเพิ่มเติม ไม่สามารถหักลดหย่อน)
4. บิดา/มารดาต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้นเกิน 30,000 บาท
5. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
6. บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิยกเว้นฯ
7. ภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นแบบเสียภาษี หรือใช้สิทธิก็ตาม ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นฯ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดาของตน
8. กรณีกรมธรรม์ใดมีการชำระจากบุตรหลายคน ให้ใช้สิทธิยกเว้นได้ทุกคน โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันตามส่วนจำนวนบุตรที่ร่วมกันจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
9. กรณีผู้มีเงินได้มิได้อยู่ในไทย ให้ยกเว้นได้เฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาที่อยู่ในไทยเท่านั้น
10. การหักลดหย่อนต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันฯ

Q8 : การลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A8 : การลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. หักเป็นค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันส่วนที่เกิน 10,000 แต่ไม่เกิน 90,000 บาท หักเป็นรายการยกเว้น ซึ่งต้องไม่เกินจากจำนวนเงินได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว (มีผลเท่ากับว่าเบี้ยประกันชีวิตให้หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
2. กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่มีการประกันชีวิตไว้ หากความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
3. เป็นการประกันชีวิต ที่กรมธรรม์มีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป
4. หากมีผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี (ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์) ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
*** หากทำประกันชีวิตให้บุตร หรือ บิดา/มารดา ไม่สามารถหักลดหย่อนได้ ***

Q9 : การยกเว้นเงินได้สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพ มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A9 : การยกเว้นเงินได้สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร
2. หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
3. เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4. เบี้ยประกันสุขภาพตนเองที่จ่ายไป ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560
5. ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้เอาประกันไว้ โดยบริษัทประกันฯ ต้องส่งข้อมูลของผู้เอาประกันด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 315)

Q10 : การยกเว้นเงินได้สำหรับเบี้ยประกันแบบบำนาญ มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A10 : การยกเว้นเงินได้สำหรับเบี้ยประกันแบบบำนาญ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ให้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตก่อน หากเบี้ยประกันชีวิตยังไม่เกิน 100,000 บาท ให้นำเบี้ยประกันแบบบำนาญไปหักให้เต็มจำนวน 100,000 บาท
2. เฉพาะเบี้ยประกันแบบบำนาญหักเป็นรายการยกเว้นได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
3. เบี้ยประกันแบบบำนาญที่ยกเว้นนั้น เมื่อรวมกับ (1) เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (2) กบข. (3) เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน (4) กองทุนการออมแห่งชาติ (5) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
4. เป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนเบี้ยประกันบำนาญของคู่สมรสได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวให้รวมถึงเบี้ยประกันชีวิตด้วย (ถ้ามี) โดยบันทึกข้อมูลในช่องเบี้ยประกันชีวิต
5. ประกันแบบบำนาญ ที่กรมธรรม์มีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป

Q11 : การลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A11 : การลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง โดย 10,000 บาทแรกหักเป็นรายการลดหย่อน ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท หักเป็นรายการยกเว้นเงินได้
***เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับลดหย่อนและยกเว้น เมื่อรวมกับรายการดังต่อไปนี้แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ***
(1) กบข.
(2) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
(3) กองทุนการออมแห่งชาติ
(4) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
(5) เบี้ยประกันแบบบำนาญ

Q12 : การหักเงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A12 : การหักเงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท โดยหักเป็นรายการยกเว้นเงินได้
***เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติที่ได้รับยกเว้น เมื่อรวมกับรายการดังต่อไปนี้แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท***
(1) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) กบข.
(3) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
(4) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
(5) เบี้ยประกันแบบบำนาญ

Q13 : การยกเว้นเงินได้สำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A13 : การยกเว้นเงินได้สำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ให้หักเป็นรายการยกเว้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
2. เงินสะสมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ได้รับยกเว้นนั้น เมื่อรวมกับรายการดังต่อไปนี้แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
(1) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) กบข.
(3) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
(4) กองทุนการออมแห่งชาติ
(5) เบี้ยประกันแบบบำนาญ
3. ต้องซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้ หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี
4. ต้องซื้อไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และไม่ระงับการซื้อเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน
5. เงื่อนไขการถือครองหน่วยลงทุนฯ
(1) กรณีซื้อหน่วยลงทุนฯ ผู้มีเงินได้จะต้องถือหน่วยลงทุนฯ ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และไถ่ถอนเมื่อผู้มีเงินได้นั้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ (ยกเว้นกรณีผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนฯ เพราะเหตุทุพพลภาพหรือตาย) หากใช้สิทธิแล้วต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบฯ เพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีสำหรับปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นแบบฯ ของปีภาษีนั้น ๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบฯ เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม
(2) กรณีขายหน่วยลงทุนฯ ผู้มีเงินได้จะต้องถือหน่วยลงทุนฯ ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก หากใช้สิทธิแล้วต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามแบบ ภ.ง.ด.90

Q14 : การยกเว้นเงินได้สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A14 : การยกเว้นเงินได้สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ให้หักเป็นรายการยกเว้นไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
2. ผู้ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้คือบุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
3. ต้องถือต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2562 หากขายหน่วยลงทุนก่อนกำหนด ต้องยื่นแบบเพิ่มเติมพร้อมรับผิดเงินเพิ่ม

Q15 : การลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A15 : การลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ได้รับลดหย่อนและยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
2. เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด หรือสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตน
3. ต้องจำนองอาคาร ห้องชุด อาคารพร้อมที่ดิน ที่ซื้อหรือสร้างนั้นเป็นประกันการกู้ยืม
4. หากผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดหลายแห่ง ให้ใช้สิทธิได้ทุกแห่งรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
5. หลายคนร่วมกันกู้ยืม (กู้ร่วม) ให้เฉลี่ยดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้นตามจำนวนผู้กู้ร่วม โดยใช้จำนวนดอกเบี้ย ที่จ่ายจริง ซึ่งไม่เกิน 100,000 บาท
6. กรณีสามีภริยาร่วมกันกู้โดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิเต็มตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่มีชื่อเป็นผู้กู้ หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ได้
7. กรณีกู้เพิ่มเติมจากสัญญาเดิม เช่น กู้ต่อเติมตกแต่ง ไม่ได้รับสิทธิให้นำมาหักลดหย่อน เพราะมิได้เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
8. ต้องมีหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกำหนด
9. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าว รวมถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม (Refinance) เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หรือห้องชุดด้วย ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืม เพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น

Q16 : การหักยกเว้นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 528) พ.ศ. 2554) ตามมีหลักเกณฑ์อย่างไร
A16 : การหักยกเว้นภาษีบ้านหลังแรก ที่ได้จ่ายค่าซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่างวันที่ 21 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดมูลค่าไม่เกิน 5,000,000 บาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่เคยมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อน (บ้านมือหนึ่ง)
2. ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ฯ มาก่อน และไม่เคยใช้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย
3. ใช้สิทธิยกเว้นครั้งแรก ภายใน 5 ปีภาษี นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และต้องใช้สิทธิต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีภาษี
4. สิทธิยกเว้นภาษีต่อปี = ((ค่าซื้อฯ ไม่เกิน 5,000,000 x 10%) /5)


Q17 : การหักลดหย่อนค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 313 (พ.ศ. 2559)) มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A17 : การหักยกเว้นภาษีบ้านหลังแรก ที่ได้จ่ายค่าซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดใน อาคารชุด มูลค่าไม่เกิน 3,000,000 บาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน (บ้านใหม่/บ้านมือสอง)
2. ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน
3. ใช้สิทธิหักลดหย่อนต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีภาษี
4. สิทธิหักลดหย่อนภาษีต่อปี = ((ค่าซื้อฯ ไม่เกิน 3,000,000x20%) /5)

Q18 : การหักลดหย่อนค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 348 (พ.ศ. 2562)) มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A18 : การหักลดหย่อนค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2562 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. จ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุด เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย มูลค่าไม่เกิน 5,000,000 บาท ใช้สิทธิได้เท่าจำนวนที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
2. ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน
3. ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เว้นแต่จะถึงแก่ความตายหรือกรณีอสังหาริมทรัพย์นั้นสิ้นสภาพไปทั้งหมด

Q19 : การหักลดหย่อนประกันสังคม มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A19 : สามารถหักลดหย่อนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมมาตรา 33 ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท แต่หากประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 39 สามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,184 บาท
***กรณีผู้ประกันตนนอกระบบ ตามมาตรา 40 ไม่สามารถยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตได้***

Q20 : การใช้สิทธิค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A20 : การใช้สิทธิค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8)
2. จ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน และได้ติดตั้ง ณ สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
3. จ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดดังกล่าว
4. ยื่นแบบฯ คำนวณ หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร
5. ยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของค่าใช้จ่ายจริง

Q21 : การใช้สิทธิค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตมีหลักเกณฑ์อย่างไร
A21 : การใช้สิทธิค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต ที่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) เท่านั้น รวมกันไม่เกิน 30 ล้านบาทในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
2. สำหรับเงินได้เป็นจำนวน ร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

Q22 : การหักลดหย่อนค่าลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A22 : การหักลดหย่อนค่าลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ได้จ่ายเงินลงทุนตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เงินที่ได้จ่ายเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นธุรกิจ Startup ที่ได้รับการรับรองจาก สวทช. ว่าได้ประกอบกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย
2. ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
3. ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล** ไม่น้อยกว่า 2 ปีต่อเนื่องกัน นับแต่วันที่ลงทุน เว้นแต่ทุพพลภาพหรือตาย
**บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562
(2) เป็นกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
(3) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผู้มีเงินได้ลงทุนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

Q23 : การหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A23 : การหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เงินที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร เช่น ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายา ค่าทำคลอด เป็นต้น
2. จ่ายให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ หรือของเอกชน
3. ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี สำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว ไม่เกิน 60,000 บาท
4. ต้องมีเอกสารมาแสดง ได้แก่ ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความเห็นว่ามีภาวะตั้งครรภ์ และใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่ได้จ่ายให้แก่สถานพยาบาล
5. ต้องรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ซึ่งเป็นสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแล้ว ไม่เกิน 60,000 บาท
6. กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ใช้สิทธิตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
7. กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้ภริยาใช้สิทธิเต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท

Q24 : การหักลดหย่อนเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A24 : การหักลดหย่อนเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง ในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุนเท่านั้น
2. ผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักลดหย่อนต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีสัญชาติไทย
3. ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
4. ต้องมีเอกสารมาแสดง คือใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่พิสูจน์ได้ถึงการบริจาคดังกล่าว

Q25 : การหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A25 : การหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนมูลค่าเพิ่ม แล้วแต่กรณี สำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการในราชอาณาจักร
2. ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่รวมกัน 2 ปีภาษีแล้ว ต้องไม่เกิน 15,000 บาท สินค้าที่หักลดหย่อนมี 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
(1) ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ หรือยางรถจักรยาน ที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ และคูปองที่มีตราประทับของร้านค้า โดยคูปอง 1 ใบ ต่อยาง 1 เส้น
(2) หนังสือ หรือหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่ไม่รวมถึงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวารสาร ที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ หรือผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(3) สินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

Q26 : การหักลดหย่อนค่าซ่อมบ้าน/ซ่อมรถ จากพายุโซนร้อนปลาบึก มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A26 : การหักลดหย่อนค่าซ่อมบ้าน/ซ่อมรถ จากพายุโซนร้อนปลาบึก ระหว่างวันที่ 3 ม.ค. 2562 - 31 มี.ค. 2562 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
ค่าซ่อมบ้าน
1. เงินที่ได้จ่ายเป็นการซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคารหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุด ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
2. ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปลาบึก และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย
3. ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่า หรือผู้ใช้ประโยชน์ จากทรัพย์สินนั้น
4. หากมีทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งแห่ง ให้รวมคำนวณค่าซ่อมแซมทุกแห่งเข้าด้วยกัน
ค่าซ่อมรถ
1. เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2. ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปลาบึก และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย
3. ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้เช่าซื้อรถนั้น
4. หากมีทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งคัน ให้รวมคำนวณค่าซ่อมแซมทุกคันเข้าด้วยกัน

Q27 : การหักลดหย่อนค่าซ่อมบ้าน/ซ่อมรถ จากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A27 : การหักลดหย่อนค่าซ่อมบ้าน/ซ่อมรถ จากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. 2562 - 30 พ.ย. 2562 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
ค่าซ่อมบ้าน
1. เงินที่ได้จ่ายเป็นการซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคารหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุด ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
2. ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย
3. ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่า หรือผู้ใช้ประโยชน์ จากทรัพย์สินนั้น
4. หากมีทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งแห่ง ให้รวมคำนวณค่าซ่อมแซมทุกแห่งเข้าด้วยกัน
ค่าซ่อมรถ
1. เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2. ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย
3. ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้เช่าซื้อรถนั้น
4. หากมีทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งคัน ให้รวมคำนวณค่าซ่อมแซมทุกคันเข้าด้วยกัน

Q28 : การหักลดหย่อนค่าท่องเที่ยวในประเทศ มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A28 : การหักลดหย่อนค่าท่องเที่ยวในประเทศ ที่ได้จ่ายไปในช่วง วันที่ 30 เมษายน 2562 - 30 มิถุนายน 2562 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม หรือโฮมสเตย์ไทยตามที่กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำหนด รวมถึงค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
2. เที่ยวเมืองหลัก ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
3. เที่ยวเมืองรอง ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
4. เที่ยวเมืองหลัก และเมืองรอง เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20,000 บาท
5. จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองเฉพาะพื้นที่ 55 จังหวัด

Q29 : การหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและอุปกรณ์กีฬา มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A29 : การหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและอุปกรณ์กีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ค่าซื้อสินค้าที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท
2. สินค้าที่หักลดหย่อนมี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
(1) อุปกรณ์การศึกษา แต่ไม่รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
(2) เครื่องแต่งกายสำหรับการศึกษา
(3) อุปกรณ์กีฬา
(4) เครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬา

Q30 : การหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า OTOP ใช้สิทธิอย่างไร
A30 : การหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า OTOP ต้องซื้อสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ใช้สิทธิได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

Q31 : การหักลดหย่อนค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือ (e-Book) (กฎกระทรวง ฉบับที่ 347 (พ.ศ.2562)) มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A31 : การหักลดหย่อนค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือ (e-Book) ในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2562 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ค่าซื้อหนังสือทุกประเภท หรือค่าบริการหนังสือทุกประเภทที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท
2. ผู้ที่ได้สิทธิยกเว้นค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือ (e-Book) ในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2562 ถึงวันที่ 16 ม.ค. 2562 มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท

Q32 : การหักลดหย่อนเงินบริจาค ใช้สิทธิได้เท่าไร
A32 : การหักลดหย่อนเงินบริจาค ใช้สิทธิได้ดังนี้
1. บริจาคให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล และกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ ฯลฯ หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา
2. บริจาคให้สถานศึกษา ผ่าน e-Donation หรือบริจาคให้สถานศึกษาตามหลักเกณฑ์พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
3. บริจาคให้สถานพยาบาลของทางราชการ หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา

Q33 : กรณีท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองมีจังหวัดใดบ้าง
A33 : การหักลดหย่อนค่าท่องเที่ยวในประเทศ ที่ได้จ่ายไปในช่วง วันที่ 30 เมษายน 2562 - 30 มิถุนายน 2562 จังหวัดท่องเที่ยวรอง มีจำนวน 55 จังหวัด ได้แก่ เขตจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพะเยา จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร จังหวัดยะลา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดระนอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดอุบลราชธานี

 

การคำนวณภาษี

Q1 : อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2562
A1 : อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ปีภาษี 2562 เป็นต้นไป


ขั้นเงินได้สุทธิตั้งแต่

เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น

อัตราภาษี

ภาษีในแต่ละขั้น
เงินได้

ภาษีสะสมสูงสุด
ของขั้น

0 - 150,000

150,000

5

ยกเว้น*

0

เกิน 150,000 - 300,000 

150,000

5

7,500

7,500

เกิน 300,000 - 500,000 

200,000

10

20,000

27,500

เกิน 500,000 - 750,000 

250,000

15

37,500

65,000

เกิน 750,000 - 1,000,000 

250,000

20

50,000

115,000

เกิน 1,000,000 - 2,000,000 

1,000,000

25

250,000

365,000

เกิน 2,000,000 - 5,000,000 

3,000,000

30

900,000

1,265,000

เกิน 5,000,000 บาท ขึ้นไป 

 

35

 

 

Q2 : ใครมีหน้าที่ต้องคำนวณภาษีอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน
A2 : ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(2) – (8) ตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวคูณด้วยอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน หากคำนวณภาษีแล้ว มีเงินภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 5,000 บาท ในปีภาษีนั้น ไม่ต้องเสียภาษีตามวิธีดังกล่าว แต่ยังคงมีหน้าที่ในการคำนวณและเสียภาษีสำหรับวิธีการคำนวณเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้ และเปรียบเทียบภาษีที่คำนวณได้ วิธีใดได้ภาษีจำนวนสูง ให้ใช้วิธีนั้น

 

การยื่นแบบฯ และชำระภาษี

Q1 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผ่านช่องทางใดได้บ้าง
A1 : ช่องทางการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 มีดังนี้
1. อินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
2. สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาใดก็ได้
3. ไปรษณีย์ลงทะเบียน เฉพาะผู้เสียภาษีที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครเท่านั้น โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนพร้อมแนบเช็ค หรือใบธนาณัติตามจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระทั้งจำนวน
4. ยื่นแบบผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax สำหรับแบบ ภ.ง.ด.91
5. สถานที่อื่นที่กรมสรรพากรกำหนด เช่น กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร (จตุจักร) หรือส่วนราชการต่างๆ หรือห้างสรรพสินค้า ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ให้บริการรับแบบนอกสถานที่ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ของทุกปี

Q2 : ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ภายในเมื่อใด
A2 : ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 พร้อมทั้งชำระภาษี (ถ้ามี) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีภาษีที่มีเงินได้ ในวันและเวลาราชการ กรณียื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตได้รับสิทธิพิเศษให้ขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีออกไปอีก 8 วัน

Q3 : กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ต จะเลือกผ่อนชำระ 3 งวดได้หรือไม่
A3 : การผ่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นงวดๆ กรณียื่นแบบผ่านทางอินเทอร์เน็ต มีเงื่อนไข ดังนี้
1. มีภาษีที่ต้องชำระพร้อมการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 จำนวน 3,000 บาทขึ้นไป และประสงค์ที่จะขอชำระภาษีเป็น 3 งวด งวดละเท่าๆ กัน ตามมาตรา 64(1) แห่งประมวลรัษฎากร (เศษสตางค์ที่เหลือจากการหารไม่ลงตัว จะนำไปรวมในการชำระงวดที่ 1) และต้องชำระภาษีงวดที่ 1 ภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิชำระภาษีงวดต่อๆ ไป
หมายเหตุ กรณีวันสุดท้ายของการชำระภาษีตรงกับวันหยุดราชการ ให้ชำระได้ภายในวันทำการถัดไป
2. การชำระภาษีงวดที่ 1 งวดที่ 2 และ งวดที่ 3
2.1 สามารถชำระภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือชำระ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้
2.1.1 หากเลือกชำระภาษีงวดที่ 1 ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถชำระภาษีงวดที่ 2 ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้
2.1.2 หากเลือกชำระภาษีงวดที่ 2 ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถชำระภาษีงวดที่ 3 ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้
2.1.3 หากเลือกชำระภาษีงวดที่ 1 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแล้ว งวดที่ 2 และ งวดที่ 3 ต้องชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น
2.1.4 หากเลือกชำระภาษีงวดที่ 2 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแล้ว งวดที่ 3 ต้องชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น

Q4 : ชำระภาษีผ่านช่องทางใดได้บ้าง
A4 : การชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีวิธีการชำระดังนี้
1. ชำระเป็นเงินสด
2. ชำระด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บัตร TAX SMART CARD บัตรเครดิต และบัตรเดบิต (โดยผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม)
3. ชำระเป็นเช็คหรือดราฟต์
(1) เช็คที่ชำระต้องเป็นเช็ค 4 ประเภท ได้แก่
- เช็คธนาคารแห่งประเทศไทย (เช็คประเภท ก.)
- เช็คที่มีธนาคารค้ำประกัน (เช็คประเภท ข.)
- เช็คที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่าย (เช็คประเภท ค.)
- เช็คที่ผู้มีหน้าที่ชำระเงินภาษีอากร เป็นผู้เซ็นสั่งจ่ายและใช้ชำระโดยตรง (เช็คประเภท ง.) การใช้เช็คประเภท ง. ให้ใช้เช็คที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้อยู่ในสำนักหักบัญชีเดียวกัน
(2) การสั่งจ่ายเช็ค หรือดราฟต์ ให้ขีดคร่อมและสั่งจ่าย ดังนี้
- ในกรุงเทพมหานคร ให้สั่งจ่าย “กรมสรรพากร” กับขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” และหรือ “ตามคำสั่ง” ออก
- ในต่างจังหวัด ให้ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่ยื่นแบบฯ ก่อนสั่งจ่ายเช็ค
4. ชำระเป็นธนาณัติ
(1) ผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบฯ ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร
(2) ส่งธนาณัติ เท่ากับจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ (ห้ามหักค่าธรรมเนียมในการส่งธนานัติ) ไปพร้อมกับการยื่นแบบฯ โดยสั่งจ่าย “ผู้อำนวยการกองบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพากร ปณ. กระทรวงการคลัง”

Q5 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 คำนวณภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ต้องการแก้ไขจะต้องดำเนินการอย่างไร
A5 : หากยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ไว้แล้ว ปรากฏว่าทำรายการไม่ถูกต้อง สามารถยื่นแบบฯ เพิ่มเติม โดยกรอกรายการใหม่ทั้งหมด และในการกรอกรายการให้บันทึกจำนวนเงินภาษีที่ชำระไว้แล้ว กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ หรือ 0.00 กรณีไม่มีภาษีที่ต้องชำระหรือขอคืนเงิน โดย
1. แบบ ภ.ง.ด.90 หัวข้อ การคำนวณภาษี ข้อ 22
2. แบบ ภ.ง.ด.91 หัวข้อ การคำนวณภาษี ข้อ 19
กรณียื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หากยังอยู่ในกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ สามารถยื่นแบบฯ เพิ่มเติมได้

Q6 : ลืมรหัสผ่าน สำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ต
A6 : กรณียื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ลืมรหัสผ่าน ลืมคำถาม-คำตอบ ที่ได้เลือกไว้ สามารถขอรหัสผ่านใหม่ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เลือก “ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต” เมนู ลืมรหัสผ่าน แล้วคลิก “ขอรหัสผ่านใหม่” และกรอกข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมระบุเลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser ID) ระบุรหัสผ่านใหม่ที่มีความหมายเฉพาะจำง่ายและต้องมีความยาว 8 ตัวอักษร แล้วคลิก "ขอรหัสผ่านใหม่"

Q7 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ต้องระบุที่อยู่ตามทะเบียนบ้านหรือไม่
A7 : ให้กรอกตามที่อยู่ปัจจุบันที่สามารถติดต่อได้สะดวก อาจเป็นที่ทำงาน หรือที่พักอาศัยก็ได้

Q8 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 กรอกเลขผู้จ่ายเงินได้อย่างไร
A8 : ให้กรอกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ (กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นนิติบุคคล) หรือหมายเลขประจำตัวประชาชน (กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา) ในแต่ละช่องตามประเภทเงินได้นั้นๆ โดยดูได้จากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้ออกให้
กรณีเงินได้ประเภทหนึ่งๆ มีผู้จ่ายเงินได้หลายราย ให้เลือกกรอกเพียงรายเดียว

Q9 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ต หากต้องการพิมพ์แบบ/ใบเสร็จ จะต้องทำอย่างไร
A9 : หลังจากทำรายการยื่นแบบฯ และชำระภาษี (ถ้ามี) ผ่านอินเทอร์เน็ตเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะต้องรอระบบประมวลผลประมาณ 2 - 3 วันทำการ หากต้องการแบบและใบเสร็จรับเงิน สามารถพิมพ์ได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th => ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต => ภ.ง.ด.90/91 ยื่นด้วยตนเอง => พิมพ์แบบฯ ใบเสร็จ (90/91) (94) => Login เข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขผู้ใช้ (User ID) และรหัสผ่าน (Password) => ระบุ Laser ID หลังบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบ => เลือกพิมพ์แบบฯ หรือพิมพ์ใบเสร็จ => ระบุปีภาษี => เลือกหมายเลขอ้างอิงการบันทึกแบบ/เลขที่ใบเสร็จ => ระบบจะแสดงหน้าแบบ/ใบเสร็จรับเงิน

 

การขอคืนภาษี

Q1 : หลังจากดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 สามารถตรวจสอบผลการขอคืนได้อย่างไร
A1 : ภายหลังจากดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้ว สามารถตรวจสอบสถานะเงินคืนได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เลือก "สอบถามข้อมูลการขอคืน" โดยเลือกปีภาษีที่ต้องการค้นหา กรอกชื่อ-สกุล (ไม่ต้องระบุคำหน้าชื่อ) เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขผู้เสียภาษีอากรหรือตรวจสอบสถานะขอคืนภาษีได้ที่ลิงค์ http://www.rd.go.th/27942.html

Q2 : กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 และระบุประสงค์ขอคืนภาษีไว้ กรมสรรพากรจะคืนเงินภาษีผ่านช่องทางใด
A2 : ผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 และประสงค์ขอคืนภาษี กรมสรรพากรจะคืนภาษีให้ตามช่องทาง ดังนี้
1. กรณีลงทะเบียนพร้อมเพย์ กรมสรรพากรจะคืนภาษีเข้าบัญชีเงินฝากที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน
2. กรณีที่มิได้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์ กรมสรรพากรจะนำส่งหนังสือแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) ให้ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ที่หน้าแบบฯ โดยให้นำบัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือเอกสารหลักฐานซึ่งแสดงถึงฐานะของผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีไปติดต่อธนาคารกรุงไทยทุกสาขา/ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทุกสาขา (เฉพาะรายผู้ขอคืนที่ใช้ที่อยู่ตามหน้าแบบที่ไม่มีสาขาของธนาคารกรุงไทยตั้งอยู่) เพื่อขอรับเงินคืนภาษี ดังนี้
1. สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์เพื่อนำเงินคืนภาษีเข้าบัญชี ได้ที่
1.1 ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
1.2 ธนาคารอื่น โดยเมื่อลงทะเบียนพร้อมเพย์กับธนาคารใดเรียบร้อยแล้ว ให้นำ ค.21 ไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทยอีกครั้งเพื่อแจ้งว่าได้ทำการลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ที่ธนาคารใด
2. นำเข้าบัญชีเงินฝาก
2.1 ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทุกสาขา (เฉพาะรายผู้ขอคืนที่ใช้ที่อยู่ตามหน้าแบบที่ไม่มีสาขาของธนาคารกรุงไทยตั้งอยู่)
3. คืนด้วยบัตร e-Money / e-Wallet

Q3 : กรณีไม่ได้รับหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) จะต้องทำอย่างไร
A3 : ผู้ขอคืนภาษีที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ต หากไม่ได้หนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) สามารถเข้าทำรายการยื่นคำร้องขอให้ออก ค.39 ออนไลน์ได้ เมื่อครบกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่กรมสรรพากรนำส่งหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) ให้ทางไปรษณีย์แล้ว

Q4 : หากไม่สมัครพร้อมเพย์สามารถรับเงินคืนภาษีได้หรือไม่
A4 : หากมิได้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์ กรมสรรพากรจะนำส่งหนังสือแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) ให้ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ที่หน้าแบบฯ เพื่อนำไปขอรับเงินคืนได้ที่ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทุกสขา (เฉพาะรายผู้ขอคืนที่ใช้ที่อยู่ตามหน้าแบบที่ไม่มีสาขาของธนาคารกรุงไทยตั้งอยู่) พร้อมด้วยบัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือเอกสารหลักฐานซึ่งแสดงถึงฐานะของผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษี

Q5 : กรณีต้องการตรวจสอบว่ากรมสรรพากรนำเงินคืนภาษีเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ที่ธนาคารใด มีขั้นตอนในการตรวจสอบอย่างไร
A5 : ขั้นตอนการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่กรมสรรพากรนำเงินเข้าบัญชี มีดังนี้
1. เข้าเมนูสอบถามข้อมูลการคืนภาษีผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร กรอกชื่อ-นามสกุล (ไม่ต้องระบุ คำนำหน้าชื่อ) และเลขประจำตัวประชาชน กดปุ่ม สอบถาม ระบบแจ้งว่า “กรมสรรพากรได้นำเงินคืนภาษีเท่ากับจำนวนเงินที่ขอคืนภาษีเข้าบัญชีพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ....” คลิกที่ปุ่ม “สอบถามชื่อธนาคารที่นำเงินคืนภาษีเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารแบบพร้อมเพย์”
2. คลิกที่ข้อความ “ระบบสอบถามชื่อธนาคารที่นำเงินคืนภาษีเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารแบบพร้อมเพย์” และใส่หมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านเดียวกันกับการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งระบุ Laser ID หลังบัตรประจำตัวประชาชน คลิกปุ่ม ตกลง
3. ปรากฏหน้าจอตรวจสอบข้อมูลการขอคืนเงินภาษีกรมสรรพากรผ่านระบบพร้อมเพย์ คลิกยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ คลิกปุ่ม ตกลง
4. ระบบจะแสดงข้อมูลธนาคารตามที่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน

 

บทลงโทษ

Q1 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 เกินกำหนดจะเสียค่าปรับและเงินเพิ่มอย่างไร
A1 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 เกินกำหนดจะเสียค่าปรับและเงินเพิ่ม ดังนี้
1. เสียค่าปรับอาญา
กรณียื่นเกินกำหนดไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับขั้นต่ำ 100 บาท
กรณียื่นเกินกำหนดเกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับขั้นต่ำ 200 บาท
2. เสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ

Q2 : ค่าปรับอาญาสามารถจ่ายเป็นเช็คได้หรือไม่
A2 : ค่าปรับอาญาต้องชำระเป็นเงินสดเท่านั้น

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-01-2021