เมนูปิด

Clear Cut ชัดเจนกับการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.50

Q1 : กรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมิได้ประกอบกิจการแต่ยังไม่จดทะเบียนเลิกและยังไม่ได้ชำระบัญชี ห้างฯจะต้องดำเนินการทางภาษีหรือไม่
A1 : ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี จนกว่าจะจดทะเบียนเลิกห้างและเสร็จสิ้นการชำระบัญชี

 

Q2 : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ต้องระบุรายการที่ 1 ถึงรายการที่ 9 ในแบบ ภ.ง.ด.50 อย่างไร
A2 : การกรอกแบบ ภ.ง.ด.50 กรณีใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้กรอกรายละเอียดต่าง ๆ ในรายการที่ 1 ถึงรายการที่ 9 เป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ สามารถดูตัวอย่างการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50 กรณีที่ใช้เงินตราสกุลอื่นใช้ในการดำเนินงาน ได้จากวิธีการกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ภ.ง.ด.50 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th > บริการอิเล็กทรอนิกส์ > Download > แบบพิมพ์ > ภาษีเงินได้นิติบุคคล > ปี 2562

 

Q3 : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน กรณีชำระภาษีเพิ่มเติม คำนวณอย่างไร
A3 : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน กรณีชำระภาษีเพิ่มเติม ให้ใช้อัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายก่อนวันชำระภาษี

 

Q4 : สามารถค้นหาอัตราแลกเปลี่ยนได้จากที่ใด
A4 : สามารถค้นหาอัตราแลกเปลี่ยนได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th > สถิติ > สถิติตลาดการเงิน > อัตราแลกเปลี่ยนประจำวัน > อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (เลือกช่วงเวลา : เดือน ไตรมาส ปี)

 

Q5 : สถานภาพของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถเลือกมากกว่า 1 รายการได้หรือไม่
A5 : ให้ใส่เครื่องหมาย P หน้าข้อ (1) ถึง (6) เพียงข้อเดียว
ทั้งนี้ หากระบุสถานภาพ (6) ต้องเลือกประเภทกิจการในใบแนบสถานภาพของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลข้อใดข้อหนึ่งแล้วแต่กรณี ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ ที่สามารถระบุสถานภาพหน้าข้อ (1) ถึง (6) ได้ 2 สถานภาพ คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการทั้งที่มีรายได้จากการประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจและรายได้จากกิจการอื่น ให้ระบุสถานภาพบริษัทข้อใดข้อหนึ่งจาก (1) ถึง (5) ของแบบ ภ.ง.ด.50 แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งระบุสถานภาพ (6) จากนั้นให้ระบุสถานภาพบริษัทในใบแนบสถานภาพของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

 

Q6 : หากเป็นกิจการที่ไม่มีในรายการสถานภาพของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (1) ถึง (5) จะต้องแจ้งสถานภาพอย่างไร
A6 : ให้ใส่เครื่องหมาย P หน้าข้อ (6) และกรอกใบแนบสถานภาพของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ยื่นพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50

 

Q7 : ในกรณีที่ประกอบกิจการหลายประเภท ต้องระบุกิจการที่ประกอบในแบบ ภ.ง.ด.50 อย่างไร
A7 : ในกรณีที่ประกอบกิจการหลายประเภท ให้ระบุตามลำดับความสำคัญ 1. 2. และ 3. โดยถือรายได้การประกอบกิจการเป็นเกณฑ์

 

Q8 : การบันทึกข้อมูลเลขทะเบียนผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องกรอกข้อมูลอย่างไร
A8 : 1. กรณีเป็นเลขทะเบียนของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ให้กรอกตัวเลขทั้ง 8 ช่อง โดยเพิ่มเลข “0” ข้างหน้าเลขทะเบียนจนครบ 8 หลัก เช่น ทะเบียนเลขที่ 1234 ให้กรอก 00001234
2. กรณีเป็นเลขทะเบียนของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ให้กรอกตัวอักษรภาษาอังกฤษ “T” และ “A” และตามด้วยเลขทะเบียน เช่น ทะเบียนเลขที่ 000001 ให้กรอก TA000001
 

Q9 : การบันทึกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของสำนักงานสอบบัญชีในโปรแกรมบันทึกแบบ ภ.ง.ด. 50 หากเป็นกรณีที่ผู้สอบบัญชีเป็นผู้สอบบัญชีอิสระต้องบันทึกข้อมูลอย่างไร
A9 : การบันทึกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของสำนักงานสอบบัญชีในโปรแกรมบันทึกแบบ ภ.ง.ด.50 หากเป็นกรณีที่ผู้สอบบัญชีเป็นผู้สอบบัญชีอิสระไม่มีสำนักงานสอบบัญชี ให้บันทึกข้อมูลเลขประจำตัวบัตรประชาชนของผู้สอบบัญชีแทน

 

Q10 : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติม ต้องแนบงบการเงินด้วยหรือไม่
A10 : กรณีมีการปรับปรุงกำไรสุทธิทางภาษี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติม โดยไม่ต้องแนบงบการเงิน แต่หากเป็นกรณีมีการปรับปรุงรายการในงบการเงิน ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติม พร้อมแนบงบการเงิน และมีผู้สอบบัญชีลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินดังกล่าว ทั้งนี้ ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติม ให้กรอกรายการต่างๆ ด้วยตัวเลขที่ถูกต้อง และครบถ้วนทุกรายการ

 

Q11 : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติม ผู้สอบบัญชีต้องลงชื่อรับรองหรือไม่
A11 : ไม่ต้องลงชื่อรับรอง เพียงแจ้งชื่อผู้สอบบัญชีไว้ในแบบ ภ.ง.ด.50 เท่านั้น เว้นแต่มีการเปลี่ยนรายการ ในงบการเงิน จึงต้องให้ผู้สอบบัญชีลงชื่อรับรองใหม่ ทั้งนี้ ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติม ให้กรอกรายการต่างๆ ด้วยตัวเลขที่ถูกต้อง และครบถ้วนทุกรายการ

 

Q12 : กำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 คือเมื่อใด
A12 : กรณียื่นแบบกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา สามารถยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 หากยื่นแบบผ่านทางอินเทอร์เน็ต สามารถยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2563
ทั้งนี้ หากเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 กรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และกรณีนิติบุคลที่มีวันครบกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ ตรงกับวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ตออกไปอีก 8 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบฯ ตามที่กฎหมายกำหนด

 

Q13 : ยื่นงบการเงินที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ยังคงต้องยื่นต่อกรมสรรพากรอีกหรือไม่
A13 : หากผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ของกรมสรรพากร และนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ไม่ต้องยื่นงบการเงินต่อกรมสรรพากรอีก

 

Q14 : แบบ ภ.ง.ด.50 ยื่นต่างท้องที่ได้หรือไม่
A14 : การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีโดยทั่วไป ให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ซึ่งสำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นตั้งอยู่ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

Q15 : หากผู้มีอำนาจ (กรรมการ) หรือผู้ขอคืนเงินภาษี ไม่ได้อยู่ในไทยในระยะเวลาที่ขอคืนเงิน ผู้รับมอบอำนาจสามารถมาขอคืนเงินได้หรือไม่
A15 : ผู้รับมอบอำนาจสามารถขอคืนภาษีได้โดยผู้ขอคืนเงินภาษีต้องทำหนังสือมอบอำนาจ ทั้งนี้ หากกรณีดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจกันในต่างประเทศใบมอบอำนาจนั้นจะต้องรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย สถานทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุลไทย ซึ่งตั้งอยู่ ณ ประเทศอันเป็นที่อยู่ของผู้มอบอำนาจ

 

Q16 : กรมสรรพากรจะเริ่มคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านพร้อมเพย์เมื่อใด
A16 : กรมสรรพากรจะทยอยคืนภาษีให้กับนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการยื่นแบบของนิติบุคคลและการพิจารณาของกรมสรรพากร

 

Q17 : นิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
A17 : นิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. เป็นนิติบุคคลที่ได้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว
  2. เงินคืนภาษีไม่เกิน 99.99 ล้านบาท
  3. ไม่มีหนี้ภาษีอากรกับกรมสรรพากร
  4. ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล เช่น ควบกิจการ โอนกิจการ เป็นต้น
  5. ไม่อยู่ในการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายของกรมบังคับคดี เช่น ถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถูกฟ้องล้มละลาย เป็นต้น 
    สำหรับนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น กรมสรรพากรจะยังคืนเป็นเช็ค หรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร

 

Q18 : นิติบุคคลที่ต้องการรับคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ จะต้องทำอย่างไร
A18 : สมัครพร้อมเพย์นิติบุคคลด้วยการผูกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก กับบัญชีธนาคาร 1 บัญชี (ออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน) ของนิติบุคคลนั้น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และลงทะเบียนได้กับทุกธนาคารที่เปิดให้บริการ เมื่อลงทะเบียนพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว จะได้รับแจ้งผลการลงทะเบียนจากธนาคาร
ทั้งนี้ เอกสารและช่องทางการสมัครพร้อมเพย์ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ หรือ call center หรือเจ้าหน้าที่ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ (RM) ธนาคารที่ดูแลบริษัทของท่านได้

Q19 : ประโยชน์จากการรับคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านพร้อมเพย์
A19 : 1. รับคืนเงินภาษีผ่านเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ได้โดยตรง ไม่ต้องแจ้งเลขบัญชีธนาคาร
2. ไม่มีค่าใช้จ่าย
3. ไม่ต้องเดินทางไปยื่นเอกสาร/ทำธุรกรรมที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือขึ้นเช็คที่สาขาธนาคาร

 

Q20 : ใครมีหน้าที่ยื่นแบบรายงานประจำปีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ (Disclosure Form)
A20 : ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบรายงานประจำปีฯ ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีลักษณะของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ วรรคสอง
(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
(2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือ โดยทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่า โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด หรือ
(3) นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่งตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และ
2. มีรายได้ทั้งหมดที่ปรากฏตามงบการเงินในรอบระยะเวลาบัญชีที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ของผู้มีหน้าที่ยื่นแบบรายงานฯ ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
(หมายเหตุ: (1) การพิจารณาจำนวนการถือหุ้นนั้น ให้พิจารณาจากจานวนหุ้นทั้งหมดโดยไม่จำแนก
ประเภทของหุ้น
(2) การพิจารณาจำนวนการถือหุ้นทางอ้อมนั้น ให้พิจารณาตามสัดส่วนการถือหุ้น)

 

Q21 : หากยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้เสียภาษีต้องรับผิดชำระภาษีและค่าปรับอย่างไรบ้าง
A21 : กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เกินกำหนดเวลาต้องรับผิด
1. ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด
2. กรณีมีภาษีต้องชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ จนถึงวันที่ยื่นแบบฯ
และหากยื่นงบการเงินฯ เกินกำหนดเวลา ถือเป็นความผิดต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 

Q22 : ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบรายงานประจำปีฯ (Disclosure Form) หากไม่ยื่นภายในกำหนดเวลา ต้องรับผิดค่าปรับอย่างไรบ้าง
A22 : ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบรายงานประจำปีฯ (Disclosure Form) ไม่ยื่นรายงาน/เอกสาร ของนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หรือยื่นไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท

 

Q23 : ตัวอย่างการพิจารณาลักษณะของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
Q23 : สามารถดูคำอธิบายประกอบการกรอกแบบรายงานประจำปีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (Disclosure Form) ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th > อ้างอิง > กฎหมายออกใหม่ > 2563 > มีนาคม

จำนวนผู้เยี่ยมชม

Clear Cut ชัดเจนกับการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.50

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-01-2021