เมนูปิด

Clear Cut ชัดเจนกับประเด็นช้อปดีมีคืน ปีภาษี 2563

Q1 : ใบกำกับภาษีมีชื่อผู้ซื้อมากกว่า 1 คน เช่น นาย ก และ นาย ข ใช้สิทธิได้หรือไม่

A1 : ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องเป็นชื่อผู้มีเงินได้คนเดียว

 

Q2 : ที่อยู่ในใบกำกับภาษี ใช้ที่อยู่ที่ใด

A2 : ที่อยู่ตามที่สะดวก หากผู้มีเงินได้ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

Q3 : ชื่อ – ที่อยู่ ในใบกำกับภาษีผิด ใช้สิทธิได้หรือไม่

A3 : ได้ หากไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นบุคคลอื่นสามารถใช้สิทธิได้ แต่หากทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นบุคคลอื่นให้ผู้ออกใบกำกับขีดฆ่าและลงลายมือชื่อกำกับ หรือยกเลิกฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง

 

Q4 : ใบกำกับภาษี ออก ชื่อ-สกุล เป็นภาษาอังกฤษได้หรือไม่

A4 : ได้ หากใบกำกับภาษีมีรายละเอียดครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

 

Q5 : ใบรับ ออกชื่อ-สกุล เป็นภาษาอังกฤษได้หรือไม่

A5 : ไม่ได้ ชื่อผู้ขายต้องออกเป็นภาษาไทยเท่านั้น ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนชื่อผู้ซื้อจะระบุเป็นภาษาอังกฤษก็ได้

 

Q6 : กรณีได้ใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้ว ต่อมาได้รับใบลดหนี้ ต้องยื่นแบบเพิ่มเติมปรับปรุงการยื่นแบบ

ภ.ง.ด.90/91 หรือไม่

A6 : ต้องดำเนินการยื่นแบบเพิ่มเติม

 

Q7 : กรณีได้รับส่วนลดจากการซื้อสินค้า ระบุในใบกำกับภาษี เช่น ซื้อสินค้า 32,000 บาท ได้รับส่วนลด 3,000 บาท ยอดซื้อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 29,000 บาท สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ อย่างไร

A7 : ใช้สิทธิได้จากยอดหลังหักส่วนลด 29,000 บาท

 

Q8 : การจ่ายชำระเงิน กรณีใบกำกับชื่อนาย ก แต่ใช้บัตรเครดิต นาย ข จ่าย ได้สิทธิหรือไม่

A8 : ได้ เนื่องจากไม่ได้กำหนดวิธีการจ่ายชำระ

 

Q9 : ซื้อน้ำมันเครื่อง ได้สิทธิหรือไม่

A9 : ได้ เนื่องจากไม่ใช่น้ำมันเติมยานพาหนะในลักษณะของน้ำมันเชื้อเพลิง

 

Q10 : ค่าเติมเงิน Easy Pass เช่น เติมเงิน 2,000 บาท ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563 แต่ใช้บริการถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เหลือเงินอยู่ 200 บาท ได้สิทธิหรือไม่ อย่างไร

A10 : ได้สิทธิจำนวน 1,800 บาท หากพิสูจน์ได้ว่าจ่ายและใช้บริการในช่วงที่กำหนด และได้รับใบกำกับภาษี

ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

 

Q11 : ผ่อนชำระค่าซื้อสินค้า เช่น ซื้อสินค้าจำนวน 9,000 บาท ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 แบ่งจ่าย 3 งวด ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และ 30 มกราคม พ.ศ. 2564 ได้สิทธิหรือไม่

A11 : ได้สิทธิ จำนวน 6,000 บาท เนื่องจากซื้อและจ่ายชำระในช่วงเวลาที่กำหนด และได้รับใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

 

Q12 : สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ใบกำกับภาษีออกทั้งชื่อสามีและภริยา เช่น นาย ก และ นาง ข ใช้สิทธิได้หรือไม่

A12 : ไม่ได้ ใบกำกับต้องเป็นชื่อผู้มีเงินได้คนเดียว

 

Q13 : ใบกำกับภาษีที่มีการแก้ไข สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่

A13 : ได้ หากรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

 

Q14 : ต่างชาติอยู่ในไทยไม่ถึง 180 วัน มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้สิทธิได้หรือไม่

A14 : ได้ หากไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง และเข้าตามหลักเกณฑ์ครบถ้วน

 

Q15 : กรณีใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน จะได้รับสิทธิช้อปดีมีคืนหรือไม่

A15 : ได้ แต่หากใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งจะไม่สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้

 

Q16 : กรณีการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ตของเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ใช้สิทธิได้หรือไม่

A16 : ได้ เนื่องจากเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งมีการชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการภายในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด

 

Q17 : จ่ายค่าบริการเสริมสวยล่วงหน้า วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 6,000 บาท ได้รับใบกำกับภาษีแล้ว กำหนดเวลาการใช้บริการภายใน 6 เดือน ได้รับสิทธิหรือไม่

A17 : ไม่ได้รับสิทธิ หากเป็นกรณีการจ่ายค่าบริการในลักษณะที่ต้องมีการรับบริการต่อเนื่อง และการรับบริการดังกล่าวเสร็จสิ้นเกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

 

Q18 : จ่ายค่าบริการเสริมสวยล่วงหน้า วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 6,000 บาท ได้รับใบกำกับภาษีแล้ว หากมีการใช้บริการบางส่วนในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด จะได้รับสิทธิหรือไม่

A18 : ไม่ได้รับสิทธิทั้งจำนวน

 

Q19 : กรณีภริยา ยื่นแบบรวมกับสามี และสามีใช้สิทธิคนละครึ่ง ภริยาจะยื่นแบบรวมกับสามีได้หรือไม่

A19 : ได้ เนื่องจากสิทธิลดหย่อนเป็นสิทธิส่วนบุคคล ภริยาสามารถยื่นแบบรวมกับสามีได้ โดยสามีไม่สามารถใช้สิทธิแต่ภริยาสามารถใช้สิทธิได้

 

Q20 : เช่ารถยนต์ได้สิทธิหรือไม่

A20 : ได้ หากได้รับบริการและชำระในช่วงเวลาที่กำหนด

 

Q21 : จ่ายค่าโบรกเกอร์ ในการซื้อ-ขายหุ้น ที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ใช้สิทธิได้หรือไม่

A21 : ได้ เนื่องจากเป็นการจ่ายและใช้บริการในช่วงเวลาที่กำหนด

 

Q22 : ค่าบริการซื้อตั๋วเครื่องบินจากตัวแทน ในการเดินทางต่างประเทศใช้สิทธิได้หรือไม่

A22 : ไม่ได้ เนื่องจากต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการเพื่อใช้ในราชอาณาจักร

 

Q23 : ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 20,000 บาท วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563 วางมัดจำจำนวน 5,000 บาท และส่งมอบวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563 พร้อมจ่ายส่วนที่เหลือ

A23 : ไม่ได้รับสิทธิ

 

Q24 : กรณีการซื้อน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมพาหนะ หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงใช้หรือไม่

A24 : ใช่

 

Q25 : ซื้อรถสามล้อเครื่อง ใช้สิทธิได้หรือไม่

A25 : ไม่ได้ เนื่องจากการจ่ายค่าซื้อรถยนต์เป็นการจ่ายค่าซื้อสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 368 (พ.ศ. 2563)

 

Q26 : จักรยานไฟฟ้า คือจักรยานที่ใช้มอเตอร์เป็นกำลังในการขับเคลื่อน สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

A26 : ไม่ได้ เพราะจักรยานไฟฟ้าเป็นรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จึงเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 368 (พ.ศ. 2563)

 

Q27 : ค่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ หมายถึง รถ หรือจักรยานที่มีเครื่องยนต์ทุกประเภทใช่หรือไม่

A27 : ใช่

 

Q28 : ค่าซื้อเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ ใช้สิทธิได้หรือไม่

A28 : ไม่ได้ เนื่องจากไม่รวมถึงการจ่ายค่าซื้อเรือ

 

Q29 : นายภาษีได้รับใบกำกับเต็มรูปลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สำหรับค่าโทรศัพท์ระบุเป็นการใช้บริการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563 – 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นายภาษีสามารถนำค่าโทรศัพท์ดังกล่าวมาใช้สิทธิได้หรือไม่

A29 : ได้ เพราะได้ใช้ค่าบริการและจ่ายค่าบริการภายในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

 

Q30 : จ่ายค่าซื้อแชมเปญ สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

A30 : ไม่ได้ เนื่องจากแชมเปญอยู่ในกลุ่มของ สุรา เบียร์ และไวน์

 

Q31 : กรณีสามีมีเงินได้ฝ่ายเดียว แต่ได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อทั้งสามีและภริยา สามีสามารถนำมาใช้สิทธิได้หรือไม่

A31 : ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องเป็นชื่อผู้มีเงินได้คนเดียว

 

Q32 : วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563 โอนเงินค่าสมาชิกรายปีผ่านบัตรเครดิต และถูกเรียกเก็บค่าบริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต โดยบริษัทออกใบกับภาษีลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากเป็นวันที่บริษัทได้รับเงิน และในใบกำกับภาษีมีรายละเอียดแสดงการจ่ายชำระวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563 สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่

A32 : ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการชำระค่าบริการก่อนวันที่กฎหมายกำหนด และมีการรับบริการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด

 

Q33 : กรณีชาวต่างชาติ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ยังไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หากใบกำกับภาษีระบุเป็นเลขพาสปอร์ต สามารถนำมาใช้สิทธิได้หรือไม่

A33 : ได้ หากชาวต่างชาติไม่ใช่ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

Q34 : ผู้มีเงินได้ใช้โครงการเราเที่ยวด้วยกันเกี่ยวกับที่พักในวันที่ 4-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 แล้วรัฐบาลช่วยออก 40% โดยโอนเงินเข้า app เป๋าตัง เพื่อไปใช้ที่ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อไปใช้สิทธิรับประทานอาหารทางร้านคิดค่าอาหาร 1,000 บาท แต่ได้จ่ายเงินค่าอาหารเพียง 600 บาท และได้รับใบกำกับภาษีระบุจำนวนเงิน 1,000 บาท สามารถนำมาใช้ในโครงการช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

A34 : เงินที่รัฐช่วยออกให้ 40% เป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ได้รับ ดังนั้น เมื่อผู้มีเงินได้จ่ายค่าอาหาร 1,000 บาท และได้รับใบกำกับภาษีซื้อ 1,000 บาท จึงสามารถนำมาใช้ในโครงการช้อปดีมีคืนได้

 

Q35 : ใบกำกับภาษีสาระไม่ครบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีชื่อ-ที่อยู่ผู้ซื้อ ใช้ได้หรือไม่

A35 : ไม่ได้

 

Q36 : ซื้อสินค้า ใบกำกับภาษีลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 แต่ทำหาย ขอใบแทนใบกำกับภาษี ออกใบแทนฯ วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564 ใช้สิทธิได้หรือไม่

A36 : ได้ เนื่องจากเป็นการซื้อสินค้าในช่วงเวลาที่กำหนด

 

Q37 : ซื้อแพ็คเกจดูคอนเสิร์ตและมีที่พัก โดยมีการแยกรายละเอียดค่าบัตรและค่าที่พักออกจากกัน ระยะเวลาอยู่ในช่วงที่กฎหมายกำหนด สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ อย่างไร

A37 : ได้สิทธิเฉพาะค่าบัตรคอนเสิร์ต แต่ไม่ได้สิทธิค่าที่พัก

 

Q38 : พาสุนัขไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ ได้รับใบกำกับภาษี ในช่วงที่กฎหมายกำหนด ใช้สิทธิได้หรือไม่

A38 : ได้

 

Q39 : ซื้อโปรแกรม windows ได้รับใบกำกับภาษี ในช่วงที่กฎหมายกำหนด ใช้สิทธิได้หรือไม่

A39 : ได้ เนื่องจากเป็นการจ่ายค่าซื้อสินค้า

 

Q40 : ได้รับใบกำกับภาษีค่าไฟฟ้าระบุวันที่จ่ายเงิน 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สำหรับการใช้บริการตั้งแต่ วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 หากในใบกำกับภาษีระบุชื่อมิเตอร์เป็นนาย ก แต่ชื่อผู้จ่ายเงินเป็นนาย ข ดังนั้น นาย ข สามารถนำมาใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

A40 : ไม่ได้ เนื่องจากชื่อมิเตอร์ไม่ใช่ชื่อนาย ข แต่หากในใบกำกับภาษีระบุชื่อนาย ข เป็นผู้จ่ายเงินจริงและสามารถพิสูจน์ได้ว่า นาย ข เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจริง ก็สามารถใช้สิทธิได้

 

Q41 : ผู้มีเงินได้ใช้โครงการเราเที่ยวด้วยกันเมื่อเช็คอินที่พักแล้วได้รับคูปองเงินเข้า app เป๋าตังค์ 600 บาท เพื่อนำไปใช้สิทธิกับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อไปรับประทานอาหารมูลค่าอาหารทั้งสิ้น 1,500 บาท แต่จ่ายเงินเพียง 900 บาท เนื่องจากรัฐบาลช่วยออก 40% และได้รับใบกำกับภาษีซื้อ 1,500 บาท สามารถนำมาใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่อย่างไร

A41 : เงินที่รัฐช่วยออกให้ 40% เป็นเงินได้พีงประเมินที่ผู้มีเงินได้ได้รับ ดังนั้น เมื่อผู้มีเงินได้จ่ายค่าอาหาร 1,500 บาท และได้รับใบกำกับภาษีซื้อ 1,500 บาท จึงสามารถนำมาใช้ในโครงการช้อปดีมีคืนได้

 

Q42 : ซื้อหนังสือการ์ตูน สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

A42 : ได้ เนื่องจากหนังสือการ์ตูนถือเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร

 

Q43 : วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 มีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า จ่ายชำระด้วยบัตรเครดิต และมีการผ่อนชำระ 10 งวดกับบัตรเครดิต สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่

A43 : ได้ เนื่องจากเป็นการซื้อและจ่ายชำระในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด การผ่อนชำระเป็นการผ่อนกับบัตรเครดิต ถือว่าเป็นการจ่ายชำระทั้งจำนวนให้กับผู้ขาย

 

จำนวนผู้เยี่ยมชม

Clear Cut ชัดเจนกับประเด็นช้อปดีมีคืน

 

ปรับปรุงล่าสุด: 06-01-2022