เมนูปิด

 

กฎกระทรวง
ฉบับที่ 242 (พ.ศ. 2546)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้




                  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
                  ข้อ 1  ให้ยกเลิกความในข้อ 6 ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 237 (พ.ศ. 2545) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                        “ข้อ 6 ทวิ การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2546 อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุง โครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6
                        “สถาบันการเงิน” หมายความว่า
                              (1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
                              (2) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
                              (3) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
                              (4) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
                  ข้อ 2  ให้ยกเลิกความในข้อ 6 จัตวา แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 237 (พ.ศ. 2545) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                        “ข้อ 6 จัตวา การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ในส่วนของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 ทั้งนี้ เฉพาะการปลดหนี้ที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546
                        “สถาบันการเงิน” หมายความว่า
                              (1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
                              (2) ธนาคารออมสิน
                              (3) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
                              (4) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
                              (5) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
                              (6) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
                              “เจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และได้ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน
                              “ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินด้วย และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย”
                  ข้อ 3  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป

 

 

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2546

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอันส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน ทำให้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่นต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ได้กำหนดให้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่นที่เจรจาและตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับสถาบันการเงิน สามารถจำหน่ายหนี้สูญที่เกิดจากการปลดหนี้จากบัญชีลูกหนี้ได้ แต่โดยที่ในขณะนี้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว สมควรขยายระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือของเจ้าหนี้อื่นที่เจรจาและตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับสถาบันการเงินออกไปอีก สำหรับส่วนของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 120 ตอนที่ 2 ก วันที่ 6 มกราคม 2546)

 


หน้าจอหลักบริการสารสรรพากร : : หน้าจอหลัก ม.ค. 46 : : หน้าก่อน : : หน้าต่อไป

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-01-2003