เมนูปิด

กฎกระทรวง
ฉบับที่ 249 (พ.ศ. 2548)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
--------------------------------
      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

      ข้อ   1   ให้ยกเลิกความใน (21) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 167 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                        "(21) เงินได้ดังต่อไปนี้

                              (ก)  ดอกเบี้ยพันธบัตรหรือดอกเบี้ยหุ้นกู้

                              (ข)  ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน

                              (ค)  ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้

                              ทั้งนี้ เฉพาะพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และผู้มีเงินได้นั้นมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย"

      ข้อ   2   กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ให้ไว้ ณ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2548
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ  :-  เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยดำเนินมาตรการริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชียโดยการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ตลาดตราสารหนี้ของประเทศมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างแหล่งเงินทุนระยะยาวให้แก่ภาครัฐและเอกชนอันจะนำไปสู่ระบบการเงินที่มีดุลยภาพ ตลอดจนเป็นการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียและความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความแข็งแกร่ง ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการออกพันธบัตรและหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล และสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม สมควรยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากพันธบัตรและหุ้นกู้ในบางกรณี จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 122 ตอนที่ 8 ก วันที่ 24 มกราคม 2548)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-01-2005