เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
สภาพปัญหาและความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ปัญหา
โดยที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติได้กำหนดให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการรับชำระเงินภาษีเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ประกอบกับลักษณะในการทำธุรกรรมของภาคเอกชนในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโยลีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามข้อมูลเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรในปัจจุบันไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากร และเพื่อให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีอากร สมควรปรับปรุงวิธีการนำส่งเงินภาษีบางประเภทและการยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งกำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งให้บริการจ่ายเงินให้บุคคลอื่นตามคำสั่งหรือตราสารเป็นปกติธุระต้องนำส่งข้อมูลของบุคคลที่มีการทำธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากรเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร และปรับปรุงอัตราโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
หลักการอันเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนำส่งเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (เพิ่มเติมมาตรา 3 ปัณรส)
2. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรสามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (เพิ่มเติมมาตรา 3 โสฬส)
3. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้บริการจ่ายให้บุคคลอื่นตามคำสั่งหรือตราสารเป็นปกติธุระเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร (เพิ่มเติมมาตรา 3 สัตตรส)
4. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางปกครองสำหรับกรณีผู้มีหน้าที่นำส่งข้อมูลที่ไม่ดำเนินการตามที่กำหนด (เพิ่มเติมมาตรา 3 อัฏฐารส)
5. แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษสำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13)
ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2561