เมนูปิด

เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
(มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing))
(ร่าง พ.ร.บ. Transfer Pricing)

กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) (ร่าง พ.ร.บ. Transfer Pricing) เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีอากรด้วยการถ่ายโอนกำไรในระหว่างกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน โดยอาศัยการกำหนดราคาโอนสำหรับธุรกรรมภายในกลุ่มของตนซึ่งสามารถควบคุมกันได้และไม่อยู่ภายใต้กลไกของตลาด ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

หลักการและเหตุผลความจำเป็นของร่าง พ.ร.บ. Transfer Pricing

โดยที่ในปัจจุบันกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหลายรายที่มีความสัมพันธ์กันในด้านทุน การจัดการ และการควบคุม อาจมีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงินในการทำธุรกรรมระหว่างกันแตกต่างไปจากที่ควรกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระ เนื่องจากธุรกรรมระหว่างคู่สัญญาที่มีความสัมพันธ์กันนั้นสามารถควบคุมกันได้และไม่อยู่ภายใต้กลไกของตลาด จึงอาจถูกนำมาใช้เพื่อถ่ายโอนกำไรในระหว่างกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีอากรที่พึงต้องเสีย และมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจัดเก็บภาษีและสถานภาพทางการคลังของรัฐ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว สมควรกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันได้มีการกำหนดราคาโอนของธุรกรรมระหว่างกันแตกต่างไปจากที่ควรกำหนดหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (เพิ่มมาตรา 35 ตรี มาตรา 71 ทวิ และมาตรา 71 ตรี) จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. Transfer Pricing

1. ร่างมาตรา 71 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันมีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์และการเงินระหว่างกันแตกต่างไปจากที่ควรได้กำหนดหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ให้ได้รายได้ที่พึงได้รับและรายจ่ายที่พึงได้จ่ายหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระ โดยในการปรับปรุงดังกล่าวจะคำนึงถึงการขจัดภาระภาษีซ้อนให้แก่คู่สัญญาด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลและข้อตกลงตามสัญญาระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

2. ร่างมาตรา 71 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้มีคำนิยามของ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน” โดยให้หมายความว่า

(1) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด

(2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด หรือ

(3) นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคหนึ่งตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

3. ร่างมาตรา 71 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้มีอายุความการขอคืนภาษีไว้เฉพาะสำหรับกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ วรรคหนึ่ง โดยให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด หรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการปรับปรุงนั้นจากเจ้าพนักงานประเมินเป็นหนังสือ

4. ร่างมาตรา 71 ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และมีรายได้เกินกว่ารายได้ขั้นต่ำตามจำนวนที่จะกำหนดในกฎกระทรวง จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกำหนด และยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นรายการภายในกำหนดเวลาตามมมาตรา 69

ร่างมาตรา 71 ตรี วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายงานตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดี อาจแจ้งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันซึ่งมีรายได้เกินกว่ารายได้ขั้นต่ำตามจำนวนที่จะกำหนดในกฎกระทรวง ยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับวิเคราะห์การกำหนดราคาโอนของธุรกรรมระหว่างกันตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และผู้ได้รับแจ้งต้องปฏิบัติตามภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติได้ อธิบดีจะขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

5. ร่างมาตรา 35 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดโทษปรับอาญาสำหรับผู้ใดที่ไม่ยื่นรายงานหรือเอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา 71 ตรี หรือยื่นรายงานหรือเอกสารหรือหลักฐานโดยแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

ในการนี้ กรมสรรพากรจึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าวตามแบบฟอร์มการให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. Transfer Pricing ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2560

 

ปรับปรุงล่าสุด: 19-11-2020