เมนูปิด
Untitled Document

 

เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่..) พ.ศ. ....
เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐาน
ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)

 

               สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา

                   ปัจจุบันพัฒนาการทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการนำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ มีการจัดเก็บข้อมูลในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัล และวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ให้ขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง โดยสนับสนุนให้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปรับปรุงงานบริการภาครัฐ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้การเสียภาษีอากรมีความสอดคล้องกับรูปแบบ ทางธุรกิจในปัจจุบันและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเสียภาษีอากร

               ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานั้น

                   เพื่อปรับปรุงบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรให้รองรับจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีอากร และเพิ่มระบบทางเลือกในการหักนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตลอดจนเพิ่มช่องทางการชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์

               หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น

               1. กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรสามารถกกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้การยื่นรายการสามารถกระทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

               2. กำหนดผู้มีหน้าที่หักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งจ่ายเงินได้พึงประเมินไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีโดยวิธีการโอนเงินหรือวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกันซึ่งธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินหรือกฎหมายเฉพาะ หรือบุคคลอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงเปิดให้บริการ สามารถเลือกหักภาษีและนำส่งผ่านธนาคารหรือบุคคลอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงพร้อมการจ่ายเงินได้พึงประเมินนั้นได้

               3. กำหนดให้ธนาคารหรือบุคคลอื่นตามข้อ 2. มีหน้าที่รับเงินและให้ส่งกรมสรรพากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และกำหนดความรับผิดกรณีที่มิได้ส่งเงินตามกำหนดหรือส่งไม่ครบถ้วน ให้ธนาคารหรือบุคคลอื่นนั้นรับผิดเท่าจำนวนเงินภาษีที่ได้รับไว้หรือส่งไม่ครบถ้วนให้แก่กรมสรรพากร และเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ได้รับไว้หรือส่งไม่ครบถ้วน

               4. กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจยกเว้นการยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ซึ่งได้หักและนำส่งภาษีผ่านธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินหรือกฎหมายเฉพาะ หรือบุคคลอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงตาม ข้อ 2.

               5. กำหนดให้การจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ หรือใบรับสามารถจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

               6. กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรสามารถกำหนดให้ใบรับมีข้อความอื่นต้องจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 105 ทวิ

               7. กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรสามารถออกคำสั่งเรียกให้ผู้ครอบครองบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลอันจำเป็นอันเกี่ยวกับการเสียภาษีอากรของบุคคลใด ส่งมอบบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลนั้น ซึ่งจำเป็นต้องได้มาและจะเป็นประโยชน์อันจะทำให้การเสียภาษีอากรมีความถูกต้องเป็นธรรม และไม่อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 มาตรา 23 และมาตรา 88/4 เพื่อให้ได้มา นอกจากนี้ ในกรณีที่ข้อมูลดังกล่าวถูกเก็บในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเป็นข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ให้อธิบดีมีอำนาจตรวจสอบและเข้าถึง หรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้นได้

 



 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 11-09-2017