เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
(การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม)
(ร่าง พ.ร.บ. การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม)
สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา
ปัจจุบันภาระภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ต่ำกว่าการลงทุนในตลาดเงินและตราสารหนี้โดยตรง ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางภาษี
ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานั้น
การเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรเพื่อกำหนดจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เฉพาะรายได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากกองทุนรวมทั้งระบบ มีความจำเป็นเนื่องจากจะส่งผลให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีจากเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ได้อย่างเท่าเทียมกับการลงทุนโดยตรงในตราสารแสดงสิทธิในหนี้โดยไม่ผ่านกองทุนรวม
หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น
แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
1. เพิ่มเติมบทนิยาม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ให้รวมไปถึงกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2. ยกเลิกบทนิยามคำว่า กองทุนรวม ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
3. ยกเลิกมาตรา 42 (23) และ (24) แห่งประมวลรัษฎากร
4. แก้ไขมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ให้รวมถึงเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนรวม
5. เพิ่มเติมความในมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ให้รวมไปถึงผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
6. เพิ่มเติมบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เฉพาะรายได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นอัตราร้อยละ 15
ผลกระทบและความคุ้มค่า
1. ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย คือกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ตามร่างกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายนั้นโดยตรง และกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2. ผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่บุคคลดังกล่าว
ด้านเศรษฐกิจ
- เชิงบวก
กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มขึ้น
ผู้ได้รับผลกระทบเชิงบวก
รัฐบาล
- เชิงลบ
ก่อให้เกิดภาระภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นสำหรับกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหนี้และก่อให้เกิดภาระหน้าที่แก่ผู้จ่ายดอกเบี้ยให้กองทุนรวมที่จะต้องหักภาษีเงินได้นำส่งกรมสรรพากร
ผู้ได้รับผลกระทบเชิงลบ
กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหนี้และผู้จ่ายดอกเบี้ยให้กองทุนรวม
ด้านสังคม
- เชิงบวก
หากกฎหมายที่เสนอมีผลบังคับใช้จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมทางภาษีในการจัดเก็บภาษีเงินได้ระหว่างการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหนี้ผ่านกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนในตลาดเงินและตราสารหนี้โดยตรง ตามนโยบายของรัฐบาล
ผู้ได้รับผลกระทบเชิงบวก
ผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ที่ลงทุนในเงินฝากและตราสารแสดงสิทธิในหนี้โดยตรง
- เชิงลบ
ไม่มี เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษี จึงไม่ส่งผลเชิงลบแก่สังคม
สิทธิและเสรีภาพของบุคคลในเรื่องใดบ้างที่ต้องถูกจำกัด
ไม่มี
ประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับ
ประชาชนจะมีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นในเรื่องใด อย่างไร และเพียงใด หรือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากน้อยเพียงใด
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ฉบับนี้ ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีเงินได้ จึงส่งผลให้ประชาชนเสียภาษีเงินได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น
เศรษฐกิจหรือสังคมมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้เพียงใด
หากการจัดเก็บภาษีเงินได้มีความเป็นธรรม จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเต็มใจในการเสียภาษีเงินได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาษีเงินได้เป็นรายได้หลักของรัฐบาลที่จะต้องนำไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม
ความยุ่งยากที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามกฎหมาย
ไม่มีความยุ่งยาก เนื่องจาก การดำเนินการตามร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีการออกกฎหมายลำดับรองในภายหลังเพื่อให้ผู้จ่ายเงินได้เป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากร ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีระบบรองรับในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว เช่น สถาบันการเงิน จึงทำให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ
ความคุ้มค่าของภารกิจเมื่อคำนึงถึงงบประมาณที่ต้องใช้ ภาระหน้าที่ที่เกิดขึ้นกับประชาชนและการที่ประชาชนจะต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ
เมื่อเทียบความคุ้มค่าของภารกิจกับงบประมาณที่ต้องใช้แล้วพบว่า กองทุนรวมจะเกิดภาระหน้าที่ในการถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเมื่อพิจารณาประโยชน์ในส่วนของรายได้ภาครัฐคาดว่า รายได้ของรัฐจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 1,600-2,500 ล้านบาท