ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและ
รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
มีความปราถนาที่จะจัดทำความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้
ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
ขอบข่ายด้านบุคคล
ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย
1. ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ ที่ตั้งบังคับในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือในนามของส่วน ราชการ หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ
2. ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการเปลี่ยนมือสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้าง หรือเงินเดือนที่จ่ายโดยวิสาหกิจตลอดจน ภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุนให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้
3. ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความตกลงนี้จะใช้บังคับ ได้แก่
(ก) ในกรณีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ
- ภาษีกำไร
(ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีลาว")
(ข) ในกรณีประเทศไทย
- ภาษีเงินได้ และ
- ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
(ในความตกลงนี้เรียกว่า "ภาษีไทย")
4. ความตกลงนี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใด ๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญ ซึ่งหลังจากวันที่ลงนามในความตกลงนี้ จะได้ตั้งบังคับเพิ่มเติมจาก หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะ ได้แจ้งแก่กันและกัน เพื่อให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ
บทนิยามทั่วไป
1. เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
(ก) คำว่า "ส.ป.ป. ลาว" หมายถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์ หมายถึง อาณาเขตทั้งหมดของสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว รวมถึงน่านน้ำอาณาเขตและพื้นที่ใด ๆ ภายใต้น่านน้ำอาณาเขตซึ่งตาม กฎหมาย ส.ป.ป. ลาว ตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้ ส.ป.ป. ลาวมีอธิปไตย สำหรับการสำรวจและการใช้ทรัพยากรแห่งพื้นดินท้องน้ำและดินใต้ผิวดินและแหล่ง ทรัพยากรในพื้นน้ำที่ติดต่อกันนั้น
(ข) คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึงราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ใด ๆ ซึ่งประชิดกับ น่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยซึ่งตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้หรืออาจจะกำหนดไว้ภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเลและดินใต้พื้นดิน และทรัพยากรธรรมชาติของตนภายในพื้นที่นั้น ๆ ได้
(ค) คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง"หมายถึง ส.ป.ป. ลาว หรือประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด
(ง) คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลใดๆ ตลอดจนหน่วยใด ๆ ซึ่งถือเป็นหน่วยภาษีภายใต้กฎหมายภาษีที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง
(จ) คำว่า "บริษัท" หมายถึงนิติบุคคลใด ๆ หรือหน่วยใด ๆซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อ ความมุ่งประสงค์ในทางภาษี
(ฉ) คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หมายถึงวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง
และวิสาหกิจที่ดำเนิน การโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ
(ช) คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีลาวหรือภาษีไทยแล้วแต่บริบทจะกำหนด
(ซ) คำว่า "คนชาติ" หมายถึง
(1) บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง
(2) นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคมและหน่วยอื่นใดทั้งปวงที่มีสถานภาพของคนนั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง
(ฌ) คำว่า การจราจรระหว่างประเทศ หมายถึง การขนส่งใด ๆ โดยยานพาหนะทางน้ำ ทางอากาศยาน หรือทางยานพาหนะทางบกซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำ สัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นในกรณีที่ยานพาหนะทางน้ำ อากาศยานหรือยานพาหนะทางบกนั้นดำเนินการระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งเท่านั้น และ
(ญ) คำว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ในกรณีของ ส.ป.ป. ลาว หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงินหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ และในกรณีของประเทศไทย หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ
2. ในการใช้บังคับความตกลงนี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใด ๆ ที่มิได้นิยามไว้ในความตกลงนี้ให้มีความหมาย ซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้นเกี่ยวกับภาษีซึ่งความตกลงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ผู้มีถิ่นที่อยู่
1. เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งความตกลงนี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใด ๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นโดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานที่ก่อตั้งสถานจัดการใหญ่หรือโดยเกณฑ์อื่น ใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาาในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว ่
2. ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้
(ก) ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)
(ข) ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญได้หรือถ้าบุคคล ธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใดให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ใน รัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย
(ค) ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ
(ง) ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน
3. ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1บุคคลนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำ สัญญาทั้งสองให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นได้ก่อตั้งขึ้น
สถานประกอบการถาวร
1. เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึงสถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจ ใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
2. คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะรวมถึง
(ก) สถานจัดการ
(ข) สาขา
(ค) สำนักงาน
(ง) โรงงาน
(จ) โรงช่าง
(ฉ) เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าช เหมืองแร่ หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ
(ช) ที่ทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือไร่สวน
(ซ) คลังสินค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษา สินค้าสำหรับบุคคลอื่น
(ฌ) ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบหรือกิจกรรมตรวจ ควบคุมเกี่ยวกับโครงการนั้นในกรณีที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรมดำเนินการติดต่อเป็น ระยะเวลาอยู่เกินกว่า 6 เดือน
(ญ) การให้การบริการ รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด โดยผ่านทางลูกจ้างหรือบุคลากรอื่นทั้งนี้ กิจกรรมในลักษณะนั้นดำเนินติดต่อกัน สำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ในระยะเวลาสิบสองเดือน
3. แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ไม่ให้ถือว่ารวมถึง
(ก) การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดง หรือการส่งมอบสิ่งของหรือสินค้าซึ่ง เป็นของวิสาหกิจนั้น
(ข) การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดงหรือการส่งมอบ
(ค) การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ
(ง) การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้า หรือรวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น
(จ) การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา การให้ข้อสนเทศ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียม การหรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น
(ฉ) การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อดำเนินกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค (ก) ถึง (จ) โดยมีเงื่อนไขว่ากิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำซึ่งเป็นผลมาจากการรวมเข้ากันนี้ มีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือส่วนประกอบ
4. แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และวรรค 2 เมื่อบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5 กระทำการในนามของวิสาหกิจและมี และใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น ให้ถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐนั้นซึ่งบุคคลนั้นได้ประกอบ กิจการเพื่อวิสาหกิจดังกล่าวเว้นแต่กิจกรรมของบุคคลเช่นว่านั้นจะถูกจำกัดอยู่ในกิจกรรมที่กล่าวถึงในวรรค 3 หากได้กระทำ ผ่านสถานธุรกิจประจำจะไม่ทำให้สถานธุรกิจประจำเช่นว่านั้นเป็นสถานประกอบการถาวรภายใต้บทบัญญัติของวรรคนั้น
5. วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าวิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเช่นว่านั้นกระทำการอันเป็นปกติในธุรกิจของตน
6. ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัท ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งหรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น(ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวร หรือไม่ก็ตาม)มีเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง