ข้อ 26 วิธีการเพื่อความตกลงร่วมกัน 1. ในกรณีผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งพิจารณาเห็นว่า การกระทำของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดหรือทั้งสองรัฐมีผลหรือจะมีผลให้ตนเองต้องเสียภาษีอากรโดยไม่เป็นไปตามอนุสัญญานี้ บุคคลผู้นั้นอาจยื่นเรื่องราวของตนต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีถิ่นที่อยู่นั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีทางแก้ไขที่บัญญัติไว้ในกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญา คำร้องดังกล่าวต้องยื่นภายในสามปีนับจากที่ได้มีการแจ้งการกระทำครั้งแรกที่ก่อให้เกิดการเรียกเก็บภาษี อันไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้ 2. ถ้าข้อคัดด้านนั้น ปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่ามีเหตุผลสมควร และถ้าตนไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้เอง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพยายามแก้ไขกรณีนั้น โดยความตกลงร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรับผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพื่อการเว้นการเก็บภาษีอันไม่เป็นไปตามอนุสัญญานี้ 3. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะต้องพยายามแก้ไขข้อยุ่งยากหรือข้อสงสัยใด ๆ อันเกิดขึ้นเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้บังคับอนุสัญญานี้ โดยความตกลงร่วมกัน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจปรึกษาหารือกันเพื่อการขจัดการเก็บภาษีซ้อนในกรณีใด ๆ ที่มิได้บัญญัติไว้ในอนุสัญญานี้ด้วย 4. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอาจติดต่อกันโดยตรง เพื่อความมุ่งประสงค์ให้มีความตกลงกันตามความหมายแห่งวรรคก่อน ๆ นั้น ข้อ 27 การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ 1. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะแลกเปลี่ยนข้อสนเทศอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้หรือตามกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งเกี่ยวกับภาษีอากรที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ เท่าที่ภาษีอากรตามกฎหมายนั้นไม่ขัดกับอนุสัญญานี้ ข้อสนเทศใดที่ได้รับโดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะถือว่าเป็นความลับ เช่นเดียวกันกับข้อสนเทศที่ได้รับภายใต้กฎหมายภายในของรับนั้น และจะเปิดเผยได้เฉพาะกับบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ (รวมทั้งศาลและองค์การฝ่ายบริหาร) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประเมิน หรือการจัดเก็บ การบังคับ หรือการดำเนินคดี หรือการชี้ขาดอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ บุคคลหรือเจ้าหน้าที่เช่นว่านั้นจะใช้ข้อสนเทศนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์นั้นเท่านั้น บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าว อาจเปิดเผยข้อสนเทศในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลหรือในคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล 2. ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม มิให้แปลความหมายบทบัญญัติของวรรค 1 เป็นการตั้งข้อผูกพันให้รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดต้อง (ก) ดำเนินมาตรการทางการบริหาร โดยบิดเบือนไปจากกฎหมายและวิธีปฏิบัติทางการบริหารของรัฐ ผู้ทำสัญญารัฐนั้น หรือรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง (ข) ให้ข้อสนเทศอันมิอาจจัดหาได้ตามกฎหมาย หรือตามทางการบริหารโดยปกติของรัฐผู้ทำสัญญา รัฐนั้น หรือรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง (ค) ให้ข้อสนเทศ ซึ่งจะเปิดเผยความลับทางการค้า ธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิชาชีพ หรือกรรมวิธีทางการค้า หรือข้อสนเทศซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการขัดกับนโยบายสาธารณะ (ความ สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสาธารณชน) ข้อ 28 ผู้แทนทางการทูตและเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล ไม่มีความใดในอนุสัญญานี้จะมีผลกระทบกระเทือนต่อเอกสิทธิทางการรัษฏากรของผู้แทนทางการทูตหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล ตามหลักทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามบทบัญญัติแห่งความตกลงพิเศษทั้งหลาย ข้อ 29 การเริ่มใช้บังคับ 1. อนุสัญญานี้จะได้รับการสัตยาบัน และจะทำการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกันโดยเร็วที่สุด 2. อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกันแล้ว และบทบัญญัติของอนุสัญญาจะมีผลใช้บังคับ (ก) ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับจำนวนที่จ่ายหรือนำส่งใน หรือหลังจากวันแรกของ เดือนมกราคมถัดจากวันซึ่งมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร (ข) ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีอื่น ๆ ที่เก็บจากเงินได้สำหรับปีรัษฎากร หรือรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้น ในหรือ หลังจากวันแรกของเดือนมกราคมถัดจากวันซึ่งมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร ข้อ 30 การเลิกใช้ อนุสัญญานี้จะคงใช้บังคับตลอดไป แต่รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดอาจบอกเลิกอนุสัญญานี้ได้โดยแจ้งการบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษร ให้รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งทราบ โดยทางการฑูตในหรือก่อนวันที่ 30 มิถุนายน ของปีปฏิทินใด ๆ ที่เริ่มต้นภายหลังจากวันสิ้นสุดของระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับ ในกรณีเช่นนั้น อนุสัญญาเป็นอันเลิกมีผลใช้บังคับ (ก) ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย สำหรับจำนวนเงินที่จ่ายหรือนำส่งใน หรือหลังวันแรกของ เดือนมกราคมถัดจากวันที่มีการแจ้งการบอกเลิก (ข) ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีอื่น ๆ ที่เก็บจากเงินได้ สำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นใน หรือหลังวันแรกของเดือนมกราคม ถัดจากวันที่มีการแจ้งการบอกเลิก เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องได้ลงนาม ในอนุสัญญานี้ ทำคู่กัน ณ................. เมื่อวันที่ ................ ปีหนึ่งพันเก้าร้อย และ...................แห่งคริสตศักราช เป็นภาษาไทย ฮิบรู และ อังกฤษโดยทุกฉบับมีผลบังคับเท่าเทียมกัน เว้นแต่กรณีมีข้อสงสัย ให้ถือตัวบทฉบับภาษาอังกฤษเป็นเกณฑ์ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย | ในนามรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอล |
พิธีสาร ในการลงนามอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอล และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ได้ตกลงกันตามบทบัญญัติต่อไปนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญานี้ 1. ตามวรรค 3 และวรรค 4 ของข้อ 5 เป็นที่เข้าใจว่าการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการส่งมอบจะถือเป็นการสถานประกอบการถาวร ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นว่า ใช้ในประการสำคัญเพื่อเป็นที่จำหน่ายสินค้า 2. ตามวรรค 1, 2, 5, 6 และ 7 ของข้อ 7 เป็นที่เข้าใจว่า คำว่า กำไร หมายถึงเงินได้หรือกำไร 3. เป็นที่เข้าใจว่าในกรณีการชำระเงินสำหรับซอฟแวร์ (ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์) ที่รวมอยู่ในข้อ 12 การเก็บภาษีอากรนั้น จะกำหนดตามบทบัญญัติของวรรค 2 ของข้อ 12 อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ประเทศไทยได้ออกกฎหมายให้ซอฟแวร์ (ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์) ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสอง อาจหาหรือร่วมกันเพื่อกำหนดการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมในการชำระเงินค่าซอฟแวร์ 4. ตามอนุวรรค (ค) ของวรรค 1 ของข้อ 14 เป็นที่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอาจใช้วิธีตกลงร่วมกันเพื่อตกลงเพิ่มวงเงิน เพื่อคำนึงถึงผลกระทบของเงินเฟ้อเป็นคราวๆ ไป ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย | ในนามรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอล |
|