เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

 

 

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ

                มีความปราถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้

 

                ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

ข้อ 1
ขอบข่ายด้านบุคคล

                อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือทั้งสองรัฐ

 

ข้อ 2
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

1.             อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ ที่ตั้งบังคับในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือในนามขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการเปลี่ยนมือสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนที่จ่ายโดยวิสาหกิจ ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มของทุนให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในบังคับของอนุสัญญานี้ คือ

 

                (ก)          ในกรณีประเทศไทย

 

                               -              ภาษีเงินได้ และ

 

                               -              ภาษีเงินได้ปิโตเลียม

 

                              (ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า"ภาษีไทย")

 

                (ข)          ในกรณีประเทศบังคลาเทศ

 

                               -              ภาษีเงินได้

 

                              (ซึ่งต่อไปนี้ในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีบังคลาเทศ")

 

4.             สัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใด ๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญ ซึ่งหลังจากวันที่ลงนามในอนุสัญญานี้ จะได้ตั้งบังคับเพิ่มเติมจาก หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะได้แจ้งแก่กันและกัน เพื่อให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใด ๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐภายในระยะเวลาที่เหมาะสมภายหลังการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้น

 

 

ข้อ 3
บทนิยามทั่วไป

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                (ก)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ใด ๆ ซึ่งประชิดกับน่านน้ำ

                              อาณา เขตของราชอาณาจักรไทย ซึ่งตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนด

                              ไว้หรืออาจจะกำหนดไว้ภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับ

                              พื้นดินท้องทะเล และดินใต้พื้นดิน และทรัพยากรธรรมชาติของตนภายในพื้นที่นั้น ๆได้

 

                (ข)          คำว่า "บังกลาเทศ" หมายถึง อาณาเขตทั้งหมดของสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศรวมทั้งส่วน

                              ของพื้นดินท้องทะเลและดินใต้พื้นดินท้องทะเลที่ขอบเขตของพื้นที่นั้นตามกฎหมายระหว่าง

                              ประเทศกำหนดไว้หรืออาจจะกำหนดไว้ภายหลังในกฎหมายของบังคลาเทศให้เป็นพื้นที่ซึ่ง

                              บังคลาเทศอาจใช้สิทธิอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับการสำรวจและการใช้ทรัพยากรแห่งพื้นดิน

                              ท้องทะเล ดินใต้พื้นดินนั้น

 

                (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง ประเทศไทยหรือ

                              ประเทศบังคลาเทศแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ง)          คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลอื่นใด

 

                (จ)          คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคลใด ๆ หรือหน่วยใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อมุ่งประสงค์

                              ในทางภาษี

 

                (ฉ)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง"

                              หมายถึง วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่

                              ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                (ช)          คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีไทยหรือภาษีบังคลาเทศแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ซ)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                              (1)          บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                              (2)          นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนและสมาคมทั้งปวงที่ได้รับสถานภาพของตนเช่นว่านั้นตาม

                                            กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐ ผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                (ฌ)         คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึงการขนส่งใด ๆโดยทางเรือหรือทางอากาศยาน

                              ซึ่งดำเนิน การโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นในกรณีที่เรือหรืออากาศยานนั้น

                              ดำเนินการระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งเท่านั้น และ

 

                (ญ)         คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" ในกรณีของประเทศไทย หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

                              หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ และในกรณีของประเทศบังคลาเทศ หมายถึง คณะกรรมการ

                              สรรพากรแห่ง ชาติหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

2.             ใน การใช้บังคับอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใด ๆ ที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญานี้ให้มีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้น ซึ่งเกี่ยวกับภาษีที่อนุสัญญานี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4
ผู้มีถิ่นที่อยู่

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใด ๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นโดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ สถานที่ก่อตั้งสถานจัดการใหญ่ หรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

 

2.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

 

                (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร

                              ในทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทาง

                              เศรษฐกิจใกล้ชิด กว่า(ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญได้หรือถ้าบุคคลธรรมดา

                              นั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่

                              เป็นปกติวิสัย

 

                (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐ ให้

                              ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ

 

                (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้

                              มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลหนึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสอง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาที่จะให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้โดยวิธีการตกลงร่วมกัน

 

ข้อ 5
สถานประกอบการถาวร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะรวมถึง

 

                (ก)          สถานจัดการ

 

                (ข)          สาขา

 

                (ค)          สำนักงาน

 

                (ง)          โรงงาน

 

                (จ)          โรงช่าง

 

                (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองแร่ หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ

 

                (ช)          คลังสินค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้า

                              สำหรับบุคคลอื่น

 

                (ซ)          ที่ตั้งอาคารหรือโครงการก่อสร้างหรือโครงการติดตั้งมีสถานะเป็นสถานประกอบการถาวร หาก

                              มีระยะเวลาอยู่เกินกว่า 183 วัน

 

3              แม้จะมีบทบัญญัติก่อน ๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ไม่ให้ถือว่ารวมถึง

 

                (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา หรือการจัดแสดงสิ่งของ

                              หรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ใน

                              การเก็บรักษาหรือการจัดแสดง

 

                (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์

                              ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้า หรือรวบรวม

                              ข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา การให้ข้อสนเทศการวิจัย

                              ทางวิทยาศาสตร์หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วน

                              ประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น

 

                (ฉ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อดำเนินกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค (ก) ถึง (จ) โดยมี

                              เงื่อนไขว่า กิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำซึ่งเป็นผลมาจากการรวมเข้ากันนี้ มีลักษณะ

                              เป็นการเตรียมการหรือส่วนประกอบ

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และวรรค 2 เมื่อบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ใน บังคับของวรรค 5 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ให้ถือ ว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ถ้าบุคคลนั้น

 

                (ก)           มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจ

                              นั้นเว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่เฉพาะการซื้อสิ่งของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจ

                              นั้น

 

                (ข)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งมูลภัณฑ์ของ

                              สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น และดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือทำการส่งมอบของ

                              ในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

                (ค)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้จัดหาคำสั่งซื้ออย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกทั้งหมดหรือ

                              เกือบทั้งหมด เพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ

                              วิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             วิสาหกิจจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระถ้าบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตนและไม่เกี่ยวกับการจัดหาคำสั่งซื้อในความหมายของวรรค 4 (ค)

 

6.             ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐอีกรัฐหนึ่งหรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น(ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให่บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011