เมนูปิด

อนุสัญญา
ระหว่าง
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
และ
รัฐบาลแห่งรัฐบาห์เรน
เพื่อ
การเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

 

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งรัฐบาห์เรน

 

                มีความปรารถนาที่จะจัดทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

                ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่ตั้งบังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้ หรือจากองค์ประกอบของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจาก ผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือน ซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่าย ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน

 

3.             ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้จะใช้บังคับโดยเฉพาะ ได้แก่

 

                (ก)          ในกรณีประเทศไทย

                               (1)          ภาษีเงินได้ และ

                               (2)          ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

                                              (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

                (ข)          ในกรณีประเทศบาห์เรน

                               ภาษีใดๆที่เก็บจากเงินได้ หรือจากองค์ประกอบของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้
                                จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้าง
                               หรือเงินเดือน ซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่าย ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน
                               
                                (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีบาห์เรนี่")

 

4.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งใช้บังคับหลังจากวันที่ลงนามในอนุสัญญานี้ โดยตั้งบังคับเพิ่มเติมจาก หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่
ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแจ้งแก่กันและกันให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                (ก)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ทางทะเล
                                ซึ่งประชิด กับทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ซึ่งตามกฎหมายไทย
                                และตามกฎหมายระหว่างประเทศ กำหนดไว้หรืออาจจะกำหนดไว้ภายหลัง
                                ให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิในส่วน ที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเล
                                และดินใต้ผิวดิน และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ นั้น ๆ ได้

 

                (ข)          คำว่า "ประเทศบาห์เรน" หมายถึง อาณาเขตของรัฐบาห์เรน รวมถึงเกาะต่างๆ
                               ทะเลอาณาเขตไหล่ทวี เขตเศรษฐกิจพิเศษใดๆ หรือเขตใดๆ และอาณาเขต
                                อากาศ หรือ ทะเลอื่นๆ ซึ่งประเทศบาห์เรนมีอำนาจอธิปไตยหรือที่ซึ่งประเทศบาห์เรน
                                มีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

                (ค)          คำว่า " รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง ประเทศไทย
                               หรือประเทศบาห์เรนแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ง)          คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง บริษัทและคณะบุคคลใด ๆ
                                ตลอดจนหน่วยใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยภาษีภายใต้กฎหมายภาษีที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐ
                               ผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง

 

                (จ)         คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งตั้งขึ้นหรือได้รับการยอมรับ
                                ภายใต้กฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรืออีกรัฐหนึ่ง หรือที่ถือได้ว่าเป็นนิติบุคคล
                               เพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                (ฉ)          คำว่า " วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง"
                               หมายถึงวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และวิสาหกิจที่
                               ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                (ช)          คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีไทยหรือภาษีบาห์เรนี่แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ซ)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

                               (1)          ในกรณีของประเทศไทย

                                                 (กก)          บุคคลธรรมดาใดที่มีสัญชาติไทย และ

                                                 (ขข)          นิติบุคคลใดๆ ห้างหุ้นส่วน สมาคมหรือหน่วยอื่นใดที่ได้รับสถานภาพ
                                                                   ของตนเช่นว่านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศไทย

                               (2)          ในกรณีของประเทศบาห์เรน

                                                 (กก)          บุคคลธรรมดาใดที่มีสัญชาติบาห์เรนี่ภายใต้กฎหมายของประเทศบาห์เรน และ

                                                 (ขข)          บริษัท คณะบุคคล หรือหน่วยอื่นใดที่มีสภาพตามกฎหมายภายใต้กฎหมายของ
                                                                   ประเทศบาห์เรน

                (ฌ)          คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆโดยเรือเดินทะเลหรือ
                                อากาศยาน ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีเรือ
                                เดินทะเล หรืออากาศยานได้ดำเนินการระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญา
                                อีกรัฐหนึ่งเท่านั้น และ

                (ญ)          คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึง ในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการ
                                กระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย และในกรณีของประเทศบาห์เรน
                                หมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือผู้แทนที่
                                ได้รับมอบหมาย

 

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทกำหนดเป็นอื่น ให้มีความหมายตามที่คำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.            เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า " ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้น มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้น โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานที่ก่อตั้ง สถานจัดการใหญ่ หรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และให้รวมถึง รัฐนั้น และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐนั้นด้วย แต่คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

 

2.             ในกรณีที่โดยเหตุแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญา
ทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังนี้

 

                (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคลนั้น
                                มีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์
                                ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลธรรมดานั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ
                                หรือถ้าบุคคล นั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่
                                เฉพาะในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

                (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัย
                                ในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ

 

                (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐหรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ
                                เจ้าหน้าที่ผู้มี อำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะพยายามแก้ไขปัญหา
                                โดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่โดยเหตุแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่
ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้เงื่อนไข
ข้างต้นถ้าบุคคลดังกล่าวยังคงเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่สถานจัดการใหญ่ตั้งอยู่ ถ้าไม่สามารถกำหนดที่ตั้งของสถานจัดการใหญ่ได้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของทั้งสองรัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะให้รวมถึง

 

                (ก)          สถานจัดการ

 

                (ข)          สาขา

 

                (ค)          สำนักงาน

 

                (ง)          โรงงาน

 

                (จ)          โรงช่าง

 

                (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้นทรัพยากร
                                ธรรมชาติ หรือการดำเนินการอื่นใดซึ่งเกี่ยวข้องกับการสำรวจหรือการผลิตน้ำมันดิบ
                                หรือ ไฮโดรคาร์บอนตามธรรมชาติจากพื้นดินของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือในการ
                                กลั่นน้ำมันดิบหรือก๊าซในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งตามกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญา
                                ทั้งสองรัฐ ในกรณี ของประเทศบาห์เรน กฎหมายภายในที่อ้างถึงในที่นี้หมายถึงกฎอมิรี
                                ที่ 22/1979 และในกรณี ของประเทศไทยหมายถึงพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                (ช)          ที่ทำการเพาะปลูกหรือไร่สวนหรือสถานที่อื่นใดซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร
                                การป่าไม้ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

                (ซ)           คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษา
                                สินค้าสำหรับบุคคลอื่น

                (ฌ)         ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบ หรือกิจกรรมตรวจ
                                ควบคุมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการดังกล่าว ซึ่งที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรมเช่นว่านั้นดำรง
                                ติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน

                (ญ)         การให้บริการรวมทั้งบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง โดยผ่าน
                                ลูกจ้างหรือพนักงานอื่น ซึ่งกิจกรรมในลักษณะเช่นว่านั้นดำรงอยู่เพื่อโครงการเดียวกันหรือ
                                โครงการที่เกี่ยวเนื่องกันในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งในชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ
                                เวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลาสิบสองเดือนใด ๆ

 

3.             โดยไม่คำนึงถึงบทบัญญัติในวรรคก่อนๆของข้อนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ไม่ให้ถือว่า รวมถึง

 

                (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดง
                                สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์
                                ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดง

 

                (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์  
                                ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

                (ง)            การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้า หรือ
                                ในการรวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

                (จ)            การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา การให้ข้อสนเทศ
                                เพื่อการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการ
                                เตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น

 

4.             โดยไม่คำนึงถึงบทบัญญัติของวรรค 1 และ 2 ในกรณีที่บุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก
ถ้าบุคคลนั้น

 

                (ก)          มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของ
                                วิสาหกิจนั้น เว้นไว้แต่ว่า กิจกรรมต่าง ๆ ของบุคคลนั้น จำกัดอยู่แต่เพียงการซื้อสิ่งของ
                                หรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจ

 

                (ข)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้เก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าที่เป็นของวิสาหกิจนั้น
                                อยู่เป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก และดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือทำการส่งมอบ
                                ในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

                (ค)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้จัดหาคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดอยู่เป็นปกติวิสัย
                                ในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก เพื่อวิสาหกิจนั้นเองหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆ
                                ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าวิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำการอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม เมื่อกิจกรรมของตัวแทนดังกล่าวได้กระทำทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในนามของวิสาหกิจนั้น หรือในนามของวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น บุคคลเช่นว่านี้จะไม่ถือเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้

 

6.             ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ควบคุมหรือถูกควบคุม โดยบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่า จะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011