เมนูปิด

อนุสัญญา
ระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาร์เมเนีย
และ
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
เพื่อ
การเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

 

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาร์เมเนียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

 

               มีความปรารถนาที่จะจัดทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน   และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

               ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1
ขอบข่ายด้านบุคคล

               อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

1.            อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนที่ตั้งบังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.            ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้และจากทุนทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้  หรือของทุน  รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์  หรืออสังหาริมทรัพย์  ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนทั้งสิ้นซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่าย  ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุนให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

3.            ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้จะใช้บังคับโดยเฉพาะ ได้แก่

               ก)            ในกรณีอาร์เมเนีย

                               (1)            ภาษีกำไร

                               (2)            ภาษีเงินได้   และ

                               (3)            ภาษีทรัพย์สิน

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า “ภาษีอาร์เมเนี่ยน”)

 

               ข)            ในกรณีประเทศไทย

                               (1)            ภาษีเงินได้ และ

                               (2)            ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า “ภาษีไทย”)

               

4.            อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใดๆที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งใช้บังคับหลัง จากวันที่ลงนามในอนุสัญญานี้ โดยตั้งบังคับเพิ่มเติมจากหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองจะได้แจ้งแก่กันและกันในระยะเวลาที่สมควรเพื่อให้ทราบถึง ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ  ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

ข้อ 3
บทนิยามทั่วไป

1.            เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้  เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

               (ก)            คำว่า “ รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง”  และ “รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง”  หมายถึง อาร์เมเนีย

                                หรือประเทศไทยแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

               (ข)            คำว่า“อาร์เมเนีย”หมายถึงสาธารณรัฐอาร์เมเนียและเมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์

                                หมายถึงอาณาเขตรวมถึงน่านน้ำภายในซึ่งสาธารณรัฐอาร์เมเนียใช้อำนาจอธิปไตย

                                ครอบคลุมถึง และมีเขตอำนาจครอบคลุมถึงตามกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่าง

                                ประเทศ

 

               (ค)            คำว่า“ประเทศไทย”หมายถึงราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ทางทะเลซึ่งประชิดกับ

                                ทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยซึ่งตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายระหว่าง

                                ประเทศกำหนดไว้หรืออาจจะกำหนดไว้ภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้

                                สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดิน ท้องทะเล    และดินใต้พื้นดิน และทรัพยากรธรรมชาติใน

                                พื้นที่นั้น ๆ ได้

 

               (ง)            คำว่า “บุคคล” รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลใดๆ ตลอดจนหน่วยงานใดๆ

                                ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยภาษีภายใต้กฎหมายภาษีที่ใช้บังคับใน แต่ละรัฐผู้ทำสัญญา

 

               (จ)            คำว่า “บริษัท” หมายถึง  นิติบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ  ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคล เพื่อ

                                ความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

               (ฉ)            คำว่า “ วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง” และ “วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง”

                                หมายถึงวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่

                                ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

               (ช)            คำว่า “ภาษี” หมายถึง ภาษีไทยหรือภาษีอาร์เมเนี่ยนแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

               (ซ)            คำว่า “คนชาติ” หมายถึง

                               (1)            บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

                               (2)            นิติบุคคล  สมาคมหรือหน่วยอื่นใดที่ได้รับสถานภาพของตนเช่นนั้นตามกฎหมาย

                                                ที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

               (ฌ)            คำว่า  “การจราจรระหว่างประเทศ” หมายถึง การขนส่งใดๆโดยเรือเดินทะเล   เรือ     

                                อากาศยาน  ยานพาหนะทางบกหรือรถไฟ ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญา

                                รัฐหนึ่ง  ยกเว้นกรณีการขนส่งเช่นว่านั้นได้ดำเนินการระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญา

                                อีกรัฐหนึ่งเท่านั้น  และ

 

               (ญ)            คำว่า “เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ”  หมายถึง

                               (1)            ในกรณีของอาร์เมเนียรัฐมนตรีว่าการกระทรวงภาษี   หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

                               (2)            ในกรณีของประเทศไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับ

                                                มอบหมาย    

 

 2.            ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งคำใดๆที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญานี้เว้นแต่ บริบทกำหนดเป็นอื่นให้มีความหมายตามที่คำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีของรัฐนั้นในส่วน ของภาษีซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ 

 

 

ข้อ 4
ผู้มีถิ่นที่อยู่

1.            เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า “ ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง”หมายถึง บุคคลใดๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้น  โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา  ถิ่นที่อยู่ สถานที่ก่อตั้ง สถานจัดการใหญ่ หรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และให้รวมถึงรัฐนั้น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐนั้นด้วย แต่คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

 

2.            ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

               (ก)            ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เฉพาะในรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคล

                                นั้นมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เฉพาะในรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์

                                ทาง ส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

               (ข)            ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญหรือถ้าบุคคลธรรมดา

                                นั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เฉพาะในรัฐที่

                                บุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

               (ค)            ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้ง สองรัฐ

                                ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เฉพาะในรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ

 

               (ง)            ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐหรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐเจ้าหน้าที่ผู้มี

                                อำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.            ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นได้ก่อตั้งขึ้น

 

 

ข้อ 5
สถานประกอบการถาวร

1.            เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า “สถานประกอบการถาวร”  หมายถึง  สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.            คำว่า “สถานประกอบการถาวร” โดยเฉพาะรวมถึง

               (ก)            สถานจัดการ

               (ข)            สาขา

               (ค)            สำนักงาน

               (ง)            โรงงาน

               (จ)            โรงช่าง

               (ฉ)            เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้นทรัพยากร

                                ธรรมชาติ

               (ช)            คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้า

                                สำหรับบุคคลอื่น

 

3.            (ก)            ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบหรือกิจกรรม ตรวจ

                                ควบคุมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการดังกล่าว กรณีที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรมนั้นดำรงอยู่

                                ชั่วระยะเวลาหนึ่งเกินกว่า 6 (หก) เดือน          

 

               (ข)            การให้บริการรวมตลอดถึงการให้บริการปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

                                ผ่านลูกจ้างหรือพนักงานอื่นซึ่งกิจกรรมในลักษณะเช่นว่านั้นดำรงอยู่เพื่อโครงการเดียวกัน

                                หรือ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกันในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งในชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลาย

                                ระยะเวลารวมกัน เกินกว่า 6 (หก) เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือนใด ๆ

 

4.            แม้จะมีบทบัญญัติก่อนหน้าของข้อนี้อยู่ คำว่า “สถานประกอบการถาวร”  ไม่ให้ถือว่ารวมถึง

               ก)             การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดงสิ่ง

                                ของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

               ข)             การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ใน

                                การเก็บรักษาหรือการจัดแสดง

 

               ค)             การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์

                                ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

               ง)             การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของ หรือสินค้า หรือรวบรวม

                                ข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

               จ)             การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินการเพื่อกิจกรรมอื่นใด  ซึ่ง

                                มีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น

 

               ฉ)             การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อดำเนินกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค (ก) ถึง (จ) โดยมี

                                เงื่อนไขว่า กิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำ ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมเข้ากันนี้มี

                                ลักษณะ เป็นการเตรียมการหรือส่วนประกอบ

 

5.            แม้จะมีบทของวรรค 1, 2และ3 อยู่ บุคคลหนึ่งนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 7 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งจะถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรกถ้าบุคคลนั้น

               (ก)            มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนาม วิสาหกิจ

                                นั้น เว้นไว้แต่ว่า กิจกรรมต่างๆของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เพียงการซื้อสิ่งของหรือสินค้าเพื่อ

                                วิสาหกิจ

 

               (ข)            ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น  แต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกนั้น  ซึ่ง

                                มูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าที่เป็นของวิสาหกิจและดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือทำ

                                การส่งมอบในนามของวิสาหกิจนั้นเป็นประจำ  หรือ

 

               (ค)            ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้จัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐแรกนั้น ซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมด  หรือ

                                เกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเองหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความ

                                ควบคุม ของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

6.            แม้จะมีบทบัญญัติในวรรคก่อนๆ ของข้อบทนี้ วิสาหกิจประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง  เว้นแต่ที่ประกอบการรับประกันภัยต่อ จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง  ถ้าได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมในอาณาเขตของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น   หรือการรับประกันความเสี่ยงซึ่งมีอยู่ในรัฐนั้นกระทำโดยผ่านผู้แทนซึ่งมิใช่ตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ตามความหมายของวรรค 7 

 

7.            วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าวิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น  โดยผ่านทาง  นายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระโดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเช่นว่านั้นได้ กระทำการอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม เมื่อกิจกรรมของตัวแทนดังกล่าวได้กระทำทั้ง หมดหรือเกือบทั้งหมดในนามวิสาหกิจนั้น  หรือวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น บุคคลเช่นว่านี้จะไม่ถือเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็น อิสระตามความหมายของวรรคนี้

 

8.            ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือซึ่งถูกควบคุมโดยบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถาน ประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011