ลำดับที่ | คำถาม | คำตอบ |
1 | TA สามารถปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีได้เมื่อใด | TA สามารถปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี ได้ตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร และสามารถลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินได้ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป |
2 | ขอให้อธิบายเงื่อนไขห้างหุ้นส่วนขนาดเล็ก | ห้างหุ้นส่วนขนาดเล็ก หมายถึง ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 และรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท |
3 | TA ต่างกับ CPA อย่างไร | ท่านสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ เมนู ความรู้เกี่ยวกับผู้สอบบัญชีภาษีอากร หัวข้อ ความแตกต่างระหว่างผู้สอบบัญชีภาษีอากรและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต |
4 | CPA รับงานตรวจสอบและรับรองงบการเงินของห้างฯ ขนาดเล็ก จะต้องแสดงความเห็นในหน้ารายงานแบบใด | ต้องรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดในคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 122/2545ฯ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.147/2548ฯ ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2548 |
5 | ในกรณีเป็นทั้ง CPA และ TA มีสิทธิลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินได้กี่ราย | มีสิทธิลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินรวมกันได้ไม่เกิน 300 ราย / ปี ไม่ว่าจะลงลายมือชื่อในนาม CPA หรือ TA |
6 | กรณีลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินให้กับนิติบุคคลที่เลิกกิจการ และนิติบุคคลที่มิได้ประกอบกิจการจะต้องนับจำนวนรายดังกล่าวเป็นการปฏิบัติงาน 300 รายด้วยหรือไม่ | อยู่ในข่ายต้องนับเป็นการปฏิบัติงาน 300 รายด้วย และสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเมนู ข่าวสาร/กิจกรรม หัวข้อ หลักเกณฑ์การนับจำนวนรายในการตรวจสอบและรับรองบัญชี |
7 | กรณีที่เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) และต่อมาสอบได้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) จำเป็นต้องแจ้งกรมสรรพากร และขอรหัสผู้ใช้ (User ID) และ Password ใหม่ สำหรับการยื่นแบบแจ้งจำนวนและรายชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีลงลายมือชื่อ (บภ. 07/08) ในนามผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือไม่ | กรณีรับงานตรวจสอบและรับรองบัญชีในนามผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) ท่านสามารถใช้ User ID และ Password เหมือนเดิมได้ แต่หากรับงานตรวจสอบและรับรองบัญชีในนามผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ท่านต้องยื่นแบบคำขอทั่วไป (บภ. 03) ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อขอเพิ่มฐานข้อมูลผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พร้อมทั้งส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาหลักฐานการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมาทาง โทรสารหมายเลข 0-2619-8250 เมื่อเจ้าหน้าที่เพิ่มฐานข้อมูลผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว ท่านสามารถจะยื่นแบบแจ้งการรับงานตรวจสอบและรับรองบัญชีในนามผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ |
8 | ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนเลิกกิจการ จะให้ CPA หรือ TA เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี | ตามมาตรา 1255 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบลงสำคัญว่าถูกต้อง ดังนั้น บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดใหญ่ และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก ที่จดทะเบียนเลิกกิจการ ต้องให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบ |
9 | กรณีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรสอบขึ้นทะเบียนเป็น TA แล้ว สามารถลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินได้หรือไม่ | กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรไม่สามารถลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินได้ เนื่องจากเป็นข้อห้ามในการประพฤติปฏิบัติตนที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณตามคำสั่งกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรว่า “ห้ามข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดกรมสรรพากร รับทำและตรวจบัญชีให้แก่ร้านค้า” |
10 | การคิดค่าธรรมเนียมการสอบบัญชีภาษีอากรใช้หลักเกณฑ์อะไร | การกำหนดค่าธรรมเนียมการสอบบัญชีภาษีอากรเป็นเรื่องของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีที่จะต้องทำการตกลงกับลูกค้าโดยอาจพิจารณาจากปริมาณเอกสารใบสำคัญที่ต้องทำการตรวจหรือประเภทกิจการมีความซับซ้อนเพียงใด แต่ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีจะต้องไม่กำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนโดยถือเอาอัตราสูงต่ำตามยอดเงินรายได้หรือมูลค่าของสินทรัพย์ของกิจการที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี หรือมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเป็นเกณฑ์ |
11 | ค่าธรรมเนียมการสอบบัญชีของ TA เป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(6) ใช่หรือไม่ เพราะเหตุใด | ใช่ เพราะเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ |
12 | การยื่นเสียภาษีของรายได้ค่าตรวจสอบบัญชีในนาม “คณะบุคคล” สามารถปฏิบัติได้หรือไม่ | กรณีผู้สอบบัญชีร่วมกับผู้สอบบัญชีอื่นจัดตั้งเป็นคณะบุคคลเพื่อรับงานสอบบัญชีในนามคณะบุคคล ย่อมถือเป็นรายได้ของคณะบุคคล และเสียภาษีในนามคณะบุคคล แต่ถ้าผู้สอบบัญชีรับงานตรวจสอบในนามบุคคลธรรมดาต้องนำรายได้มายื่นแบบในนามบุคคลธรรมดา |
13 | จำนวนรายการที่จะทดสอบในแต่ละธุรกิจควรมีปริมาณเท่าใด ที่กรมสรรพากรพอใจและยอมรับ รวมทั้งผู้สอบบัญชีภาษีอากรพอใจ | จำนวนรายการที่จะทดสอบ กรมสรรพากรได้กำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากร โดยอย่างน้อยที่สุดควรมีจำนวน ดังนี้ 1. กรณีที่เป็นรายการบัญชีรับ – จ่าย บัญชีซื้อ – ขาย และเรื่องอื่น ๆ ที่มีรายการเป็นจำนวนมาก ให้เลือกรายการเพื่อตรวจสอบอย่างน้อย 20 รายการของแต่ละบัญชี 2. กรณีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ การขอข้อมูลธนาคาร ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องดำเนินการทุกรายการ 3. การยืนยันยอดเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ให้ยืนยันยอดเจ้าหนี้หรือลูกหนี้รวมมูลค่าหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด 4. การยืนยันการออกใบกำกับภาษี ให้ยืนยันการออกใบกำกับภาษีซื้อฉบับที่มีมูลค่าสูงสุด 20 ลำดับแรกของรายงานภาษีซื้อ และจะต้องไม่เป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการรายเดียวกัน 5. กรณีเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ ต้องสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือรวมมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าคงเหลือทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากจำนวนรายการของกิจการนั้น ๆ มีจำนวนรายการน้อย และมีสาระสำคัญค่อนข้างมาก ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องทำการตรวจสอบทุกรายการ |
14 | การทำงานตรวจสอบบัญชีจำเป็นต้องมีผู้ช่วยหรือไม่ | ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เช่น จำนวนราย ปริมาณงาน เวลาปฏิบัติงาน ความรู้ความสามารถของท่าน |
15 | การจัดทำงบการเงินของห้างหุ้นส่วนขนาดเล็ก ต้องทำงบเปรียบเทียบหรือไม่ | ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน ลงวันที่ 14 กันยายน 2545 ข้อ 5 ได้กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนต้องมีรายการย่อตามที่กำหนดในแบบที่ 1 ซึ่งไม่ต้องจัดทำงบเปรียบเทียบแต่อย่างใด |
16 | กรณีที่TA ได้ทำการตรวจสอบและลงลายมือชื่อในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้ว ต่อมาห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรให้ปรับปรุงรายการบางรายการทำให้กิจการต้องเสียภาษีเพิ่มเติม โดยไม่มีเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีจะต้องปฏิบัติอย่างไร | การปรับปรุงรายการที่ทำให้กิจการต้องเสียภาษีเพิ่มเติมนั้น กิจการต้องพิจารณาว่ารายการปรับปรุงแต่ละรายการกระทบต่องบการเงินหรือไม่ ถ้ากระทบต่องบการเงินต้องปรับบัญชีให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี พร้อมปรับปรุงรายการในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ด้วย แต่ถ้าไม่กระทบต่องบการเงินกิจการสามารถปรับปรุงรายการในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ได้ |
17 | ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีจงใจไม่ปฏิบัติตามแนวทางการตรวจสอบของกรมสรรพากร ทำให้เกิดข้อผิดพลาดอย่างเป็นสาระสำคัญจะมีความผิดและถูกลงโทษอย่างไร รวมทั้งจะกระทบกับใบอนุญาตผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือไม่ | กรณีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ต้องปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเกี่ยวกับการสอบบัญชีหรือประกาศขององค์กรวิชาชีพบัญชีที่กฎหมายกำหนดและแนวทางที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด กรณีทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดในเรื่องการปฏิบัติงานและรายงานเช่นเดียวกับผู้สอบบัญชีภาษีอากร ดังนั้น หากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากร ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี |
18 | หน้ารายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ข้อ 4 กำหนดให้ TA ต้องทำการตรวจสอบการปรับปรุงกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิทางบัญชี เป็นกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีอากร ถ้า TA ตรวจสอบแล้วพบว่าห้างหุ้นส่วน มีรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย TA ต้องอธิบายสิ่งที่ตรวจพบดังกล่าวในข้อ 4 ด้วยหรือไม่ | หากห้างฯ ได้ทำการปรับปรุงรายการดังกล่าวแล้ว ไม่ต้องอธิบายข้อยกเว้นในข้อ 4 เว้นแต่ได้แนะนำให้ห้างฯ ทำการแก้ไขปรับปรุง แต่ไม่ยอมปรับปรุง |
19 | กรณีที่ TA อธิบายข้อยกเว้นในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีว่า “ ไม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ตรวจนับสินค้าคงเหลือ และไม่สามารถใช้วิธีอื่นตรวจสอบให้เป็นที่พอใจได้” ลักษณะนี้ TA จำเป็นจะต้องหาวิธีการตรวจสอบอื่นอีกหรือไม่ในการตรวจสอบและการจัดทำกระดาษทำการ | หากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีไม่สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ตรวจนับสินค้าคงเหลือได้ ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีควรพิจารณาว่ามีวิธีการตรวจสอบอื่นตามที่มาตรฐานการสอบบัญชีกำหนดไว้หรือไม่ ที่จะทำให้ได้หลักฐานที่เพียงพอและเหมาะสมในเรื่องความมีอยู่จริงของสินค้าคงเหลือที่ทำให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีสรุปได้ว่าไม่ถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบ แต่หากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีสรุปได้ว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดย ผู้บริหารของนิติบุคคล ให้อธิบายข้อยกเว้นไว้ใน ข้อ 5 ในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี |
20 | ในกรณีรับงานเดือนเมษายนและพฤษภาคม ผู้สอบบัญชีภาษีอากรยังจำเป็นต้องขอยืนยันยอดธนาคารและตรวจนับเงินสดทุกห้างฯ หรือไม่ และหากได้รับหลักฐานการตอบกลับหลังจากวันที่ลงลายมือชื่อรับรองงบการเงิน จะถือเป็นข้อผิดพลาดในการทำงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากรหรือไม่ | เหตุแห่งระยะเวลาในการที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรรับงานเดือนเมษายน – พฤษภาคม มิใช่เป็นเหตุที่จะทำให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่กรมสรรพากรกำหนด เพียงแต่ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรอาจจะต้องมีข้อตกลงกับกิจการที่รับตรวจสอบว่าเมื่อกิจการแต่งตั้งให้ทำการตรวจสอบในเวลากระชั้นชิดเช่นนี้ จะทำให้การตรวจสอบไม่ทันภายในกำหนดเวลา ซึ่งจะทำให้การยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีพร้อมงบการเงินของกิจการล่าช้าไปด้วย ดังนั้น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรยังคงต้องมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่กรมสรรพากรกำหนดตามคู่มือการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากร โดยจะต้องใช้ดุลพินิจในเชิงวิชาชีพในการเลือกวิธีการตรวจสอบที่จะใช้ให้เหมาะสมแก่กรณี ซึ่งวิธีการตรวจสอบที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเลือกใช้ในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของแต่ละกิจการจะต้องรวมถึง การขอข้อมูลจากธนาคาร การขอยืนยันยอดลูกหนี้เจ้าหนี้ การขอยืนยันการออกใบกำกับภาษี การเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ และการตรวจสอบเอกสารสิทธิต่าง ๆ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องใช้วิธีการอื่นที่ให้ความเชื่อมั่นเช่นเดียวกัน และอยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้ จึงจะไม่ถือเป็นข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากร |
21 | กิจการไม่มีบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ตรวจสอบ และ TA ได้อธิบายข้อยกเว้นในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีว่า “ห้างฯ ไม่ได้นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ตรวจสอบ” TA ปฏิบัติ ถูกต้องหรือไม่ | กรณีห้างฯ ไม่มีเอกสารให้ทำการตรวจสอบ จึงไม่สามารถทำการตรวจสอบได้ว่าในการบันทึกบัญชี การจัดทำงบการเงิน และการเสียภาษีนั้นถูกต้อง ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีควรปฏิเสธไม่รับงานนั้นพร้อมแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงสาเหตุที่ไม่รับงานไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้จะมีหนังสือเตือนให้ลูกค้าส่งมอบเอกสารให้ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีก่อนก็ได้ เพื่อป้องกันมิให้ห้างฯ กล่าวหาว่าได้ละทิ้งการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีโดยไม่มีเหตุอันสมควร |
22 | กรณีที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรตรวจพบข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ และได้รายงานข้อยกเว้นไว้ในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีแล้ว แต่ห้างฯ ไม่นำส่งรายงานดังกล่าว กรมสรรพากรจะดำเนินการอย่างไร | หากพบว่าห้างฯ ไม่นำส่งรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี กรมสรรพากรจะติดตามและดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องในการเสียภาษีของนิติบุคคลต่อไป |
23 | กรณีกิจการมิได้จัดทำบัญชีแยกประเภท แต่ได้จัดทำรายละเอียดประกอบงบทดลองจะถือว่ามิได้จัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีหรือไม่ และควรแสดงความเห็นอย่างไร | บัญชีแยกประเภทถือเป็นชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ.2544 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2544 ดังนั้น การที่กิจการมิได้จัดทำบัญชีแยกประเภท ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีจะต้องรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีไว้ในข้อยกเว้นของข้อ 2 |
24 | กรณีตรวจสอบห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็กต้องตรวจยอดยกมาหรือไม่ | การปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีจะต้องทดสอบความถูกต้องของงบการเงิน ดังนั้น จึงต้องทำการตรวจสอบยอดยกมาด้วย และหากไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอื่นใดได้ก็ต้องรายงานการตรวจสอบไว้ในข้อยกเว้นของรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี |
25 | กรณีที่ถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต่องบการเงิน จะเขียนรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีอย่างไร | กรณีไม่สามารถปฏิบัติงานตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ขอบเขตถูกจำกัด) ทำให้ไม่สามารถได้ข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบ ในการรายงานควรอธิบายถึงรายการที่ตรวจสอบไม่ได้ จำนวนเงินที่เกี่ยวข้อง และสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบ โดยให้อธิบายไว้ในข้อยกเว้นของรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีในข้อที่เกี่ยวข้อง |
26 | ผู้สอบบัญชีที่รายงานผลการตรวจสอบและรับรองบัญชีไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดจะต้องรับผิดอย่างไร | ถือว่าผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.122/2545ฯ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.147/2548ฯ ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2548 อธิบดีกรมสรรพากรอาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี |
27 | หากห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็กบันทึกบัญชีโดยผ่านบัญชีเงินสดเป็นส่วนใหญ่ จะต้องถือเป็นข้อยกเว้น หรือไม่ ถ้าใช่จะต้องระบุไว้ในรายงานของผู้สอบบัญชีอย่างไร | ในกรณีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีการบันทึกบัญชีผ่านบัญชีเงินสดเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นการบันทึกบัญชี ถูกต้องเป็นจริงตามควรตรงตามสมุดบัญชี เอกสารประกอบการลงบัญชี และได้จัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีและวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่รับรองทั่วไป เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและเอกสารประกอบการลงบัญชีเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายการที่เกิดขึ้นจริง ถูกต้องเชื่อถือได้และเกี่ยวข้องกับกิจการ ไม่ต้องรายงานไว้ในข้อยกเว้นของรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี |