เมนูปิด

ข้อ 21

ครู

 

1.             ศาสตราจารย์หรือครู ซึ่งไปเยือนรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี เพื่อความมุ่งประสงค์ในการสอนหรือเพื่อการวิจัยในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น และก่อนหน้าที่จะเข้าไปอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญานั้นได้เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับค่าตอบแทนในการสอนหรือการวิจัยในรัฐแรกนั้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ผู้นั้นได้เดินทางเข้าไปในรัฐนั้นเป็นครั้งแรกเพื่อความมุ่งประสงค์ดังกล่าว

 

2.             ข้อนี้ให้มีผลบังคับกับเงินได้จากการวิจัยเพียงเฉพาะเมื่อการวิจัยนั้นได้ดำเนินการโดยศาสตราจารย์หรือครูเพื่อสาธารณประโยชน์ และมิได้เพื่อประโยชน์ของเอกชนหรือบุคคลอื่นใดเป็นสำคัญ

 

 

ข้อ 22

เอกสิทธิ์ทางการทูต และกงสุล

 

1.             ไม่มีความใดในอนุสัญญานี้มีผลกระทบกระเทือนต่อเอกสิทธิ์ทางการรัษฎากรของเจ้าหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุล ตามหลักทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามบทบัญญัติแห่งความตกลงพิเศษทั้งหลาย

 

2.             โดยไม่ต้องคำนึงถึงวรรค (1) ของข้อ 4 บุคคลธรรมดาใดผู้เป็นสมาชิกของคณะทูต คณะกงสุลหรือคณะทูตประจำของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือรัฐที่สามใดๆ ที่ตั้งอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง และเป็นผู้อยู่ในขอบข่ายของสนธิสัญญาเวียนนา จะไม่ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

 

ข้อ 23

การขจัดการเก็บภาษีซ้อน

 

1.             ในกรณีของสหราชอาณาจักรและภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการยอมให้ถือภาษีที่ต้องชำระในดินแดนนอกสหราชอาณาจักรเป็นเครดิตต่อภาษีสหราชอาณาจักร (ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ทั่วไปข้างล่างนี้

 

               (ก)          ภาษีไทยที่ต้องชำระภายใต้กฎหมายไทยและสอดคล้องกับอนุสัญญานี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยการหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจากกำไร เงินได้ หรือผลได้จากแหล่งในประเทศไทย (ในกรณีของเงินปันผลไม่รวมถึงภาษีที่ต้องชำระเนื่องจากกำไรที่จ่ายเป็นเงินปันผลนั้น) จะยอมให้ถือเป็นเครดิตต่อภาษีใดๆ ของสหราชอาณาจักร ซึ่งคำนวณโดยอาศัยกำไร เงินได้และผลได้เดียวกันกับที่ภาษีไทยได้คำนวณ

 

               (ข)          ในกรณีที่เงินปันผลจ่ายจากบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยให้กับบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักรซึ่งควบคุมโดยตรงหรือโดยทางอ้อมอย่างน้อยร้อยละ 25 ของสิทธิออกเสียงในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลนั้น เครดิตจะต้องนำเอาภาษีไทยที่ต้องชำระ (นอกเหนือจากภาษีไทยใดๆ ซึ่งอาจยอมให้ถือเป็นเครดิตแล้วตามบทบัญญัติแห่งอนุวรรค ก. ของวรรคนี้) โดยบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับกำไรที่จ่ายเงินปันผลนั้นมาพิจารณาด้วย

 

2.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งวรรค 1 ของข้อความนี้ คำว่า "ภาษีไทยที่ต้องชำระ" ให้ถือว่ารวมถึงจำนวนใดๆที่ควรจะต้องชำระเป็นภาษีไทยสำหรับปีใดๆ แต่ไม่ได้ชำระเพราะได้รับยกเว้นหรือลดภาษีเพื่อมุ่งเสริมพัฒนาการทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ การพาณิชย์ การอุตสาหกรรมหรือการอื่นในประเทศไทยสำหรับปีนั้นๆ หรือส่วนใดๆของปีนั้นตาม

 

               (ก)          มาตรา 31 และ 15 (3) (เพียงเฉพาะในขอบเขตที่จักไม่ได้มีการยกเว้นหรือการลดตามบทบัญญัติแห่งมาตราเหล่านี้ ถ้าหากมิได้มีการตราบทบัญญัติเช่นว่านั้นเป็นกฎหมาย) 33, 34, 35 (2) และ 35 (4) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนพุทธศักราช 2520 ตราบเท่าที่มาตราดังกล่าวยังใช้อยู่ และมิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขตั้งแต่วันลงนามในอนุสัญญานี้หรือได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพียงเล็กน้อยโดยมิได้มีผลกระทบต่อลักษณะทั่วไปของมาตราดังกล่าวหรือ

 

               (ข)          บทบัญญัติอื่นๆ ซึ่งอาจประกาศใช้ภายหลังเพื่อยกเว้นหรือลดภาษีซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองได้ตกลงยอมรับว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญ ถ้าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลังจากนั้นหรือได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพียงเล็กน้อยโดยมิได้มีผลกระทบต่อลักษณะทั่วไปของบทบัญญัติดังกล่าว โดยมีข้อแม้ว่าภาษีสหราชอาณาจักรจะไม่ได้รับการลดหย่อนตามวรรคนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้จากแหล่งใดๆ ถ้าเงินได้นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาซึ่งเริ่มต้นเกิน 10 ปี หลังจากได้มีการยอมให้ยกเว้นหรือลดภาษีไทยในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้เหล่านั้นเป็นครั้งแรก

 

3.             ในกรณีของประเทศไทย จำนวนภาษีสหราชอาณาจักรที่ต้องชำระโดยสอดคล้องกับบทบังคับของอนุสัญญานี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้จากแหล่งในสหราชอาณาจักรจะยอมให้เป็นเครดิตต่อภาษีไทยที่ต้องชำระในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้นั้น อย่างไรก็ตาม เครดิตจะต้องไม่เกินจำนวนภาษีไทยซึ่งได้คำนวณไว้ก่อนที่จะได้รับเครดิตซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับเงินได้นั้น

 

4.             เพื่อประโยชน์ของวรรค 1 และ 3 ของข้อนี้ กำไร เงินได้ หรือผลได้จากทุนอันเป็นของผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งซึ่งอาจเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งโดยสอดคล้องกับอนุสัญญานี้ให้ถือว่าเกิดขึ้นจากแหล่งในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

5.             ในกรณีที่กำไรที่วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งได้เสียภาษีให้แก่รัฐนั้นแล้วได้รวมอยู่ในยอดกำไรของวิสาหกิจของอีกรัฐหนึ่ง และยอดกำไรที่รวมนั้นจะบอกเป็นกำไรที่พึงเกิดขึ้นแก่วิสาหกิจในอีกรัฐหนึ่งถ้าเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดขึ้นระหว่างวิสาหกิจที่ไม่ขึ้นแก่กัน เพื่อประโยชน์ของข้อนี้จำนวนเงินที่ได้รวมไว้ในกำไรของวิสาหกิจทั้งสองจะต้องถือว่าเป็นเงินได้ของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรกที่เกิดขึ้นจากแหล่งในอีกรัฐหนึ่งและการลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของวรรค 1 หรือวรรค 3 ของข้อนี้

 

 

ข้อ 24

การไม่เลือกประติบัติ

 

1.             คนชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง จะต้องไม่ถูกบังคับในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งให้เสียภาษีอากรใดๆ หรือให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ หรือให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับการนั้น อันเป็นการนอกเหนือไปจาก หรือเป็นภาระหนักกว่าการเก็บภาษีอากร และข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งคนชาติของอีกรัฐหนึ่งนั้น ถูกหรืออาจถูกบังคับให้เสียหรือให้ปฏิบัติตามในสถานการณ์เดียวกัน

 

2.             ภาษีอากรเก็บจากสถานประกอบการถาวรซึ่งวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

3.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งซึ่งผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งคนเดียวหรือหลายคนเป็นเจ้าของหรือควบคุมทุนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมจะต้องไม่ถูกบังคับในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรกให้เสียภาษีอากรใดๆ หรือปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับการนั้น อันเป็นการนอกเหนือไปจากหรือเป็นภาระหนักกว่าภาษีอากรและข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งวิสาหกิจอื่นที่คล้ายคลึงกับของรัฐแรกนั้นถูกหรืออาจถูกบังคับให้เสียหรือให้ปฏิบัติตาม

 

4.             ไม่มีความใดในข้อนี้ที่จะแปลความเป็นการผูกพันรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดให้ต้องให้แก่ผู้ที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้นซึ่งค่าลดหย่อนส่วนบุคคล การลดหย่อนและการหักลดเพื่อความมุ่งประสงค์ทางภาษีซึ่งรัฐนั้นให้แก่ผู้ถิ่นที่ในรัฐของตน

 

5.             ในข้อนี้คำว่า "ภาษีอากร" หมายถึงภาษีทุกชนิดและทุกลักษณะ

 

 

ข้อ 25

วิธีการเพื่อความตกลงร่วมกัน

 

1.             ในกรณีผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งพิจารณาเห็นว่าการกระทำของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดหรือทั้งสองรัฐมีผลหรือจะมีผลให้ตนเองต้องเสียภาษีอากรโดยไม่เป็นไปตามอนุสัญญานี้ ผู้นั้นอาจยื่นเรื่องราวของตนต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีถิ่นที่อยู่ได้แม้จะมีทางแก้ไขดังที่กฎหมายแห่งชาติของรัฐเหล่านั้นบัญญัติไว้แล้วก็ตาม

 

2.             ถ้าข้อคัดค้านนั้นปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่ามีเหตุผลสมควรและถ้าตนไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้เอง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องพยายามแก้ไขกรณีนั้นโดยความตกลงร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพื่อเว้นการเก็บภาษีอันไม่เป็นไปตามอนุสัญญานี้

 

3.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะต้องพยายามแก้ไขโดยความตกลงร่วมกันซึ่งข้อยุ่งยากหรือข้อสงสัยใดๆ อันเกิดขึ้นเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้บังคับในอนุสัญญานี้

 

4.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐทั้งสองอาจติดต่อกันโดยตรง เพื่อความมุ่งประสงค์ให้มีความตกลงกันตามความหมายแห่งวรรคก่อนๆ นั้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011