เมนูปิด

ข้อ 11

เงินปันผล

 

1.            (ก)          เงินปันผลที่บริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักรจ่ายให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยอาจเก็บภาษีได้ในประเทศไทย

 

               (ข)          ในกรณีภายใต้วรรค (2) ของข้อนี้ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมีสิทธิที่จะได้รับเครดิตภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับเงินปันผลนั้น ภาษีอาจจะถูกเก็บในสหราชอาณาจักรและตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรจากผลรวมของจำนวนหรือมูลค่าของเงินปันผลและจำนวนเครดิตภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 15

 

               (ค)          นอกจากที่บัญญัติไว้ในอนุวรรค (ข) ของวรรคนี้ เงินปันผลที่จ่ายโดยบริษัทซึ่งมีที่อยู่ในสหราชอาณาจักรให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ซึ่งต้องเสียภาษีในประเทศไทยอันเนื่องจากเงินปันผลนั้น จะได้รับยกเว้นภาษีไม่ว่าประเภทใดในสหราชอาณาจักรที่เก็บจากเงินปันผล

 

2.             ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักร และต้องเสียภาษีจากเงินปันผลดังกล่าวในประเทศไทยพึงได้รับสิทธิในเครดิตภาษีเงินปันผลดังที่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักรได้รับหากเขาได้รับเงินปันผลเช่นนั้น และพึงมีสิทธิได้รับชำระส่วนเกินที่เครดิตภาษีมากกว่าจำนวนภาษีที่เขาต้องชำระให้กับสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามบทบัญญัติในวรรคนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่ผู้รับเงินปันผลเป็นบริษัทซึ่งโดยลำพัง หรือโดยร่วมกับบริษัทหนึ่งหรือหลายบริษัทควบคุมโดยตรงหรือโดยทางอ้อมอย่างน้อยร้อยละ 10 ของสิทธิออกเสียงในบริษัทที่จ่ายปันผล เพื่อการนี้ให้ถือว่าบริษัทสองบริษัทเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ถ้าบริษัทหนึ่งควบคุมอีกบริษัทหนึ่งโดยตรงหรือโดยทางอ้อมหรือทั้งสองบริษัทถูกควบคุมโดยบริษัทที่สามไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยทางอ้อม

 

3.             เงินปันผลซึ่งบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจ่ายให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักรอาจเก็บภาษีเงินได้ในสหราชอาณาจักร เงินปันผลนี้อาจเก็บภาษีในประเทศไทยด้วย แต่ในกรณีที่ผู้รับเงินปันผลต้องเสียภาษีที่เกี่ยวกับเงินปันผลให้แก่สหราชอาณาจักร ภาษีไทยจะต้องไม่เกิน

 

               (ก)          ร้อยละ 15 ของจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นถ้าบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลดำเนินกิจกรรมอุตสาหกรรมและผู้รับเงินปันผลเป็นบริษัทซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักรและเป็นผู้ควบคุมสิทธิการออกเสียงในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25

 

               (ข)          ร้อยละ 20 ของจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้น ถ้าบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลดำเนินกิจการอุตสาหกรรมหรือถ้าผู้รับเงินปันผลเป็นบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักร และเป็นผู้ควบคุมสิทธิการออกเสียงในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25

 

4.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของวรรค (3) ของข้อนี้ คำว่า "กิจการอุตสาหกรรม" หมายถึง

 

               (ก)          กิจการใดๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับ

 

                             (1)          การหัตถกรรม การประกอบ และการแปรรูป

 

                             (2)          การก่อสร้าง การวิศวกรรมโยธา และการต่อเรือ

 

                             (3)          เหมืองแร่ การสำรวจหาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

 

                             (4)          การผลิตไฟฟ้า พลังงานจากน้ำ แก๊ส หรือการส่งน้ำ หรือ

 

                             (5)          การเกษตร การป่าไม้ และการประมง และการทำไร่ ทำสวน

 

               (ข)          กิจการใดๆ ที่ดำเนินไปภายในขอบข่ายของกฎหมายของประเทศไทยเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนทางอุตสาหกรรม

 

               (ค)          กิจการใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยได้ประกาศให้ถือเป็น "กิจการอุตสาหกรรม"เพื่อความมุ่งประสงค์ของข้อนี้

 

5.             วรรคก่อนๆ ของข้อนี้ จะไม่กระทบกระเทือนต่อการเก็บภาษีจากบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับกำไรที่จ่ายปันผลนั้น

 

6.             บทบัญญัติของวรรค (1) และ (2) ของข้อนี้ หรือบทบัญญัติของวรรค (3) ของข้อนี้แล้วแต่กรณีมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากผู้รับเงินปันผลซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีสถานประกอบการถาวรอันเกี่ยวข้องในประการสำคัญกับการถือหุ้น หรือมีทุนอันเป็นเหตุแห่งการจ่ายเงินปันผลนั้นในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งซึ่งเป็นรัฐที่บริษัทผู้จ่ายปันผลตั้งอยู่ ในกรณีดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติของข้อ 8 บังคับ

 

7.             ในกรณีที่บริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งได้รับเงินกำไรหรือเงินได้จากรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง รัฐอีกรัฐหนึ่งนั้นจะต้องไม่ตั้งบังคับภาษีใดๆ จากเงินปันผลที่บริษัทจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งมิได้เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในอีกรัฐหนึ่งนั้นหรือกำหนดให้กำไรที่ยังมิได้แบ่งสรรของบริษัทนั้นต้องเสียภาษีกำไรที่ยังมิได้แบ่งสรรแม้ว่าเงินปันผลที่จ่ายหรือกำไรที่ยังมิได้แบ่งสรรนั้นประกอบขึ้นด้วยกำไรหรือเงินได้ที่เกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตาม

 

8.             คำว่า "เงินปันผล" ดังที่ใช้ในข้อนี้ หมายถึงเงินได้จากหุ้นหรือสิทธิอื่นๆซึ่งมีส่วนร่วมในการแบ่งปันกำไร อันมิใช่สิทธิเรียกร้องหนี้ และให้หมายถึงเงินได้จากสิทธิอื่นๆ ในบริษัทซึ่งได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับเงินได้จากหุ้นตามกฎหมายภาษีของรัฐซึ่งบริษัทที่ทำการแบ่งปันมีถิ่นที่อยู่ และให้รวมถึงรายการอื่นใดซึ่งถือได้ว่าเป็นการแบ่งเงินปันผลตามกฎหมายนั้น

 

 

ข้อ 12

ดอกเบี้ย

 

1.             ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและจ่ายให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งอาจเก็บภาษีได้ในรัฐอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

2.             ดอกเบี้ยนั้นอาจจะเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ที่ดอกเบี้ยเกิดขึ้นและเป็นไปตามกฎหมายของรัฐนั้น แต่ในกรณีที่ดอกเบี้ยได้จ่ายให้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว ภาษีที่จะเก็บในรัฐที่ดอกเบี้ยเกิดขึ้นจะต้องไม่เกิน

 

               (ก)          ร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยทั้งหมด ถ้าดอกเบี้ยนั้นได้รับมาโดยธนาคารหรือโดยสถาบันการเงินใดๆ (รวมทั้งบริษัทประกันภัย) ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในอีกรัฐหนึ่ง

 

               (ข)          ร้อยละ 25 ของจำนวนดอกเบี้ยทั้งหมดสำหรับกรณีอื่นๆ ทั้งปวง

 

3.             โดยไม่ต้องคำนึงถึงบทบัญญัติในวรรค 2 ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและจ่ายให้กับรัฐบาลของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ส่วนราชการ หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นธนาคารกลางของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นหรือหน่วยราชการใดๆ (นอกเหนือจากหน่วยราชการที่มีการร่วมทุน) ที่รัฐบาล ส่วนราชการ หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเจ้าของทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นภาษีในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอาจกำหนดโดยการตกลงร่วมกันว่ามีสถาบันอื่นใดของรัฐบาลที่จะอยู่ในบังคับของวรรคนี้ได้

 

4.             คำว่า "ดอกเบี้ย" ที่ใช้ในข้อนี้ หมายถึงเงินได้จากหลักทรัพย์รัฐบาลพันธบัตรหรือ หุ้นกู้ ไม่ว่าจะมีหลักประกันจำนองหรือไม่ และไม่ว่าจะมีสิทธิร่วมกันในผลกำไรหรือไม่ ตลอดจนสิทธิเรียกร้องหนี้ทุกชนิดรวมทั้งเงินได้อื่นๆ ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินได้จากการกู้ยืมเงินตามกฎหมายภาษีอากรของรัฐซึ่งเงินได้นั้นเกิดขึ้น

 

5.             บทบัญญัติในวรรค 1 และ 2 ของข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าหากผู้รับดอกเบี้ยซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งและสิทธิเรียกร้องหนี้ที่ก่อให้เกิดดอกเบี้ยนั้นเกี่ยวข้องในประการสำคัญกับสถานประกอบการถาวรนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ให้ใช้บทบัญญัติในข้อ 8 บังคับ

 

6.             ดอกเบี้ยจะถือว่าเกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งถ้าผู้จ่ายเป็นรัฐนั้นเอง ส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น อย่างไรก็ตามในกรณีบุคคลที่จ่ายดอกเบี้ยไม่ว่าจะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือไม่ก็ตาม มีอยู่ซึ่งสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งอันก่อให้เกิดหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยขึ้น ดอกเบี้ยเช่นว่านั้นให้ถือว่าเกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งสถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่

 

7.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งความสัมพันธ์พิเศษระหว่างผู้จ่ายและผู้รับดอกเบี้ยหรือระหว่างบุคคลทั้งสองนั้นกับบุคคลอื่นดอกเบี้ยที่จ่ายให้กันนั้น โดยเหตุผลใดๆ ก็ตามมีจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งควรจะได้จ่ายหากไม่มีความสัมพันธ์เช่นนั้นบทบัญญัติของข้อนี้ใช้บังคับเฉพาะแก่เงินจำนวนหลัง ในกรณีนั้นส่วนเกินของเงินที่ชำระนั้นให้คงเก็บภาษีได้ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงบทบัญญัติอื่นๆแห่งอนุสัญญานี้ด้วย

 

 

ข้อ 13

ค่าสิทธิ

 

1.             ค่าสิทธิที่เกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและจ่ายให้ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งอาจเก็บภาษีได้ในอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

2.             ค่าสิทธิเช่นว่านั้นอาจเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งค่าสิทธินั้นเกิดขึ้นและตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญานั้น แต่ในกรณีที่มีค่าสิทธินั้นจ่ายให้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐอีกรัฐหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอันเนื่องจากค่าสิทธินั้นให้แก่รัฐอีกรัฐหนึ่งนั้น ภาษีที่เรียกเก็บในรัฐที่ค่าสิทธิเกิดขึ้นจะต้องไม่เกิน

 

               (ก)          ร้อยละ 5 ของจำนวนค่าสิทธิทั้งสิ้น ถ้าค่าสิทธินั้นจ่ายเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์

 

               (ข)          ร้อยละ 15 ของจำนวนค่าสิทธิทั้งสิ้น ถ้าค่าสิทธินั้นจ่ายเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ซึ่งสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง ผัง สูตรลับหรือกรรมวิธีลับใดๆ หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือ ทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อการใช้หรือเพื่อสิทธิในการใช้ซึ่งฟิล์มภาพยนตร์ หรือฟิล์ม หรือเทปสำหรับการแพร่ทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์

 

3.             คำว่า "ค่าสิทธิ" ที่ใช้ในข้อนี้ หมายถึงการจ่ายไม่ว่าชนิดใดที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมศิลปะ หรือ วิทยาศาสตร์ (รวมทั้งฟิล์มภาพยนตร์ และฟิล์มหรือเทปสำหรับการแพร่ทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ด้วย) สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง ผัง สูตรลับหรือกรรมวิธีลับใดๆ หรือเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ซึ่งข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือ ทางวิทยาศาสตร์

 

4.             บทบัญญัติในวรรค 1 และวรรค 2 ของข้อนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่ผู้รับค่าสิทธิซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งที่ค่าสิทธินั้นเกิดขึ้นซึ่งสถานประกอบการถาวรอันเกี่ยวข้องในประการสำคัญกับสิทธิหรือทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดค่าสิทธินั้นในกรณีเช่นนี้ให้ใช้บทบัญญัติของข้อ 8 บังคับ

 

5.             ค่าสิทธิให้ถือว่าเกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง เมื่อผู้จ่ายเป็นรัฐผู้ทำสัญญานั้นเอง ส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น อย่างไรก็ตามในกรณีที่บุคคลผู้จ่ายค่าสิทธินั้นไม่ว่าจะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือไม่ก็ตามมีอยู่ ซึ่งสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งซึ่งพันธกรณีในการจ่ายค่าสิทธิได้เกิดขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการถาวรนั้น และค่าสิทธินั้นตกเป็นภาระแก่สถานประกอบการถาวรนั้น ค่าสิทธิเช่นว่านั้นให้ถือว่าเกิดขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่

 

6.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งความสัมพันธ์พิเศษระหว่างผู้จ่ายและผู้รับหรือระหว่างบุคคลทั้งสองนั้นกับบุคคลอื่น ค่าสิทธิที่จ่ายให้กันนั้น โดยเหตุผลใดๆ ก็ตาม มีจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินที่ควรจะจ่ายหากไม่มีความสัมพันธ์เช่นว่านั้น บทบัญญัติของข้อนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะเงินจำนวนหลัง ในกรณีนั้นส่วนเกินของเงินที่ชำระนั้นให้คงเก็บภาษีได้ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐทั้งนี้โดยคำนึงถึงบทบัญญัติอื่นๆ แห่งอนุสัญญานี้ด้วย

 

7.             บทบัญญัติของข้อนี้ให้ใช้บังคับด้วยกับผลได้จากการจำหน่ายสิทธิหรือทรัพย์สินใดที่ก่อให้เกิดค่าสิทธิเช่นว่านั้น ถ้าสิทธิหรือทรัพย์สินนั้นถูกจำหน่ายโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งเพื่อการใช้เฉพาะในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง และการจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิหรือทรัพย์สินนั้นตกเป็นภาระของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นหรือของสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

 

ข้อ 14

ผลได้จากทุน

 

1.             ผลได้จากทุนจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ตามที่นิยามไว้ในวรรค 2 ของข้อ 7 อาจเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งทรัพย์นั้นตั้งอยู่

 

2.             ผลได้จากทุนจากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์อันประกอบขึ้นเป็นส่วนของทรัพย์สินธุรกิจของสถานประกอบการถาวรซึ่งวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับฐานประกอบการประจำซึ่งผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ในการประกอบการบริการวิชาชีพรวมทั้งผลได้จากการจำหน่ายสถานประกอบการถาวร (โดยลำพังหรือรวมกับวิสาหกิจทั้งหมด) หรือฐานประกอบการประจำเช่นว่านั้น อาจเก็บภาษีได้ในรัฐอีกรัฐหนึ่ง

 

3.             โดยไม่ต้องคำนึงถึงบทบัญญัติของวรรค 2 ของข้อนี้ ผลได้จากทุนที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาได้รับจากการจำหน่ายเรือและอากาศยานที่ได้ดำเนินการในการจราจรระหว่างประเทศ และสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานทางเรือและอากาศยานจะเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นเท่านั้น

 

4.             ผลได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินใดๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในวรรค 1 และ 2 ของข้อนี้ ให้เก็บภาษีได้เฉพาะแต่ในรัฐซึ่งผู้จำหน่ายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่

 

5.             บทบัญญัติในวรรค 5 ของข้อนี้ จะไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งที่จะเก็บภาษีตามกฎหมายของตนจากผลได้จากทุนจากการจำหน่ายทรัพย์สินใดๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งและได้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรกในเวลาใดๆ ระหว่างระยะเวลา 5 ปี ก่อนหน้าการจำหน่ายทรัพย์สินนั้น

 

 

ข้อ 15

บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ

 

1.             ในกรณีที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งได้รับเงินได้รับเงินได้ในส่วนที่เกี่ยวกับบริการวิชาชีพ หรือกิจกรรมที่เป็นอิสระอื่นๆ อันมีลักษณะคล้ายคลึงกันจากรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ให้เก็บภาษีอีกรัฐหนึ่งนั้นได้เฉพาะส่วนของเงินได้ที่พึงถือได้ว่าเกิดจากการให้บริการนั้นในรัฐนั้นในการกำหนดเงินได้ที่พึงถือได้ว่าเกิดจากการให้บริการนั้นๆ จะต้องยอมให้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการเหล่านั้นรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริการและค่าใช้จ่ายทั่วไป ในจำนวนที่สมเหตุผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในรัฐที่มีการให้บริการนั้นหรือที่อื่น

 

2.             คำว่า "บริการวิชาชีพ" ให้รวมเป็นพิเศษถึงกิจกรรมอิสระด้านวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ การศึกษา และการสอน รวมทั้งกิจกรรมอิสระของแพทย์ ทนายความ วิศวกรรม สถาปนิก ทันตแพทย์ และนักบัญชี

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011