เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธ์รัฐสวิส

เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งประเทศไทย และคณะมนตรีแห่งสหพันธ์สวิส

 

                 มีความปรารถนาที่จะจัดทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้

 

                 ได้ตกลงกันดังนี้

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                 อนุสัญญาจะใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับภาษีเก็บจากเงินได้ที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหนึ่งหรือในนามของส่วนราชการหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่บังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้นหรือจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนทั้งสิ้นซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่ายตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน จะถือเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับโดยเฉพาะ ได้แก่

 

                 (ก)          ในกรณีของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ภาษีของรัฐบาลกลาง ภาษีของมณฑลและภาษีของท้องถิ่น ซึ่งเก็บจากเงินได้ (เงินได้ทั้งปวง เงินได้จากการจ้างแรงงาน เงินได้จากทุนกำไรจากอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ผลได้จากทุน และเงินได้รายการอื่น ๆ )

                               (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีสวิส")

 

                 (ข)          ในกรณีประเทศไทย

 

                               -         ภาษีเงินได้ และ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 

 

                               (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

4.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับภาษีใด ๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในประการสำคัญซึ่งบังคับจัดเก็บภายหลังจากวันที่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้เป็นการเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะแจ้งให้กันและกันทราบถึงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่สำคัญ ซึ่งมีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

                 (ก)          คำว่า "สวิสเซอร์แลนด์" หมายถึง สมาพันธรัฐสวิส

 

                 (ข)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ใด ๆ ซึ่งประชิดกับทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยซึ่งรวมถึงพื้นดิน ท้องทะเล และดินใต้ผิวดินที่ราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิเหนือพื้นที่นั้น ๆ ตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

                 (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง ประเทศไทย หรือประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                 (ง)          คำว่า "บุคคล" รวมถึง บุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลอื่นใด และในกรณีของประเทศไทย คำนี้จะครอบคลุมถึงองค์กรใด ๆ ซึ่งถือเป็นหน่วยที่พึงเสียภาษีด้วย

 

                 (จ)          คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคลใด ๆ หรือองค์กรใด ๆ ที่ถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                 (ฉ)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง วิสาหกิจ ที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                 (ช)          คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีไทยหรือภาษีสวิส ตามที่บริบทกำหนด

 

                 (ซ)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                                  (1)          บุคคลธรรมดาใด ๆ ซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                                  (2)          นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคม และหน่วยอื่นใดที่มีสถานภาพนั้น ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐ ผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                 (ฌ)         คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใด ๆ ทางเรือหรือทางอากาศยาน ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีการเดินเรือหรือเดินอากาศยานระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น และ

 

                 (ญ)         คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึง

 

                                  (1)          ในกรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดเก็บภาษีแห่งสหพันธ์ หรือผู้แทนที่ ได้รับมอบหมาย และ

 

                                  (2)          ในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

 

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใด ๆ ที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญานี้ให้มีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้น เกี่ยวกับภาษีซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่เสียภาษีในรัฐนั้น โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจดทะเบียน บริษัท สถานจัดการ หรือโดยเกณฑ์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใด ๆ ผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุผลเฉพาะ การมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

 

2.             โดยเหตุแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้กำหนดสภาพของบุคคลดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

                 (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งตนมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่ตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                 (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐอันเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญได้ หรือถ้าบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

                 (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั่งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่ตนเป็นคนชาติ

 

                 (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐหรือไม่เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาแก้ไขปัญหาโดยตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายความว่า สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะให้รวมถึง

 

                (ก)          สถานจัดการ

 

                 (ข)          สาขา

 

                 (ค)          สำนักงาน

 

                 (ง)          โรงงาน

 

                 (จ)          โรงช่าง

 

                 (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อแก๊ส เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นๆ ที่มีการขุดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

 

                 (ช)          ที่ทำการเพาะปลูกหรือไร่สวน

 

                 (ซ)          คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคล ซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสำหรับบุคคลอื่น

 

                 (ฌ)         ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบ หรือกิจกรรมตรวจควบคุมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการดังกล่าว เฉพาะกรณีที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรมนั้นดำรงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเกินกว่า 6 เดือน

 

                 (ญ)         การให้บริการรวมตลอดถึงการให้บริการปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐ ผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งผ่านลูกจ้างหรือพนักงานอื่น เฉพาะกรณีที่กิจกรรมเช่นว่านั้นดำรงอยู่เพื่อโครงการเดียวกัน หรือโครงการต่อเนื่องกันในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งในชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ภายใน 12 เดือนใด ๆ

 

3.             แม้จะมีบทบัญญัติในวรรคก่อน ๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" มิให้ถือว่ารวมถึง

 

                 (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา หรือการจัดแสดงสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

 

                 (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือจัดแสดง

 

                 (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการแปรรูปโดยวิสาหกิจอื่น

 

                 (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อหรือของสินค้า หรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศให้แก่วิสาหกิจนั้น

 

                 (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์แห่งการโฆษณาเพื่อจัดส่งข้อสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน อันมีลักษณะเป็นการเตรียมงานหรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และ 2 ในกรณีที่บุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 6 ได้กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก ถ้าบุคคลดังกล่าว

 

                 (ก)          มีการใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้นเว้นแต่ กิจกรรมต่าง ๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่เฉพาะแต่เพียงเพื่อการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                 (ข)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้เก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นอยู่ในรัฐแรกนั้นเป็นปกติวิสัย และดำเนินการสั่งซื้อหรือส่งมอบของในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

                 (ค)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่จัดหาคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในรัฐแรกนั้นอยู่เป็นปกติวิสัยเพื่อวิสาหกิจนั้นเองหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่น ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อน ๆ ของข้อนี้อยู่ วิสาหกิจประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นในกรณีของการรับประกันภัยต่อ จะถือว่า มีสถานประกอบการถาวรอยู่ในรัฐอีกรัฐหนึ่ง ถ้าวิสาหกิจนั้นเรียกเก็บเบี้ยประกันในอาณาเขตของรัฐอีกรัฐหนึ่งนั้น หรือประกันการเสี่ยงภัยที่มีอยู่ ณ ที่นั้น โดยผ่านทางลูกจ้างหรือตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระภายใต้ความหมายของวรรค 6

 

6.             วิสาหกิจจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐนั้นโดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ในกรณีที่บุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมี่ตัวแทนเช่นว่านั้นได้กระทำทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในนามวิสาหกิจนั้น หรือในนามของวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่น ซึ่งถูกควบคุมโดยวิสาหกิจนั้น หรือมีการควบคุม ผลประโยชน์ในวิสาหกิจนั้นจะไม่ถือว่าเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้

 

7.             ข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัท ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งหรือซึ่งประกอบธุรกิจในรัฐอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใด เป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011