เมนูปิด

                 อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
                          กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์
      เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร
                        ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐสิงคโปร์

 

                 มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

                 ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                 อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่ตั้งบังคับในนามของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐหรือในนามของส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้นหรือจากองค์ประกอบทั้งหลายของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการเปลี่ยนมือสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่ายให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ โดยเฉพาะได้แก่

 

                 (ก)          ในกรณีประเทศไทย

 

                                 (1)          ภาษีเงินได้

 

                                 (2)          ภาษีเงินได้จากปิโตรเลียม

 

                                                (ต่อไปนี้เรียกว่า "ภาษีไทย")

 

                 (ข)          ในกรณีสิงคโปร์

                                 (1)          ภาษีเงินได้

 

                                                 (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีสิงคโปร์")

 

4.             นอกจากนี้ให้ใช้อนุสัญญานี้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่เหมือนกันหรือในสาระสำคัญคล้ายคลึงกันซึ่งในเวลาต่อไปจะได้ตั้งบังคับเพิ่มเติมจากหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันเมื่อสิ้นปีแต่ละปี เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะได้แจ้งแก่กันและกัน เพื่อให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             ในอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                 (ก)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายความว่า ราชอาณาจักรไทยและพื้นที่ใดๆ ซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยซึ่งตามกฎหมายไทย และตามกฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดหรือต่อไปอาจกำหนดให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิเกี่ยวกับกันทะเลและดินใต้ผิวดินของทะเลและทรัพยากรธรรมชาติของตนภายในพื้นที่นั้นๆได้

 

                 (ข)          คำว่า "สิงคโปร์" หมายความว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์

 

                 (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายความว่าประเทศไทยหรือสิงคโปร์ ตามที่บริบทจะกำหนด

 

                 (ง)          คำว่า "ภาษี" หมายความว่าภาษีไทยหรือภาษีสิงคโปร์ตามที่บริบทจะกำหนด

 

                 (จ)          คำว่า "บุคคล" รวมทั้งบุคคลธรรมดา บริษัท และคณะบุคคลอื่นใดซึ่งถือว่าเป็นหน่วยหนึ่งเพื่อประโยชน์ในทางภาษี

 

                 (ฉ)          คำว่า "บริษัท" หมายความว่าหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อประโยชน์ในทางภาษีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดรวมทั้งกลุ่มหรือคณะบุคคลใดๆ ที่ถูกเก็บภาษีในสาระสำคัญทำนองเดียวกันกับนิติบุคคล

 

                 (ช)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายความตามลำดับว่า วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

                 (ญ)         คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ"

 

                                 (1)          ในกรณีประเทศไทย หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

                                 (2)          ในกรณีประเทศสิงคโปร์หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

2.             ในการใช้บังคับบทแห่งอนุสัญญาโดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้เป็นอย่างอื่น ให้มีความหมายที่คำนั้นๆ มีอยู่ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น เกี่ยวกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญา เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4

ภูมิลำเนาเพื่อการรัษฎากร

 

1.             เพื่อประโยชน์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายความว่า บุคคลใดๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นจำต้องเสียภาษีในรัฐนั้น โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจัดการหรือโดยหลักเกณฑ์อื่นใด ในทำนองเดียวกัน

 

2.             ในกรณีบุคคลธรรมดาเนื่องจากเหตุผลแห่งบทของวรรคหนึ่ง บุคคลธรรมดาคนใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้วินิจฉัยในกรณีตามกฎดังต่อไปนี้

 

                 (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดาผู้มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใด เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัว และทางเศรษฐกิจใกล้ชิดที่สุด (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                 (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาอันเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญของบุคคลธรรมดาได้ก็ดี หรือถ้าไม่มีที่อยู่ถาวรของบุคคลธรรมดาอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐก็ดี ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติ

 

                 (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดาที่มีที่อยู่เป็นปกติในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือไม่มีอยู่เลยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

 

                 (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐหรือมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทของวรรค 1 บุคคลใดนอกจากบุคคลธรรมดาเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาแก้ปัญหา โดยความตกลงร่วมกัน

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อประโยชน์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายความว่าสถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะให้รวมถึง

 

                 (ก)          สถานจัดการ

 

                 (ข)          สาขา

 

                 (ค)          สำนักงาน

 

                 (ง)          โรงงาน

 

                 (จ)          โรงช่าง

 

                 (ฉ)          คลังสินค้า

 

                 (ช)          ที่ทำการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ และไร่สวน

 

                 (ซ)          เหมืองแร่ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นๆ ที่ใช้ในการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

                 (ฌ)         บริเวณที่ตั้งอาคาร สิ่งปลูกสร้างโครงการติดตั้งหรือประกอบซึ่งมีอยู่เกินกว่าหกเดือน

 

3.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" มิให้ถือว่ารวมถึง

 

                 (ก)          การใช้เครื่องอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษา จัดแสดงหรือส่งมอบของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

 

                 (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษา จัดแสดงหรือส่งมอบ

 

                 (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น เพียงเพื่อประโยชน์ที่จะให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                 (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อประโยชน์ในการจัดซื้อของ หรือสินค้าหรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจ

 

                 (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อประโยชน์ในการโฆษณา การให้ข้อสนเทศ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือเพื่อกิจกรรมทำนองเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบของวิสาหกิจ

 

4.             บุคคลที่ทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง นอกจากนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5 ให้ถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของรัฐแรกแต่ต้องมีเงื่อนไขว่า

 

                 (ก)          บุคคลนั้นมี และใช้อำนาจในการเจรจาและทำสัญญาเพื่อหรือในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่ในรัฐแรกนั้นเป็นปกติ เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น หรือ

 

                 (ข)          บุคคลนั้นได้เก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นอยู่ในรัฐแรกนั้นเป็นปกติ และดำเนินการส่งมอบของหรือสินค้าจากมูลภัณฑ์นั้น เพื่อหรือในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

                 (ค)          บุคคลนั้นจัดหาคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในรัฐแรกนั้นอยู่เป็นปกติเพื่อวิสาหกิจนั้นเอง หรือเพื่อวิสาหกิจนั้น และวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพียงเพราะว่าได้ติดต่อธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นโดยผ่านนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำตามทางอันปกติแห่งธุรกิจของตนเพื่อความมุ่งประสงค์เช่นว่านี้ ไม่ให้ถือว่าตัวแทนผู้หนึ่งเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าตัวแทนผู้นั้นกระทำการในฐานะตัวแทนเฉพาะแต่ผู้เดียวหรือเกือบเฉพาะแต่ผู้เดียวเพื่อวิสาหกิจนั้น และดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่กำหนดไว้ในวรรค 4 ของข้อนี้

 

6.             เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011