เมนูปิด

ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
และรัฐบาลแห่งประเทศเนปาล
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

 

 

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศเนปาล

 

                มีความปรารถนาที่จะทำความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

                ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

ข้อ 1
ขอบข่ายด้านบุคคล

                ความตกลงนี้จะใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

1.             ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่บังคับจัดเก็บ ในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือในนามขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้ รวมทั้ง ภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายจ่ายโอนสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เรียกเก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนที่จ่ายโดยวิสาหกิจตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน ให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความตกลงนี้จะใช้บังคับ ได้แก่

 

                (ก)          ในกรณีประเทศไทย

 

                               (1)          ภาษีเงินได้ และ

 

                               (2)          ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

                (ข)          ในกรณีประเทศเนปาล

 

                                -             ภาษีเงินได้ที่จัดเก็บภายใต้กฎหมายภาษีเงินได้

 

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีเนปาล")

 

4.             ความตกลงนี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งใช้บังคับหลังจากวันที่ลงนามในความตกลงนี้ จะได้ตั้งบังคับเพิ่มเติมจาก หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะได้แจ้งแก่กันและกันเพื่อให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

ข้อ 3
บทนิยามทั่วไป

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                (ก)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทย

 

                (ข)          คำว่า "ประเทศเนปาล" หมายถึง ราชอาณาจักรเนปาล

 

                (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศไทยหรือ

                              ประเทศเนปาล แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ง)          คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลใดๆ ตลอดจนหน่วยใดๆ ซึ่ง

                             ถือว่าเป็นหน่วยภาษีภายใต้กฎหมายภาษีที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐ ผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง

 

                (จ)          คำว่า "บริษัท" หมายถึงนิติบุคคลใดๆ หรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคล เพื่อความ

                              มุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                (ฉ)          คำว่า " วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง"

                              หมายถึงวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่ดำเนิน

                              การโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญา อีกรัฐหนึ่ง ตามลำดับ

 

                (ช)          คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีไทยหรือภาษีเนปาลแล้วแต่บริบทจะกำหนดแต่จะไม่รวมถึง

                              จำนวนใดๆ ซึ่งได้จ่ายในส่วนที่ขาดไปหรือไม่ปฏิบัติใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีซึ่งความตกลง

                               มีผลใช้บังคับ หรือซึ่งแทนค่าปรับจัดเก็บ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีดังกล่าว

 

                (ซ)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                               (1)          บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                               (2)          นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคมหรือหน่วยใดๆที่ได้รับสถานภาพของตน

                                             เช่นนั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                (ฌ)          คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ ทางเรือ หรือ ทางอากาศยาน

                              ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีเรือ หรือ อากาศยาน นั้น

                               ดำเนินการระหว่างสถานที่ต่างๆในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น

 

                (ญ)          คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึงในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง

                               การคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในกรณีของประเทศเนปาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง

                               การคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

 

2.             ในการใช้บังคับความตกลงนี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในความตกลงนี้ให้มีความหมายตามที่คำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีของรัฐนั้น ซึ่งความ ตกลงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4
ผู้มีถิ่นที่อยู่

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งความตกลงนี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดๆภายใต้กฎหมายของประเทศนั้นที่มีหน้าที่เสียภาษีโดยเหตุผลแห่ง ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานที่ก่อตั้ง สถานจัดการหรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ดี คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้น

 

2.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของ รัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

 

                (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร

                              ในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทาง

                              เศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ) 

 

                (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญหรือถ้าบุคคลธรรมดานั้น

                             ไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่

                              เป็นปกติวิสัย

 

                (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐ ให้

                              ถือว่า เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ

 

                (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดานั้นเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐหรือไม่เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มี

                              อำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแก้ไขปัญหาโดยความตกลง ร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บริษัทใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะถือว่าบริษัทนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่บริษัทนั้นได้ก่อตั้งขึ้น หรือ ภายใต้กฎหมายที่ถือว่าบริษัทนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ ถ้าตามหลักเกณฑ์เช่นว่านี้ บริษัทนั้นยังคงเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะถือว่าบริษัทนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่บริษัทนั้นมีสถานจัดการใหญ่ตั้งอยู่ ถ้าไม่สามารถพิจารณากำหนดสถานจัดการใหญ่ได้ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความ ตกลงร่วมกัน

 

 

ข้อ 5
สถานประกอบการถาวร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะรวมถึง

 

                (ก)          สถานจัดการ

 

                (ข)          สาขา

 

                (ค)          สำนักงาน

 

                (ง)          โรงงาน

 

                (จ)          โรงช่าง

 

                (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้น ทรัพยากร

                              ธรรมชาติ

 

                (ช)          ที่ทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือไร่สวน และ

 

                (ซ)          คลังสินค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษา สินค้าสำหรับ

                              บุคคลอื่น

 

                (ฌ)          ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการประกอบหรือติดตั้ง หรือกิจกรรมตรวจควบคุมเกี่ยวกับ

                               โครงการนั้น ในกรณีที่ตั้งอาคาร โครงการหรือกิจกรรมนั้นดำเนินการติดต่อกันเป็นระยะเวลาเดียว

                               เกินกว่า 183 วัน

                (ญ)          การให้การบริการ รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดโดย

                               ผ่านทางลูกจ้างหรือบุคลากรอื่น ทั้งนี้ กิจกรรมในลักษณะนั้นดำเนินติดต่อกัน สำหรับโครงการ

                               เดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องภายในรัฐผู้ทำสัญญา อีกรัฐหนึ่งเป็นระยะเวลาเดียวหรือหลาย

                               ระยะเวลารวมกันเกินกว่า 183 วัน ใน ระยะเวลาสิบสองเดือน

 

3.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ไม่ให้ถือว่ารวมถึง

 

                ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดงสิ่งของ

                             หรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

                ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการ

                             เก็บรักษาหรือการจัดแสดง 

 

                ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้

                             วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                ง)          การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของ หรือสินค้า หรือรวบรวมข้อ

                             สนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์เพื่อกิจกรรมซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการ

                             หรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และวรรค 2 เมื่อบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 6 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของ วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ให้ถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกเมื่อบุคคลนั้นได้กระทำการใดๆแทนวิสาหกิจนั้น ถ้า บุคคลดังกล่าว

 

                (ก)          มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของ

                              วิสาหกิจ เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆของบุคคลนั้นจำกัดอยู่เฉพาะการซื้อสิ่งของหรือสินค้า

                              เพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งมูลภัณฑ์ของ

                               สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น ซึ่งบุคคลนั้นดำเนินการส่งมอบสิ่งของหรือสินค้าในนาม

                               ของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ

 

                (ค)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้จัดหาคำสั่งซื้ออย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกทั้งหมดหรือ

                               เกือบทั้งหมด เพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจนั้น และวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ

                               วิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             แม้จะมีบทบัญญัติในวรรคก่อนๆ ของข้อบทนี้ วิสาหกิจประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง เว้นแต่ที่ประกอบการรับประกันภัยต่อ จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ถ้าได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมในอาณาเขตของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น หรือการรับประกันความเสี่ยงเช่นว่านั้น กระทำโดยผ่านบุคคลซึ่งมิใช่ตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามที่บัญญัติไว้ในวรรค 6

 

6.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าวิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่า \ บุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำการอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม เมื่อกิจกรรมของตัวแทนดังกล่าวได้กระทำทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในนามวิสาหกิจนั้นหรือกระทำในนามวิสาหกิจนั้นหรือวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น บุคคลเช่นว่านี้จะไม่ถือเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ตามความหมายของวรรคนี้

 

7.             ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือซึ่งถูกควบคุม โดยบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011