เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

กับรัฐบาลแห่งประเทศลักเซมเบอร์ก

เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งประเทศลักเซมเบอร์ก

 

                 มีความปราถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

                 ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                 อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือในนามขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐนั้น โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่บังคับจัดเก็บจากเงินได้และจากทุน ภาษีทั้งปวงที่จัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น จากทุนทั้งสิ้นหรือจากองค์ประกอบทั้งหลายของเงินได้หรือของทุน รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่ายให้ ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน ให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ ได้แก่

 

                 (ก)          ในกรณีประเทศไทย

 

                 -              ภาษีเงินได้ และ

 

                 -              ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                 (ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

                 (ข)          ในกรณีประเทศลักเซมเบอร์ก

 

                 -              ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ( I impot sur le revenu des personnes physiqes)

 

                 -              ภาษีเงินได้ของนิติบุคคล ( I impot sur le revenu des collectiviet)

 

                 -              ภาษีเรียกเก็บจากค่าป่วยการของกรรมการของบริษัท ( I impot special  sur le  tantiemes)

 

                 -              ภาษีเงินทุน( I impot sur le fortune)

 

                 -              ภาษีการค้าแห่งชุมชน (l impot commercial commual)

 

4.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญ ซึ่งบังคับจัดเก็บภายหลังจากวันที่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้ เป็นการเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะได้แจ้งให้แก่กันและกันทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                 (ก)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทย และรวมถึงพื้นที่ใดซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ซึ่งตกอยู่ภายใต้สิทธิของราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ

 

                 (ข)          คำว่า "ประเทศลักเซมเบอร์ก " หมายถึง อาณาเขตของประเทศลักเซมเบอร์ก

 

                 (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง " และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศไทยหรือประเทศลักเซมเบอร์ก แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                 (ง)          คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัท คณะบุคคลอื่นใด ตลอดจนองค์กรใด ซึ่งถือเป็นหน่วยซึ่งอาจเก็บภาษีได้ ภายใต้กฎหมายภาษีอากรที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

                 (จ)          คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคล หรือองค์กรที่ถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                 (ฉ)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง " และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง " หมายถึงวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                 (ช)          คำว่า "ภาษี "หมายถึงภาษีไทยหรือภาษีลักเซมเบอร์ก ตามที่บริบทกำหนด

 

                 (ซ)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                                 (1)          บุคคลธรรมดาใดๆ ซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                                 (2)          นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคม และหน่วยงานอื่นใดที่มีสถานภาพนั้นตามกฎหมายใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                 (ฌ)         คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆทางเรือหรือทางอากาศยาน ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีการเดินเรือหรือเดินอากาศยาน ระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เท่านั้น และ

 

                 (ฐ)          คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" ในกรณีของประเทศไทย หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย และในกรณีของประเทศลักเซมเบอร์ก หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

 

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญานี้ให้มีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้น เกี่ยวกับภาษีซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า"ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง " หมายถึง บุคคลใดๆผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีเจ้าหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นโดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจดทะเบียนบริษัทสถานจัดการหรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มี ลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียวหรือจากทุนที่มีอยู่ในรัฐนั้น

2.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้หนึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

                 (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรในรัฐนั้น ถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐ ซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า(ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                 (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำกัญได้หรือถ้าบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารับหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

                 (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่ปกติวิสัยในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ

 

                 (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดานั้นเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐหรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐพยายามแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาแก้ใขปัญหาด้วยความตกลงร่วมกัน

 

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า"สถานประกอบการถาวร" หมายถึงสถานธุรกิจประจำ ซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะรวมถึง

 

                 (ก)          สถานจัดการ

 

                 (ข)          สาขา

 

                 (ค)          สำนักงาน

 

                 (ง)          โรงงาน

 

                 (จ)          โรงช่าง

 

                 (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมัน หรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือแหล่งขุดทรัพยากรธรรมชาติอื่นใด

 

                 (ช)          ที่ทำการเพาะปลูกหรือไร่สวน

 

                 (ซ)          คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้าสำหรับบุคคลอื่น

 

                 (ฌ)         ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบ หรือการให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการนั้น โดยที่ที่ตั้ง โครงการหรือกิจกรรมเหล่านั้นดำเนินติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน

 

           (ญ)         การให้การบริการ รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดโดยผ่านทางลูกจ้างหรือบุคลากรอื่น ทั้งนี้กิจกรรมในลักษณะนั้นดำเนินติดต่อกันสำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือนในระยะเวลาสิบสองเดือน

 

3.              แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า"สถานประกอบการถาวร"มิให้ถือว่า รวมถึง

 

                 (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งแระสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดงสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

 

                 (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือจัดแสดง

 

                 (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์สิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                 (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                 (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณาการให้ข้อสนเทศ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการ หรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจ

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และ 2 เมื่อมีบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 6 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งจะถือว่าเป็นวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก ถ้าบุคคลนั้น

 

                 (ก)          มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัย ในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                 (ข)          ไม่มีอำนาจดังกล่าวแต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น และดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือสั่งมอบในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำหรือ

 

                 (ค)          ไม่มีอำนาจดังกล่าวแต่ได้จัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นหรื่อเพื่อวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             แม้จะมีบทบัญญัติในวรรคก่อนๆ ของข้อนี้ วิสาหกิจประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นในกรณีของการรับประกันภัยต่อ จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น ถ้าวิสาหกิจนั้นเรียกเก็บเบี้ยประกันในอาณาเขตของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น หรือรับประกันภัยภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางลูกจ้างหรือผ่านทางตัวแทน ซึ่งมิได้เป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรค 6 ของข้อนี้

 

6.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนชนิดอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าบุคคลดังกล่าวได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตนอย่างไรก็ตาม ถ้ากิจกรรมของตัวแทนดังกล่าวทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดได้กระทำในนามวิสาหกิจนั้น หรือการกระทำในนามของวิสาหกิจนั้นกับวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น บุคคลเช่นว่านี้จะไม่ถือว่าเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้

 

7.             เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัท ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011