เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนฮังการี

เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนฮังการี

 

         มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

 

          ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีเก็บเงินจากเงินได้ที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือในนามของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของรัฐนั้นโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่บังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากค่าจ้างหรือเงินเดือนที่จ่ายโดยรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุนให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับโดยเฉพาะได้แก่

 

                (ก)           ในกรณีประเทศไทย

 

                                 -               ภาษีเงินได้ และ

 

                                 -               ภาษีเงินได้ปิโตรเลี่ยม

 

                                               (ซึ่งต่อไปในที่นี้เรียกว่า "ภาษีไทย")

 

                (ข)           ในกรณีสาธารณรัฐประชาชนฮังการี

 

                                 -               ภาษีเงินได้

 

                                 -               ภาษีกำไร และ

 

                                 -               ภาษีนิติบุคคลพิเศษ 

 

                                (ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีฮังการี")

 

4.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งบังคับจัดเก็บภายหลังจากวันที่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้เป็นการเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะแจ้งให้แก่กันและกันทราบถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สำคัญซึ่งมีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                (ก)           คำว่า "ประเทศไทย"เมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์หมายถึงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยทั้งสิ้น รวมถึงน่านน้ำภายในประเทศ อาณาเขตทะเลและพื้นที่ใดๆ ซึ่งตามกฎหมายไทยกำหนดไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและตามกฎหมายไทยในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีมีผลใช้บังคับหรืออาจใช้บังคับได้

 

                (ข)           คำว่า "สาธารณรัฐประชาชนฮังการี"เมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์หมายถึงอาณาเขตของสาธารณรัฐประชาชนฮังการี

 

                (ค)           คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศไทยหรือสาธารณรัฐประชาชนฮังการีแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ง)           คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลอื่นใดซึ่งถือว่าเป็นหน่วยภาษีภายใต้กฎหมายภาษีอากรที่ใช้บังคับในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง

 

                (จ)           คำว่า "บริษัท" หมายถึงนิติบุคคลหรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคล เพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                (ฉ)           คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายความว่าวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                (ช)           คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีไทยหรือภาษีฮังการีแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ซ)           คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                               (1)           บุคคลธรรมดาใดๆ ซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                               (2)           นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคมและหน่วยอื่นใดที่มีสถานภาพนั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                (ฌ)          คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ ทางเรือหรือทางอากาศซึ่งโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีการเดินเรือหรืออากาศยานระหว่างสถานที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น และ

 

                (ญ)          คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญา ให้มีความหมายซึ่งคำนั้นๆ มีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้นเกี่ยวกับภาษีที่อนุสัญญานี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึงบุคคลใดๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐนั้นโดยเหตุผลของการมีภูมิลำเนา สถานที่อยู่ สถานจดทะเบียนบริษัท สถานจัดการหรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ความหมายนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดๆ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้ในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

 

2.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาคนใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ก็ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

 

                (ก)           ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ

 

                (ข)           ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐอันเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญของบุคคลธรรมดานั้นได้หรือบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

                (ค)           ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือไม่มีที่อยู่เลยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

 

                (ง)           ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลซึ่งมิใช่บุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้แก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึงสถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะให้รวมถึง

 

                (ก)           สถานจัดการ

 

                (ข)           สาขา

 

                (ฉ)           เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหินหรือสถานที่อื่นใดที่มีการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

                (ช)           ที่ทำการเพาะปลูกหรือไร่สวน

 

                (ซ)           คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคล ซึ่งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้าสำหรับบุคคลอื่น

 

                (ฌ)          ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบ หรือกิจกรรมตรวจควบคุมเกี่ยวกับการนั้น ในกรณีที่ที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน

 

                (ญ)          การให้บริการรวมทั้งบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดโดยผ่านทางลูกจ้างหรือบุคคลากรอื่นทั้งนี้กิจกรรมในลักษณะนั้นดำเนินติดต่อกันสำหรับโครงการเดียวกัน หรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือนในระยะเวลาสิบสองเดือน

 

3.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" มิให้ถือว่ารวมถึง

                (ก)           การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา การจัดแสดงหรือส่งมอบของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

 

                (ข)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา การจัดแสดงหรือส่งมอบ

 

                (ค)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                (ง)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์แห่งการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้าหรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศให้กับวิสาหกิจนั้น

 

                (จ)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์แห่งการดำเนินการ กิจกรรมใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบสำหรับวิสาหกิจนั้น

 

                (ฉ)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อดำเนินกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค (ก)ถึง (จ)   โดยมีเงื่อนไขว่า กิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำเป็นผลจากกิจกรรมดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือส่วนประกอบ

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และ 2 เมื่อบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 6 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก ถ้าบุคคลนั้น

 

                (ก)           มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)           ไม่มีอำนาจดังกล่าวแต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น และดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือส่งมอบในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำหรือ

 

                (ค)           ไม่มีอำนาจดังกล่าว แต่ได้จัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             แม้จะมีบทบัญญัติในวรรคก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ วิสาหกิจประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นในกรณีของการรับประกันภัยต่อ จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น ถ้าวิสาหกิจนั้นเรียกเก็บเบี้ยประกันในอาณาเขตของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นหรือรับประกันภัยภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้นโดยผ่านทางลูกจ้าง หรือผ่านทางตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรค 6 ของข้อนี้

 

6.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งโดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าบุคคลดังกล่าวได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน อย่างไรก็ตามถ้ากิจกรรมของตัวแทนดังกล่าวทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดได้กระทำในนามวิสาหกิจนั้น หรือกระทำในนามของวิสาหกิจนั้นกับวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น บุคคลเช่นว่านี้จะไม่ถือว่าเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้

 

7.             เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011