เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่าง สาธารณรัฐบัลแกเรียและราชอาณาจักรไทย
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

 

 

สาธารณรัฐบัลแกเรียและราชอาณาจักรไทย

 

            มีความปรารถนาที่จะจัดทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 

 

            ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

บทที่ 1
ขอบข่ายของอนุสัญญา

ข้อ 1
ขอบข่ายด้านบุคคล

            อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

1.             อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ ที่ตั้งบังคับโดยหรือในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบของเงินได้  รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์  หรืออสังหาริมทรัพย์  ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนทั้งสิ้นซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่าย ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน ให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้จะใช้บังคับ ได้แก่

               

                ก)            ในกรณีบัลแกเรีย

 

                               (1)          ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

                               (2)          ภาษีเงินได้นิติบุคคล   และ

 

                               (3)          ภาษีขั้นสุดท้าย

 

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า “ภาษีบัลแกเรีย”)

               

                ข)            ในกรณีประเทศไทย

 

                               (1)          ภาษีเงินได้ และ

 

                               (2)          ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า “ภาษีไทย”)

 

4.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งใช้บังคับหลังจากวันที่ลงนามในอนุสัญญานี้   โดยตั้งบังคับเพิ่มเติมจาก  หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน  เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะได้แจ้งแก่กันและกันเพื่อให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ  ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

บทที่ 2
คำนิยาม

ข้อ 3
บทนิยามทั่วไป

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้  เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

                    

                (ก)          คำว่า “ รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง”  และ “รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง”หมายถึงบัลแกเรียหรือ

                               ประเทศไทยแล้วแต่บริบทจะกำหนด

               

                (ข)           คำว่า “บัลแกเรีย”  หมายถึง  สาธารณรัฐบัลแกเรีย  และเมื่อใช้ใน ความหมายทางภูมิศาสตร์ 

                               หมายถึง  อาณาเขตซึ่งสาธารณรัฐ บัลแกเรียใช้อำนาจอธิปไตยครอบคลุมถึง    ตลอดจนไหล่

                               ทวีปและ เขตเศรษฐกิจ    พิเศษซึ่งสาธารณรัฐบัลแกเรียมีสิทธิอธิปไตยและมี เขตอำนาจ

                               ครอบคลุมถึงตามกฎหมายระหว่างประเทศ

               

                (ค)           คำว่า “ประเทศไทย” หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ ซึ่งประชิดกับน่านน้ำ

                               อาณาเขตของราชอาณาจักรไทยซึ่งตาม กฎหมายไทย  และตามกฎหมายระหว่างประเทศ

                               กำหนดไว้หรือ อาจจะกำหนดไว้ภายหลังให้เป็นพื้นที่  ซึ่งราชอาณาจักรไทย อาจ ใช้สิทธิในส่วน

                               ที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเล    และดินใต้พื้นดิน และ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ ได้

 

                (ง)           คำว่า “บุคคล” รวมถึงบุคคลธรรมดา   กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง บริษัทและคณะบุคคลใด ๆ

               

                (จ)           คำว่า “บริษัท” หมายถึง  นิติบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ  ซึ่งถือว่า  เป็นนิติบุคคลเพื่อความมุ่ง

                               ประสงค์ในทางภาษี

               

                (ฉ)          คำว่า “ วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง” และ “วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง” หมาย

                               ถึงวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มี

                               ถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                (ช)          คำว่า “ภาษี” หมายถึง ภาษีบัลแกเรียหรือภาษีไทยแล้วแต่บริบทจะกำหนด

               

                (ซ)          คำว่า “คนชาติ” หมายถึง

 

                               (1)          บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                               (2)          นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคมหรือหน่วยอื่นใดที่ได้รับสถานภาพของตนเช่นนั้นตาม

                                             กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

              

                  (ฌ)        คำว่า “การจราจรระหว่างประเทศ” หมายถึง การขนส่งใดๆ ทางเรือหรือทางอากาศยาน  ซึ่ง

                               ดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งยกเว้นกรณีการเดินเรือหรือเดินอากาศยานที่

                               ดำเนินการระหว่างสถานที่ต่างๆ  ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น  และ

               

                (ญ)         คำว่า “เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ”  หมายถึง

 

                               (1)          ในกรณีของบัลแกเรีย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

 

                               (2)          ในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย 

 

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญานี้เว้นแต่บริบทกำหนดเป็นอื่น ให้มีความหมายตามที่คำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีของรัฐนั้น  ในส่วนของภาษีซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ   ความหมายของคำภายใต้กฎหมายภาษีของรัฐนั้นจะมีความสำคัญเหนือความหมายที่ได้บัญญัติไว้สำหรับคำนั้น ๆ ในกฎหมายอื่น ๆของรัฐนั้น

 

 

ข้อ 4
ผู้มีถิ่นที่อยู่

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า “ ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง”หมายถึง บุคคลใดๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้น  โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจัดการใหญ่ สถานที่ก่อตั้ง หรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน  และคำนี้ให้รวมถึงรัฐนั้น   องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและองค์กรตามกฎหมายของรัฐนั้น  แต่คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

 

2.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1   บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

               

                (ก)         ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวร

                              ในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทาง

                              เศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์ อันสำคัญ)

               

                (ข)         ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญหรือถ้าบุคคลธรรมดานั้น

                              ไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่

                              เป็นปกติวิสัย

               

                (ค)         ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐ ให้

                              ถือว่า เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ

               

                (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐหรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐเจ้าหน้าที่ผู้มี

                              อำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นได้ก่อตั้งขึ้น ถ้าตาม             หลักเกณฑ์เช่นว่านี้  บุคคลนั้นยังคงเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

 

ข้อ 5
สถานประกอบการถาวร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า “สถานประกอบการถาวร”  หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า “สถานประกอบการถาวร” โดยเฉพาะรวมถึง

               

                (ก)          สถานจัดการ

               

                (ข)          สาขา

               

                (ค)          สำนักงาน

               

                (ง)          โรงงาน

               

                (จ)          โรงช่าง

               

                (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้นทรัพยากร

                              ธรรมชาติ 

                 

                (ช)          ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบหรือกิจกรรมตรวจควบคุมที่

                              เกี่ยวเนื่องกับโครงการดังกล่าวแต่เฉพาะกรณีที่ตั้ง  โครงการ หรือกิจกรรมนั้นดำรงอยู่ชั่วระยะเวลา

                              หนึ่งเกินกว่า 6 เดือน

               

                (ซ)          การให้บริการรวมตลอดถึงการให้บริการปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งผ่าน

                              ลูกจ้างหรือพนักงานอื่นแต่เฉพาะกรณีที่กิจกรรมเช่นว่านั้นดำรงอยู่ เพื่อโครงการเดียวกันหรือ

                              โครงการที่เกี่ยวเนื่องกันในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ในชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวม

                              กันเกินกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา  12 เดือนใด ๆ

 

3.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนหน้าของข้อนี้อยู่ คำว่า “สถานประกอบการถาวร”  ไม่ให้ถือว่ารวมถึง

               

                 ก)           การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา  การจัดแสดงหรือส่ง

                               มอบสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

               

                 ข)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่ง ประสงค์ใน

                               การเก็บรักษา  การจัดแสดงหรือส่งมอบ

               

                ค)            การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่ง ประสงค์ให้\

                               วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

               

                ง)            การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของ หรือสินค้า หรือ รวบรวม

                               ข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

               

                 จ)            การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา การให้ข้อสนเทศ การวิจัย

                               ทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียม การหรือเป็นส่วน

                               ประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น

               

                ฉ)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อดำเนินกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค (ก) ถึง (จ) โดยมีเงื่อน

                               ไขว่า กิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำ  ซึ่งเป็นผลมาจากการรวม เข้ากันนี้ มีลักษณะเป็น

                               การเตรียมการหรือส่วนประกอบ

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1  และวรรค 2  ของข้อนี้ เมื่อบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 6 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ให้ถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก  ถ้าบุคคลดังกล่าวมีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก  ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น  เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆของบุคคลนั้นจำกัดอยู่เฉพาะที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค 3  ซึ่งหากว่าได้กระทำผ่านสถานธุรกิจประจำจะไม่ทำให้สถานธุรกิจประจำเป็นสถานประกอบการถาวรภายใต้บทบัญญัติของวรรคดังกล่าว

 

5.             แม้จะมีบทบัญญัติในวรรคก่อนๆ ของข้อบทนี้ วิสาหกิจประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง เว้นแต่ที่ประกอบการรับประกันภัยต่อ จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง  ถ้าได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมในอาณาเขตของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น   หรือการรับประกันความเสี่ยงซึ่งมีอยู่ในรัฐนั้น   กระทำโดยผ่านผู้แทนซึ่งมิใช่ตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรค 6 

 

6.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าวิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น  โดยผ่านทาง  นายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำการอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม เมื่อกิจกรรมของตัวแทนดังกล่าวได้กระทำทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในนามวิสาหกิจนั้น  บุคคลเช่นว่านี้จะไม่ถือเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้

 

7.             ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง หรือซึ่งถูกควบคุมโดยบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011