เมนูปิด

“ร้อยเรื่องลดหย่อน  ปีภาษี 2560”

 

หมวดค่าลดหย่อนบุตร

 

1. ชื่อเรื่อง :  หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนบุตร
คำถาม :   การหักลดหย่อนบุตรต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร
คำตอบ :   ตั้งแต่ปีภาษี 2560 การหักลดหย่อนบุตร ตามมาตรา 47(1)(ค)(ฉ) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5มาตรา 6 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 มีรายละเอียดดังนี้
          1. บุตรที่มีสิทธิหักลดหย่อนได้แก่ บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้หรือของคู่สมรส และบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้ 
              (1) เป็นผู้เยาว์
                   - อายุไม่ถึง 20 ปี (มาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หรือ
                    - ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส (มาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หรือ
              (2) มีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือ ชั้นอุดมศึกษา (ระดับอนุปริญญาขึ้นไป) รวมถึงการศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต หรือ
              (3) บุตรที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ และ
              (4) ไม่มีเงินได้พึงประเมิน ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่หักลดหย่อนถึง 30,000 บาท และต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
          2. จำนวนเงินที่มีสิทธิหักลดหย่อน
              (1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท
              (2) บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
              หมายเหตุ การหักลดหย่อนบุตรตาม (1) และ (2) ให้หักลดหย่อนโดยไม่มีค่าการศึกษาอีก เนื่องจากถูกยกเลิกโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560          
          3. จำนวนบุตรที่มีสิทธิหักลดหย่อน
              ในกรณีผู้มีเงินได้มีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก
               เว้นแต่ — ในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้
                         — แต่ถ้าบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้ โดยเมื่อรวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วต้องไม่เกิน 3 คน
          4. การนับจำนวนบุตร
             ให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุมากน้อยเรียงกันไป โดยให้นับรวมทั้งบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อน (บรรลุนิติภาวะ) ด้วย (บุตรฝาแฝดที่คลอดออกมาก่อนถือเป็นบุตรที่มีอายุสูงกว่า)
          5. ให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีจะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
          6. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่อยู่ในประเทศไทย
          7. กรณีบุตรบุญธรรมต้องได้รับการจดทะเบียนรับรองเป็นบุตรบุญธรรม โดยผู้ที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจะเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน โดยเริ่มหักได้ตั้งแต่ปีภาษีที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ส่วนบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเดิมของบุตรคนนั้น ไม่สามารถหักลดหย่อนได้อีก


 

2. ชื่อเรื่อง :  บุตรชอบด้วยกฎหมาย 4 คน ให้หักลดหย่อนบุตรได้ทั้งหมด
คำถาม :   มีบุตรชอบด้วยกฎหมาย 4 คน และมีชีวิตอยู่ทั้งหมด จะนำบุตรมาหักลดหย่อนได้ทั้งหมดหรือไม่
คำตอบ :   หักลดหย่อนบุตรได้ทั้งหมด  4  คน   เป็นบุตรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการหักลดหย่อนเพราะการหักลดหย่อนบุตรตั้งปีภาษี 2560 สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ไม่จำกัดจำนวน โดยหักบุตรได้คนละ 30,000 บาท รวมเป็น  120,000 บาท  ตาม มาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร

 


3. ชื่อเรื่อง :  บุตร 4 คน และมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คนรวมเป็น 5 คน  ให้หักลดหย่อนบุตรได้ 4 คน
คำถาม :   มีบุตร 4 คน และมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คน  จะนำบุตรมาหักลดหย่อนได้ทั้งหมดหรือไม่
คำตอบ :   สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ทั้งหมด  4  คน   เป็นบุตรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการหักลดหย่อนเพราะการหักลดหย่อนบุตรตั้งปีภาษี 2560 สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ไม่จำกัดจำนวน โดยหักบุตรได้คนละ 30,000 บาท รวมเป็น 120,000 บาท  ตาม มาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร  สำหรับบุตรบุญธรรมไม่สามารถหักลดหย่อนได้อีกเนื่องจากเมื่อนำบุตรบุญธรรมมารวมกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเกินสามคน

 


4. ชื่อเรื่อง :  บุตร  2 คน และมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คน รวมเป็น 3 คน ให้หักลดหย่อนบุตรได้ 3  คน
คำถาม :   มีบุตร 2 คน และมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คน  จะนำบุตรมาหักลดหย่อนได้ทั้งหมดหรือไม
คำตอบ :   สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ทั้งหมด  3   คน   เป็นบุตรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการหักลดหย่อนเพราะการหักลดหย่อนบุตรตั้งปีภาษี 2560 สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ไม่จำกัดจำนวน และสามารถหักลดหย่อนบุตรบุญธรรมได้อีก 1 คน เนื่องจากเมื่อรวมบุตรบุญธรรมดาแล้วไม่เกินสามคน  ดังนั้น สามารถหักบุตรได้คนละ 30,000 บาท รวมเป็น 90,000  บาท  ตาม มาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร 

 


5 . ชื่อเรื่อง :  บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
คำถาม :   บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ สามารถนำมาหักลดหย่อนบุตรและการศึกษาบุตรได้หรือไม่
คำตอบ :   ตั้งแต่ปีภาษี 2560 เป็นต้นไป ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา หรือซึ่งเป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้หักลดหย่อนบุตรที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปโดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา  42  แห่งประมวลรัษฎากร
                  ดังนั้น บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ จึงสามารถหักลดหย่อนในฐานะบุตร ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ จำนวน  30,000 บาท ได้ ตามมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร

 


6 . ชื่อเรื่อง :  บุตรจบการศึกษาระหว่างปี ไม่ได้ทำงาน นำมาหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
คำถาม :   สามีภริยาสามารถนำบุตรที่ไม่มีเงินได้และจบการศึกษาระหว่างปีมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ :   การหักลดหย่อนบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากรแต่มิให้หักลดหย่อนบุตรที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปโดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา  42  แห่งประมวลรัษฎากร

 


7 . ชื่อเรื่อง :  บุตรผู้เยาว์มีเงินปันผลนำมาหักลดหย่อนได้
คำถาม :   บุตรผู้เยาว์ของนาย ว. มีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท นาย มีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรผู้เยาว์ ได้หรือไม่<br />คำตอบ :   หากบุตรของนาย ว. เป็นบุตรผู้เยาว์มีเงินได้ประเภทเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท โดยไม่มีเงินได้ประเภทอื่นอีก ถือว่าเงินได้ของบุตรผู้เยาว์เป็นเงินได้พึงประเมินของนาย ว. ผู้เป็นบิดา ตามมาตรา   40(4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ว. มีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีในนามของตน โดยนิตินัยเป็นผลเท่ากับบุตรผู้เยาว์ไม่มีเงินได้ ดังนั้น นาย ว. มีสิทธินำบุตรผู้เยาว์ดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร

 


8 . ชื่อเรื่อง :  บุตรบรรลุนิติภาวะมีเงินปันผลนำมาหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   บุตรบรรลุนิติภาระของนาย ว. มีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท นาย ว. มีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตร  ได้หรือไม่
คำตอบ :   หากบุตรของนาย ว. เป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ตามมาตรา 19 และ 20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีเงินได้ประเภทเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท โดยไม่มีเงินได้ประเภทอื่นอีก เงินปันผลดังกล่าวเป็นเงินได้ พึงประเมินของบุตร ดังนั้น บุตรผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร นาย ว. ไม่มีสิทธินำบุตรดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร

 

    
9 . ชื่อเรื่อง :  บุตรผู้เยาว์มีเงินได้จากรางวัลชิงโชค  นำมาหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   บุตรชายของนาย ป. ได้รับรางวัลทองคำหนัก 100 บาท นาย ป. พร้อมด้วยภริยาและบุตรได้เดินทางไปรับรางวัลที่บริษัทฯ มูลค่าของทองคำที่เด็กชาย ค. ได้รับคิดเป็นเงินจำนวน 840,000 บาท บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ของมูลค่ารางวัลที่ได้รับเป็นเงินจำนวน 42,000 บาท  นาย ป.จะหักลดหย่อนบุตรได้หรือไม่
คำตอบ :   นาย ป. ไม่มีสิทธินำบุตรมาหักลดหย่อนภาษี เนื่องจากบุตรมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 30,000  บาทขึ้นไป ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเด็กชาย ค. ผู้มีเงินได้พึงประเมินจากเงินรางวัล จะต้องยื่นแบบแสดงรายการโดยเป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นตัวแทนในการชำระภาษีแทนผู้เยาว์

 

10. ชื่อเรื่อง :  บุตรเกิดวันที่ 29 ธันวาคม 2560  มีอายุเพียง 3 วัน  นำมาหักลดหย่อนได้
คำถาม :   นาย ก  และ นาง จ สถานภาพสมรส  มีบุตรเกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560  อายุเพียง 3 วัน  บิดามารดาจะนำบุตรมาหักลดหย่อนบุตรได้หรือไม่
คำตอบ :   นาย ก. และ นาง จ  ในฐานะผู้มีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายให้หักได้ตลอดปี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ โดยหักบุตรได้ฝ่ายละ 30,000 บาท 

 

11. ชื่อเรื่อง :  บุตรผู้เยาว์เสียชีวิตระหว่างปี  นำมาหักลดหย่อนได้
คำถาม :   บิดา/มารดาสามารถนำบุตรผู้เยาว์ที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษีไปหักค่าลดหย่อนบุตรได้หรือไม่
คำตอบ :   การหักลดหย่อนบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตามตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร  บิดามารดาจึงหักลดหย่อนบุตรได้จำนวนคนละ 30,000 บาท

 

ปรับปรุงล่าสุด: 03-12-2021