และรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
มีความปราถนาที่จะจัดทำความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้
ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
ขอบข่ายด้านบุคคล
1. อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐเว้นแต่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในอนุสัญญา
2. แม้จะมีบทบัญญัติอื่นของอนุสัญญา เว้นแต่วรรค 3 ของข้อนี้ รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง อาจเก็บภาษีจากผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐนั้น (ตามที่ได้กำหนดไว้ภายใต้ข้อ 4 (ผู้มีถิ่นที่อยู่)) และโดยเหตุผลของการมีสัญชาติอาจเก็บภาษีจากพลเมืองของรัฐเสมือนว่า อนุสัญญายังไม่มีผลใช้บังคับ เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ คำว่า "สัญชาติ" จะรวมถึงผู้ที่เคยมีสัญชาติซึ่งได้สูญเสียสถานภาพการมีสัญชาติ โดยมีจุดประสงค์หลักในการหลีกเลี่ยงภาษี (ซึ่งได้กำหนดไว้ภายใต้กฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญา) แต่เฉพาะระยะเวลาเพียง 10 ปีหลังการเสียสถานภาพดังกล่าว ในกรณีของสหรัฐคำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่" จะรวมถึงผู้ที่เคยเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในระยะยาวตามกฎหมาย (ไม่ว่าจะได้รับการปฏิบัติภายใต้ข้อ 4 หรือไม่ก็ตาม) การเสียสถานภาพผมีถิ่นที่อยู่โดยมีจุดประสงค์หลักในการหลีกเลี่ยงภาษี (ตามที่ได้จำแนกไว้ภายใต้กฎหมายของสหรัฐ) แต่เฉพาะระยะเวลาเพียง 10 ปี หลังการเสียสถานภาพดังกล่าว
3. บทบัญญัติของวรรค 2 จะไม่มีผลกระทบต่อ
(ก) ผลประโยชน์ที่รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งได้มอบให้ภายใต้วรรค 2 ของ ข้อ 9 (วิสาหกิจในเครือเดียวกัน) วรรค 2 และวรรค 5 ของข้อ 20 (เงินบำนาญและสวัสดิการสังคม) และภายใต้ ข้อ 25 (การขจัดการเก็บภาษีซ้อน) ข้อ 26 (การไม่เลือกประติบัติ) และ ข้อ 27 (วิธีดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน )และ
(ข) ผลประโยชน์ที่รัฐผู้ทำสัญญาได้มอบให้ภายใต้ข้อ 21 (งานรัฐบาล) ข้อ 22 (นักเรียน และผู้ฝึกงาน) ข้อ 23 (ครู) และข้อ 29 (เจ้าหน้าที่ทางการทูตและกงสุล) เนื่องในฐานะที่บุคคลธรรมดามิได้มีสถานภาพการมีสัญชาตหรือมิได้เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในรัฐนั้น
4. อนุสัญญาจะไม่จำกัดวิธีการแยกออก ยกเว้น หักออก เครดิต หรือการลดหย่อนผ่อนผันอื่น ๆ ซึ่งได้มีอยู่ขณะนี้หรือในภายหน้าตาม
(ก) กฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ หรือ
(ข) ความตกลงอื่นใดระหว่างรัฐ ผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ
5. แม้จะมีบทบัญญัติของอนุวรรค 4 (ข)
(ก) แม้จะมีความตกลงอื่นๆ ซึ่งรัฐผู้ทำสัญญาอาจเข้าร่วมเป็นคู่ภาคีข้อขัดแย้งไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับมาตรการที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้หรือไม่ก็ตามจะได้รับการพิจารณาโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐตามที่กำหนดไว้ในอนุวรรค 1 (จ) ของข้อ 3 (คำนิยามทั่วไป) ของอนุสัญญานี้เท่านั้นและขั้นตอนภายใต้อนุสัญญานี้จะนำ มาใช้บังคับกับข้อขัดแย้งนี้เป็นการเฉพาะ
(ข) เว้นแต่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกำหนดว่ามาตรการทางภาษีไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ พันธะกรณีเกี่ยวกับการไม่เลือกประติบัติของอนุสัญญานี้ จะนำมาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการดังกล่าวเป็นการเฉพาะยกเว้นสำหรับพันธะกรณีเรื่องการให้การ ปฏิบัติอย่างคนชาติหรือการให้การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งตามที่อาจนำมาใช้บังคับในเรื่องการค้าขายสินค้า ภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร พันธะกรณีเรื่องการให้การปฏิบัติอย่างคนชาติ หรือการให้การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งภายใต้ความตกลงอื่น ๆ จะนำมาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวนั้น
(ค) เพื่อความมุ่งประสงค์ของวรรคนี้ คำว่า "มาตรการ" คือ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอน คำตัดสิน การปฏิบัติหน้าที่ทางบริหารหรือแบบอื่นใดของมาตรการ
ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย
1. ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้จะใช้บังคับ ได้แก่
(ก) ในประเทศสหรัฐ : ภาษีเงินได้ของรัฐบาลกลางที่จัดเก็บโดยประมวลรัษฎากรภายในประเทศ แต่ไม่รวมถึงภาษีสวัสดิการสังคม (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีสหรัฐ" )
(ข) ในประเทศไทย : ภาษีเงินได้และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")
2. อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญ ซึ่งหลังจากวันที่ลงนามในอนุสัญญานี้ จะได้ตั้งบังคับเพิ่มเติมจาก หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะได้แจ้งแก่กันและกัน เพื่อให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ และเอกสารที่ราชการจัดพิมพ์เกี่ยวกับการนำไปใช้ประโยชน์ของอนุสัญญา รวมถึงคำอธิบาย ระเบียบ ข้อวินิจฉัย หรือคำพิพากษาศาล
บทนิยามทั่วไป
1. เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
(ก) คำว่า "บุคคล" รวมถึง บุคคลธรรมดา กองมรดก ทรัสต์ ห้างหุ้นส่วน บริษัท และคณะบุคคลใด ๆ
(ข) คำว่า "บริษัท" หมายถึงนิติบุคคลใด ๆ หรือหน่วยใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี
(ค) คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง"หมายถึงวิสาหกิจ ที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และหมายถึงวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ใน รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง
(ง) คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ ทางเรือ หรือทางอากาศยาน ยกเว้นกรณีการเดินเรือหรือเดินอากาศยานระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น
(จ) คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึง
(1) ในกรณีของประเทศสหรัฐ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน และ
(2) ในกรณีของประเทศไทย : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ
(ฉ) คำว่า "ประเทศสหรัฐ" หมายถึง ประเทศสหรัฐอเมริกาและเมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์ รวมถึงพื้นที่ ใดๆ นอกทะเลอาณาเขตของประเทศสหรัฐซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสหรัฐได้กำหนดไว้ หรืออาจกำหนดในภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งประเทศสหรัฐอาจใช้สิทธิได้ในส่วนที่เกี่ยวกับการสำรวจและแสวง ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของพื้นดินท้องทะเล หรือของดินใต้ผิวดิน คำว่า "ประเทศสหรัฐ" ไม่รวมถึง เปอร์โตริโกเวอร์จินไอแลนด์ กวมหรือดินแดนอื่นที่ประเทศสหรัฐครอบครอง
(ช) คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึงราชอาณาจักรไทยและพื้นที่ใด ๆ ซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักร ไทยซึ่งตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายระหว่างประเทศ ได้กำหนดไว้หรืออาจกำหนดในภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิใน ส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเล และดินใต้ผิวดิน และทรัพยากรธรรมชาติของตนภายในพื้นที่นั้นๆ ได้
(ซ) คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศสหรัฐหรือประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด
(ฌ) คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีสหรัฐ หรือ ภาษีไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด
(ญ) คำว่า "คนชาติ" หมายถึง
(1) บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่เป็นคนชาติหรือมีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง
(2) นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคมและหน่วยอื่นใดทั้งปวงที่มีสถานภาพดังกล่าวนั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ใน รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง
2. ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญานี้ให้มีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้นเกี่ยวกับภาษีซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่นหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตกลง กำหนดความหมายร่วมกัน
ผู้มีถิ่นที่อยู่
1. เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใด ๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นโดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สัญชาติ สถานจัดการใหญ่ สถานที่ก่อตั้ง หรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คำนี้รวมถึงรัฐนั้น และส่วนราชการหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐนั้น อย่างไรก็ดี คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อความมุ่งประสงค์ของวรรคนี้ บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยภายใต้วรรคนี้ และผู้ซึ่งมีสัญชาติสหรัฐ หรือคนต่างด้าวที่ยอมรับให้มีถิ่นที่อยู่ถาวร ในประเทศสหรัฐ (ผู้ถือ"กรีนการ์ด") เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐ ถ้าเพียงแต่บุคคลธรรมดานั้นอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ มีที่อยู่ถาวรหรือที่อยู่เป็นปกติวิสัยในประเทศสหรัฐ ถ้าบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยภายใต้วรรคนี้ จะถือเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ และถิ่นที่อยู่เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญาของบุคคลนั้นจะถูกกำหนดภายใต้วรรค 2
2. ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้
(ก) ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)
(ข) ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญได้หรือถ้าบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย
(ค) ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ
(ง) ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน
3. ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลนอกเหนือจาก บุคคลธรรมดา เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสอง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐคู่สัญญาแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน และกำหนดการใช้บังคับอนุสัญญากับบุคคลดังกล่าว
สถานประกอบการถาวร
1. เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
2. คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะรวมถึง
(ก) สถานจัดการ
(ข) สาขา
(ค) สำนักงาน
(ง) โรงงาน
(จ) โรงช่าง
(ฉ) คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้าสำหรับบุคคลอื่น
(ช) เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าช เหมืองหินหรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ
3. คำว่า "สถานประกอบการถาวร" รวมถึง
(ก) ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการประกอบหรือโครงการติดตั้งหรือกิจกรรมตรวจควบคุมเกี่ยวกับโครงการนั้น หรือการติดตั้งเรือหรือแท่นขุดเจาะที่ใช้ในการสำรวจหรือนั้นดำเนินกิจกรรมระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันแล้วเกินกว่า 120 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือนใด ๆ และ
(ข) การให้การบริการ รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาโดยวิสาหกิจผ่านทาง ลูกจ้างหรือบุคลากรอื่นที่จัดหาโดยวิสาหกิจเพื่อความมุ่งประสงค์เช่นว่านั้นถ้า เพียงแต่
(1) กิจกรรมในลักษณะนั้นได้ดำเนินติดต่อกัน (สำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่อง) ภายในรัฐนั้นเป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน ในระยะเวลาสิบสองเดือนใด ๆ โดยมีเงื่อนไขว่า สถานประกอบการถาวรนั้นจะต้องไม่ดำรงอยู่ในปีภาษีใด ๆ ของการให้บริการนั้นเป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันน้อยกว่า 30 วัน ในปีภาษีนั้น หรือ
(2) การบริการได้กระทำในรัฐนั้นสำหรับวิสาหกิจที่เกี่ยวเนื่องกันภายใต้ความหมายของวรรค 1 ของข้อ 9
4. แม้จะมีบทบัญญัติก่อน ๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ไม่ให้ถือว่ารวมถึง
(ก) การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดงสิ่งของหรือสินค้า ซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น
(ข) การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดง
(ค) การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ
(ง) การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้า หรือรวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น
(จ) การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมอื่นซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น
(ฉ) การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อการรวมกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค (ก) ถึง (จ) เข้าด้วยกัน โดยมีเงื่อนไขว่า กิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำ ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมเข้ากันนี้ มีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือส่วนประกอบ
5. แม้จะมีบทบัญญัติก่อน ๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ไม่ให้ถือว่ารวมถึง การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกหรือการเก็บรักษามูลภัณฑ์สิ่งของหรือสินค้าซึ่งวิสาหกิจเป็นเจ้าของเพื่อความมุ่งประสงค์ในการส่งมอบสิ่งของหรือสินค้าดังกล่าวเป็นครั้งคราว
6. แม้ว่าวิสาหกิจจะไม่มีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งภายใต้วรรคก่อนของข้อนี้ แม้กระนั้น วิสาหกิจจะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ถ้าดำเนินธุรกิจในรัฐนั้นผ่านตัวแทน ซึ่ง
(ก) มีอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น และใช้อำนาจนั้นเป็นปกติวิสัยในรัฐนั้น เว้นแต่กิจกรรมต่าง ๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะที่กล่าวถึง ในวรรค 4 และ 5 ซึ่งถ้าประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานธุรกิจประจำ จะไม่ถือว่าสถานธุรกิจประจำเป็นสถาน ประกอบการถาวรภายใต้บทบัญญัติของวรรคนั้น
(ข) จัดหาคำสั่งซื้ออย่าง เป็นปกติวิสัยในรัฐนั้นเพื่อวิสาหกิจนั้น หรือ
(ค) เก็บรักษาในรัฐนั้นซึ่งมูลภัณฑ์สิ่งของหรือสินค้าที่เป็นของวิสาหกิจนั้น จากการส่งมอบในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นปกติวิสัย
7. วิสาหกิจจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าวิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในรัฐนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไป ตัวแทนหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลเช่นว่านั้นกระทำการอันเป็นปกติในธุรกิจของตน อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อตกลงระหว่างตัวแทนและวิสาหกิจ การดำเนินกิจกรรมของตัวแทนนั้นได้กระทำทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในนามของวิสาหกิจนั้น หรือวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น ตัวแทนดังกล่าวจะไม่ถือว่ามีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้
8. ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งหรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง