เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและ

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

 

                 มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

                ได้ตกลงกัน ดังต่อไปนี้

 

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                 อนุสัญญานี้จะใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.              อนุสัญญานี้จักใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่ตั้งบังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐหรือในนามขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบทั้งหลายของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน ให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับได้แก่

 

                 (ก)          ในประเทศศรีลังกา

 

                                ภาษีเงินได้ รวมทั้งภาษีเงินได้ที่เก็บจากยอดขายของวิสาหกิจที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งเกรทเตอร์โคลัมโบ (theGreater Colombo Economic Commission)

 

                                (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีศรีลังกา")

 

                 (ข)          ในประเทศไทย

 

                                 (1)          ภาษีเงินได้ และ

 

                                 (2)          ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                                 (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

4.             อนุสัญญานี้จักใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่เก็บจากเงินได้ที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญ ซึ่งบังคับจัดเก็บภายหลังจากวันที่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้เป็นการเพิ่มเติม หรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแจ้งให้ทราบแก่กันและกันถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สำคัญ ซึ่งมีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             ในอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดให้เป็นอย่างอื่น

 

                 (ก)          คำว่า "ประเทศศรีลังกา" หมายถึงสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังการวมถึงพื้นที่ใดๆ ที่อยู่นอกทะเลอาณาเขตของประเทศศรีลังกา ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้หรืออาจจะกำหนดไว้ภายหลังในกฎหมายของประเทศศรีลังกาในส่วนที่เกี่ยวกับไหล่ทวีปให้เป็นพื้นที่ซึ่งประเทศศรีลังกาอาจใช้สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับน่านน้ำ พื้นดินท้องทะเล และดินใต้ผิวดิน และทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่นั้นๆ ได้

 

                 (ข)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึงราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ใดๆ ซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยซึ่งตามกฎหมายไทย และตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้หรืออาจจะกำหนดไว้ภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดิน และทรัพยากรธรรมชาติของตนภายในพื้นที่นั้นๆ ได้

 

                 (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศศรีลังกาหรือประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                 (ง)          คำว่า "บุคคล" รวมถึง บุคคลธรรมดา กองมรดก บริษัท และคณะบุคคลอื่นใดซึ่งถือว่าเป็นหน่วยเพื่อประโยชน์ในทางภาษี

 

                 (จ)          คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคล หรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อประโยชน์ในทางภาษี

 

                 (ฉ)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ตามลำดับ

 

                 (ช)          คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ โดยเรือหรืออากาศยานที่ดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นในกรณีที่เรือหรืออากาศยานนั้นดำเนินการระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น

 

                 (ซ)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                                 (1)          บุคคลธรรมดาทั้งหมด ซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                                 (2)          นิติบุคคลทั้งหมด ห้างหุ้นส่วน สมาคม และหน่วยอื่นใดที่ได้รับสถานภาพของตนเช่นว่านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                 (ญ)         คำว่า "ภาษี"หมายถึงภาษีศรีลังกาหรือภาษีไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในที่นั้นให้คำนั้นมีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นเกี่ยวกับภาษีที่อนุสัญญานี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดให้เป็นอย่างอื่น

 

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึงบุคคลใดซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่เสียภาษีในรัฐนั้น โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจดทะเบียนบริษัท สถานจัดการหรือโดยเกณฑ์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน

 

2.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 ของข้อนี้ บุคคลธรรมดาคนใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะวินิจฉัยสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

 

                 (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดามีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใด เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัว และทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญของบุคคลธรรมดาได้ก็ดีหรือถ้าไม่มีที่อยู่ถาวรของบุคคลธรรมดาอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐก็ดี ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติ

 

                 (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือไม่มีอยู่เลยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

 

                 (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 ของข้อนี้ บุคคลซึ่งมิใช่บุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึงสถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะจะรวมถึง

 

                 (ก)          สถานจัดการ

 

                 (ข)          สาขา

 

                 (ค)          สำนักงาน

 

                 (ง)          โรงงาน

 

                 (จ)          โรงช่าง และ

 

                 (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นๆ ที่ใช้ในการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

3.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ในทำนองเดียวกันให้รวมถึง

 

                 (ก)          ที่ตั้งอาคารโครงการก่อสร้างโครงการประกอบหรือโครงการติดตั้งแต่เฉพาะในกรณีซึ่งที่ตั้งโครงการ หรือกิจกรรมได้มีติดต่อกันในช่วงระยะเวลาเกินกว่า 183 วัน

 

                 (ข)          การจัดให้มีการบริการ รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาโดยวิสาหกิจผ่านทางลูกจ้างหรือบุคคลอื่นที่ว่าจ้างโดยวิสาหกิจเพื่อความมุ่งประสงค์เช่นว่านั้น แต่เฉพาะในกรณีที่กิจกรรมในลักษณะนั้นได้มีอยู่ในประเทศนั้น (สำหรับโครงการอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน) ในระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันแล้วเกินกว่า 183 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือน

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" มิให้ถือว่ารวมถึง

 

                 (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือจัดแสดงสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

                 (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือจัดแสดง

 

                 (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้า ซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์แห่งการแปรรูปโดยอีกวิสาหกิจหนึ่ง

 

                 (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้าหรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศให้กับวิสาหกิจนั้น

 

                 (จ)          ารมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมอื่นใด ซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือการสนับสนุนให้กับวิสาหกิจนั้น

 

                 (ฉ)          ารมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อดำเนินกิจกรรมที่กล่าวมาแล้วในอนุวรรค (ก) ถึง (จ) รวมกัน โดยมีเงื่อนไขว่ากิจกรรมทั้งมวลอันมีผลจากการรวมกันดังกล่าวของสถานธุรกิจประจำนั้นมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือสนับสนุน

 

5.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และ 2 ของข้อนี้อยู่ ณ กรณีที่บุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 7 ของข้อนี้ได้กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมใดๆ ซึ่งบุคคลนั้นได้กระทำเพื่อวิสาหกิจนั้น ถ้าบุคคลดังกล่าว

 

                 (ก)          มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น เว้นแต่กิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น หรือ

 

                 (ข)          ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นหรือวิสาหกิจอื่นซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น และดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือส่งมอบในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

                 (ค)          จัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจและวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

6.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ วิสาหกิจประกันภัยของรัฐหนึ่งยกเว้นในกรณีของการรับประกันภัยต่อ จะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรอยู่ในรัฐอีกรัฐหนึ่ง ถ้าวิสาหกิจนั้นเรียกเก็บเบี้ยประกันในอาณาเขตของรัฐอีกรัฐหนึ่งนั้นหรือประกันการเสี่ยงภัยที่มีอยู่ ณ ที่นั้น โดยผ่านทางบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 7

 

7.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐนั้นโดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีกิจกรรมที่ตัวแทนเช่นว่านั้นได้กระทำทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในนามของวิสาหกิจนั้น จะไม่ถือว่าเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้ ถ้าเป็นที่ปรากฏว่าการติดต่อระหว่างตัวแทนและวิสาหกิจมิได้กระทำภายใต้เงื่อนไขของการประกอบการที่เป็นอิสระระหว่างกัน

 

8.             ข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในรัฐอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011