เมนูปิด

ข้อ 21

นักศึกษา และผู้ฝึกงานทางธุรกิจ

 

                นักเรียนหรือผู้ฝึกงานทางธรุกิจผู้ซึ่งเข้าไปอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษาหรือการฝึกอบรม และเป็นผู้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้าไปอยู่นั้น เป็นหรือเคยเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะได้รับการยกเว้นภาษีจากรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก ถ้าเงินที่ได้รับนั้นได้รับนอกรัฐที่กล่าวถึงในรัฐแรกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการ ศึกษา หรือการฝึกอบรม

 

 

 

ข้อ 22

เงินได้อื่นๆ

 

1.             ภายใต้บทบัญญัติของวรรค 2 ของบทบัญญัตินี้ บรรดารายการเงินได้ของผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อบทก่อนๆ ของความตกลงนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม จะเก็บภาษีได้เฉพาะในรัฐนั้น

 

2.             บทบัญญัติของวรรค 1 จะไม่ใช้บังคับกับเงินได้ ถ้าผู้รับเงินได้ดังกล่าวนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ดำเนินธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งผ่านทางสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในอีกรัฐหนึ่งนั้น หรือดำเนินการให้บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระในอีกรัฐหนึ่งนั้นจากฐานประกอบการประจำที่ตั้งอยู่ในรัฐนั้น และสิทธิหรือทรัพย์สินในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่ได้จ่ายไปนั้นมีส่วนเกี่ยวเนื่องในประการสำคัญกับสถานประกอบการถาวรหรือฐานประกอบการ ประจำเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนั้น จะใช้บทบัญญัติของข้อ 7 หรือข้อ 14 บังคับ แล้วแต่กรณี

 

 

 

ข้อ 23

การขจัดการเก็บภาษีซ้อน

 

1.             ในประเทศมอริเชียส การเก็บภาษีซ้อนจะได้รับการขจัดดังนี้

 

                (ก)          ในกรณีที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศมอริเชียสได้รับเงินได้จากประเทศไทย อาจนำภาษีที่ได้ชำระแล้วจากเงินได้ในประเทศไทยตามบทบัญญัติของความตกลงนี้ มาเครดิตออกจากภาษีมอริเชียสที่เรียกเก็บจากผู้มีถิ่นที่อยู่นั้น

 

                (ข)          ในกรณีที่บริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจ่ายเงินปันผลให้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ มอริเชียส ซึ่งถือหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อมเป็นจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 10 ของทุนของบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล เครดิตนั้นจะต้องพิจารณาถึงภาษีไทยที่ต้องชำระโดยบริษัทแรกที่กล่าวถึง ในส่วนที่เกี่ยวกับกำไรซึ่งเงินปันผลนั้นได้จ่าย (โดยเพิ่มเติมจากจำนวนภาษีไทยที่ได้รับอนุญาตให้เครดิตได้ภายใต้บทบัญญัติของอนุวรรค (ก) ของวรรคนี้) โดยมีเงื่อนไขว่าการเครดิตภาษีใดๆภายใต้อนุวรรค (ก) และ (ข) จะต้องไม่เกินภาษีของมอริเชียส (ที่ได้คำนวณไว้ก่อนการเครดิต) ซึ่งเหมาะสมกับกำไรหรือเงินได้ที่ได้รับจากแหล่ง ในประเทศไทย

 

2.             ในประเทศไทย การเก็บภาษีซ้อนจะได้รับการขจัดดังนี้

 

                (ก)          ในกรณีที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเงินได้จากประเทศมอริเชียส อาจนำภาษีที่ได้ชำระแล้วจากเงินได้ในประเทศมอริเชียสตามบทบัญญัติของความตกลงนี้ มาเครดิตออกจากภาษีไทยที่เรียกเก็บจากผู้มีถิ่นที่อยู่นั้น

 

                (ข)          ในกรณีที่บริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศมอริเชียสจ่าย เงินปันผลให้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งถือหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อมเป็นจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 10 ของทุนของบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล เครดิตนั้นจะต้องพิจารณาถึงภาษีมอริเชียส ที่ต้องชำระโดยบริษัทแรกที่กล่าวถึงในส่วนที่เกี่ยวกับกำไรซึ่งเงินปันผลนั้นได้จ่าย (โดยเพิ่มเติมจากจำนวนภาษีมอริเชียสที่ได้รับอนุญาตให้เครดิตได้ภายใต้บทบัญญัติของอนุวรรค (ก) ของวรรคนี้) โดยมีเงื่อนไขว่าการเครดิตภาษีใดๆ ภายใต้อนุวรรค (ก) และ (ข) จะต้องไม่เกินภาษีของไทย(ที่ได้คำนวณไว้ก่อนการเครดิต) ซึ่งเหมาะสมกับกำไรหรือเงินได้ที่ได้รับจากแหล่งในประเทศ มอริเชียส

 

3.             เพื่อความมุ่งประสงค์ในการยอมให้ถือเป็นเครดิต ภาษีที่ได้ชำระในประเทศมอริเชียส หรือประเทศไทย แล้วแต่บริษัทจะกำหนด ให้ถือว่ารวมถึงภาษีซึ่งควรจะได้เสียในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง แต่ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นโดยรัฐใดรัฐหนึ่ง ตามกฎหมายภายในของรัฐนั้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

 

 

 

ข้อ 24

การไม่เลือกประติบัติ

 

1.             คนชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง จะต้องไม่ถูกบังคับในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งให้เสียภาษีอากรใดๆหรือให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆเกี่ยวกับการนั้นอันเป็นการนอกเหนือไปจากหรือเป็นภาระหนักกว่าการเก็บภาษีอากรและข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งคนชาติของอีกรัฐหนึ่งนั้นถูกหรืออาจถูกบังคับให้เสียหรือให้ปฏิบัติตามในสถานการณ์เดียวกันแม้จะมีบทบัญญัติของข้อ 1 อยู่ บทบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับรวมถึงบุคคลผู้ที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐด้วย

 

2.             ภาษีอากรที่เก็บจากสถานประกอบการถาวรซึ่งวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะต้องไม่เรียกเก็บในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยเป็นการอนุเคราะห์น้อยกว่าภาษีอากรที่เรียกเก็บจากวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งที่ประกอบกิจกรรมอย่างเดียวกัน

 

3.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ซึ่งมีทุนที่เป็นเจ้าของหรือถูกควบคุมบางส่วนหรือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม โดยผู้มีถิ่นที่อยู่คนเดียวหรือหลายคนในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะไม่ถูกบังคับในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกให้เสียภาษีอากรใดๆ หรือปฎิบัติ ตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการนั้น อันเป็นการนอกเหนือไปจากหรือเป็นภาระหนักกว่า การเก็บภาษีอากรและข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกถูกหรืออาจถูกบังคับ

 

4.             บทบัญญัติของข้อนี้จะไม่แปลความเป็นการผูกพันรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งต้อง ยอมให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ซึ่งค่าลดหย่อนส่วนบุคคล การบรรเทาภาระและการหักลดใดๆเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษีอันเนื่องมาจากความเป็นพลเมือง หรือความรับผิดชอบทางครอบครัวซึ่งรัฐนั้นให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐของตน

 

5.             ในบทบัญญัติของข้อนี้คำว่า "ภาษีอากร" หมายถึง ภาษีซึ่งอยู่ในบังคับของความตกลงนี้

 

 

 

ข้อ 25

วิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน

 

1.             ในกรณีที่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่หรือเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง พิจารณาเห็นว่าการกระทำของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดหรือทั้งสองรัฐมีผลหรือจะมีผลให้ตนเองต้องเสียภาษีอากร โดยไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของความตกลงนี้ บุคคลผู้นั้นอาจยื่นเรื่องราวของตนต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีถิ่นที่อยู่โดยไม่ต้องคำนึงถึงทางแก้ไขที่บัญญัติไว้ในกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญา ถ้ากรณีของบุคคลผู้นั้นอยู่ภายใต้วรรค 1 ของข้อ 24 ให้ยื่นต่อรัฐผู้ทำสัญญาที่ผู้นั้นเป็นคนชาติคำร้องดังกล่าวต้องยื่นภายในสามปี นับจากที่ได้มีการแจ้งการกระทำครั้งแรกที่ก่อให้เกิดการเรียกเก็บภาษีอันไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งความตกลงนี้

 

2.             ถ้าข้อคัดค้านนั้นปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่ามีเหตุผลสมควรและถ้าตนไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้เอง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพยายามแก้ไขกรณีนั้นโดยความตกลงร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพื่อการเว้นการเก็บภาษีอัน ไม่เป็นไปตามความตกลงนี้

 

3.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะต้องพยายามแก้ไขความยุ่งยากหรือข้อสงสัยใดๆอันเกิดขึ้นเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้บังคับความตกลงนี้ โดยการตกลงร่วมกัน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจปรึกษาหารือกัน เพื่อการขจัดการเก็บภาษีซ้อนในกรณีใดๆที่มิได้บัญญัติไว้ในความตกลงนี้ได้ด้วย

 

4.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐอาจติดต่อกันโดยตรง รวมทั้งติดต่อผ่านคณะกรรมการร่วมที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดังกล่าวหรือผู้แทนของตนเพื่อความมุ่งประสงค์ให้มีความตกลงกันตามความหมายแห่งวรรคก่อนๆ นั้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011