เมนูปิด

ข้อ 26
การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ

 

1.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ หรือเอกสารอันจำเป็นแก่การปฏิบัติการตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้หรือเพื่อป้องกันการทุจริตหรือหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งอยู่ในบังคับของอนุสัญญานี้ ข้อสนเทศหรือเอกสารใดๆ ที่ได้รับโดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะถือว่าเป็นความลับเช่นเดียวกันกับข้อสนเทศหรือเอกสารที่ได้รับภายใต้กฎหมายภายในของรัฐนั้น และจะเปิดเผยได้เฉพาะกับบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ (รวมทั้งศาลและองค์กรฝ่ายบริหาร) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประเมินหรือการจัดเก็บ การบังคับหรือการดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวกับหรือการวินิจฉัยคำอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะใช้ข้อสนเทศหรือเอกสารนั้นเพียงเพื่อจุดประสงค์เช่นว่านั้นเท่านั้น บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจเปิดเผยข้อสนเทศหรือเอกสารในกระบวนพิจารณาในศาลโดยเปิดเผย หรือคำวินิจฉัยของศาล

 

2.             การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศหรือเอกสารจะต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติปกติหรือเป็นไปตามคำร้องขอในกรณีพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองกรณี เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะตกลงกันในบัญชีหมวดหมู่ของข้อสนเทศหรือเอกสารซึ่งจะจัดหาให้ตามหลักปฏิบัติปกติ

 

3.             ไม่ว่ากรณีใดก็ตามมิให้ถือบทบัญญัติของวรรค 1 เป็นการตั้งข้อผูกพันบังคับรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งให้

 

               ก.            ดำเนินมาตรการทางการบริหารโดยขัดกับกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางการบริหารของรัฐผู้ทำ

                              สัญญารัฐนั้นหรือของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

               ข.            ให้ข้อสนเทศหรือเอกสารอันมิอาจจัดหาได้ตามกฎหมายหรือตามทางการบริหารโดยปกติของรัฐ

                              ผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

               ค.            ให้ข้อสนเทศหรือเอกสารซึ่งจะเปิดเผยความลับทางการค้า ธุรกิจอุตสาหกรรม การพาณิชย์ หรือ

                              ความลับทางวิชาชีพ หรือกรรมวิธีการค้า หรือข้อสนเทศซึ่งหากเปิดเผยจะเป็นการขัดต่อความ

                              สงบเรียบร้อย

 

 

ข้อ 27
การดำเนินการทางการทูตและกงสุล

               ไม่มีข้อความใดในอนุสัญญานี้จะกระทบกระเทือนต่อเอกสิทธิ์ทางการรัษฎากรของเจ้าหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุลตามหลักทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามบทบัญญัติแห่งความตกลงพิเศษทั้งหลาย

 

 

บทที่ 6
บทบัญญัติสุดท้าย

ข้อ 28
การใช้บังคับ

1.             อนุสัญญานี้จะได้รับการสัตยาบันและจะได้ทำการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน ณ กรุงเทพมหานคร โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

2.             อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับเมื่อได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกันแล้วและจะมีผลใช้บังคับ

 

               ก.            ในอินเดีย ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่ได้มาระหว่าง "ปีที่ล่วงมา" ที่เริ่มต้นในหรือหลังวันแรกของ

                              เดือนมกราคมของปีปฏิทินต่อไป ถัดจากปีซึ่งมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน

 

               ข.            ในประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่ได้มาระหว่าง "ปีภาษี" หรือ "รอบระยะเวลาบัญชี" ที่

                              เริ่มต้นในหรือหลังวันแรกของเดือนมกราคมของปีปฏิทินต่อไปถัดจากปีที่มีการแลกเปลี่ยน

                              สัตยาบันสารกัน

 

 

ข้อ 29
การเลิกใช้

               อนุสัญญาฉบับนี้จะคงมีผลใช้บังคับตลอดไป แต่รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดอาจบอกเลิก

สัญญานี้โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งทราบโดยทางการทูตในหรือก่อนวันที่ 30 มิถุนายน ของปีปฏิทินใดๆ ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลา 5 ปี นับจากปีที่อนุสัญญานี้เริ่มใช้บังคับ ในกรณีเช่นนี้อนุสัญญาเป็นอันเลิกมีผลบังคับ

 

               ก.            ในประเทศอินเดีย ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในระหว่าง "ปีที่ล่วงมา" ที่เริ่มต้นในหรือหลังวัน

                              แรกของเดือนมกราคมของปีปฏิทินต่อไป ถัดจากปีที่มีการแจ้งการบอกเลิก

 

               ข.            ในประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในระหว่าง "ปีภาษี" หรือ "รอบระยะเวลาบัญชี" ที่

                              เริ่มต้นในหรือหลังวันแรกของเดือนมกราคมของปีปฏิทินต่อไป ถัดจากปีที่มีการแจ้งบอกเลิก

 

               เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลของประเทศทั้งสองได้ลงนามในอนุสัญญานี้ ทำ ณ กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 22 เดือนมีนาคม คริสต์ศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยแปดสิบห้า เป็นต้นฉบับ 6 ฉบับ เป็นภาษาไทย ฮินดู และอังกฤษ ภาษาละ 2 ฉบับ ทุกฉบับใช้ได้เท่าเทียมกัน เว้นแต่กรณีที่ความแตกต่างกันให้ใช้ฉบับภาษาอังกฤษ

 

สำหรับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา
(สิทธิ เศวตศิลา)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดีย

วิศวนาถ ประถาป ซิงห์
(วิศวนาถ ประถาป ซิงห์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

 

บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อน
ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอินเดีย

 

เป็นที่เข้าใจว่า  :

 

1.             คำว่า “ภาษี” ที่นิยามไว้ในวรรค 1 (ง) ของข้อ 3 แห่งอนุสัญญานี้จะไม่ตีความรวมถึงจำนวนใดๆ ที่ต้องชำระในส่วนที่ขาดไปหรือละเว้นไม่ปฎิบัติเกี่ยวกับภาษีซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับ หรือซึ่งแทนการลงโทษที่ตั้งบังคับเกี่ยวกับภาษีเหล่านั้น

 

2.             ไม่มีข้อความใด ในวรรค 5 ของข้อ 10 แห่งอนุสัญญานี้ที่จะแปลความมิให้ประเทศไทยบังคับจัดเก็บภาษีในส่วนของการจำหน่วยกำไร (มิใช่ในลักษณะของเงินปันผล) ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรของไทย

 

3.             ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรค 2 ของข้อ 26 ความตกลงใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของทั้งสองฝ่ายได้บรรลุถึงจะได้รับการปฎิบัติโดยมิต้องคำนึงถึงข้อจำกัดทางระยะเวลาใดๆ ในกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสอง โดยมีข้อแม้ว่า การปฏิบัติตามความตกลงดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียภาษีที่เกี่ยวข้อง

 

4.             ในกรณีที่ประเทศไทยยอมลดหย่อนภาษีลงเกินกว่าร้อยละ 50 สำหรับเงินได้ที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศใดๆ ได้รับจากการดำเนินกิจการเดินเรือในการเจรจาระหว่างประเทศนั้น วรรค 2 ของข้อ 8 แห่งอนุสัญญาจะต้องนำมาพิจารณาใหม่เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้มีการยอมลดภาษีลงอย่างเดียวกัน สำหรับเงินได้ของบริษัทเดินเรือซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศอินเดีย บนพื้นฐานของหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน

 

สำหรับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา
(สิทธิ เศวตศิลา)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดีย

วิศวนาถ ประถาป ซิงห์
(วิศวนาถ ประถาป ซิงห์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011