เมนูปิด

                     อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
                               กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดีย
         เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร
                              ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


 

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดีย

 

               มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

               ได้ตกลงกันได้ดังต่อไปนี้

 

 

บทที่ 1

ขอบข่ายแห่งอนุสัญญา

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

               อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ หรือในนามของส่วนราชการ หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละรัฐโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่บังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบทั้งหลายของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายจ่ายโอนสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้าง หรือเงินเดือนซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่ายให้ถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับได้แก่

 

               ก.            ในกรณีประเทศอินเดีย

 

                              (1)          ภาษีเงินได้ รวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษที่บังคับจัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ ปี ค.ศ. 1961 (43 ของปี ค.ศ. 1961) และ

 

                              (2)          ภาษีเสริมที่บังคับจัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีเสริม (กำไร) ของบริษัท ปี ค.ศ. 1964 (7 ของปี ค.ศ. 1964) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีอินเดีย")

 

               ข.            ในกรณีประเทศไทย

 

                              (1)          ภาษีเงินได้ และ

 

                              (2)          ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                              (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

4.             อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแต่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งบังคับจัดเก็บโดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด ภายหลังจากวันที่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้ เป็นการเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษีที่ได้กล่าวไว้ใน วรรค 3 ของข้อนี้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองจะได้แจ้งให้แก่กันและกันทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

บทที่2

บทนิยาม

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

               ก.            คำว่า "ประเทศอินเดีย" หมายถึง อาณาเขตของประเทศอินเดียรวมทั้งทะเลอาณาเขตและน่านฟ้าเหนือดินแดนอื่นๆ งได้กล่าวไว้ในกฎหมายว่าด้วยน่านน้ำ อาณาเขต ไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และเขตทางทะเลอื่นๆ ค.ศ. 1976 (กฎหมายฉบับที่ 80 ปี 1975) ซึ่งอินเดียมีอำนาจอธิปไตยอยู่และในเขตที่สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศเสมือนหนึ่งว่าเขตทางทะเลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตประเทศอินเดีย

 

               ข.            คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึงราชอาณาจักรไทยและรวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งทะเลใดๆ ซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ซึ่งตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนด หรืออาจกำหนดในเวลาต่อไปให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิภายในพื้นที่นั้นได้

 

               ค.            คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศอินเดียหรือประเทศไทยแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

               ง.             คำว่า "ภาษี" หมายถึงภาษีอินเดียหรือภาษีไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

               จ.             คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัทและหน่วยอื่นใดซึ่งถือเป็นหน่วยที่เก็บภาษีได้ตามกฎหมายภาษีอากรที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่าย

 

               ฉ.            คำว่า "บริษัท" หมายถึงนิติบุคคลหรือหน่วยใดๆซึ่งถือว่าเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลตามกฎหมายภาษีอากรที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่าย

 

               ช.            คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายความตามลำดับว่า วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

               ซ.            คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" ในกรณีของประเทศอินเดีย หมายถึง รัฐบาลกลางแห่งกระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจและในกรณีของประเทศไทยหมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

               ฌ.           คำว่า "คนชาติ" หมายถึงบุคคลธรรมดาใดๆ ที่เป็นผู้ถือสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและนิติบุคคลใดๆ ห้างหุ้นส่วน สมาคมและหน่วยอื่นใดที่ได้รับสถานภาพเช่นนั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

               ญ.           คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆทางเรือหรือทางอากาศยานซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นในกรณีที่เรือหรืออากาศยานนั้นได้ดำเนินงานระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น

 

2.             ในการใช้บังคับตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง คำใดๆที่มิได้นิยามไว้ในที่นี้ ให้มีความหมายในคำนั้นๆ มีอยู่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บังคับในรัฐนั้นเกี่ยวกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึงบุคคลใดๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่จะต้องเสียภาษีในรัฐนั้นโดยเหตุแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจดทะเบียนบริษัท สถานจัดการหรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

 

2.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้ใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐก็ให้กำหนดสถานภาพของการมีถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวเพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

 

               (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐซึ่งตนมีที่อยู่ถาวร ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ")

 

               (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญได้ หรือถ้าบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

               (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐหรือไม่มีอยู่เลยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

 

               (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลใดนอกเหนือจากบุคคลธรรมดา เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ให้รวมถึง

 

               (ก)          สถานจัดการ

 

               (ข)          สาขา

 

               (ค)          สำนักงาน

 

               (ง)          โรงงาน

 

               (จ)          โรงช่าง

 

               (ฉ)          เหมืองแร่ เหมืองหิน บ่อน้ำมัน หรือบ่อก๊าซหรือสถานที่อื่นใดที่มีการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

               (ช)          ที่ทำการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ไร่สวนหรือสถานที่อื่นซึ่งดำเนินกิจการทางการเกษตร การป่าไม้ การเพาะปลูก หรือกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

               (ซ)          ที่ตั้งอาคารหรือโครงการก่อสร้าง หรือโครงการประกอบหรือกิจกรรมการควบคุมตรวจตราที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินติดต่อกัน สำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวข้องในระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันแล้วเกินกว่า 183 วัน

 

               (ฌ)         คลังสินค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลผู้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้าสำหรับบุคคลอื่น

 

               (ญ)         การให้การบริการรวมทั้งบริการให้คำปรึกษา โดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งผ่านลูกจ้างหรือบุคคลอื่น โดยกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นว่านั้นได้ดำเนินติดต่อกัน สำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวข้องในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งในระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันแล้วเกินกว่า 183 วัน

 

3.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" มิให้ถือว่ารวมถึง

 

               (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา การจัดแสดงหรือการส่งมอบของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

 

               (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาการจัดแสดงหรือการส่งมอบ

 

               (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

               (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อของหรือสินค้า หรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศให้วิสาหกิจนั้น

 

               (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณาเพื่อแจกจ่ายข้อสนเทศเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน อันมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือการสนับสนุนสำหรับวิสาหกิจนั้น

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรคก่อนๆ อยู่บุคคล (นอกเหนือจากนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5) ซึ่งกระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งจะถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก ถ้า

 

               (ก)          บุคคลนั้นมีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น หรือ

 

               (ข)          บุคคลนั้นได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าที่เป็นของวิสาหกิจนั้น และส่งมอบของหรือสินค้าจากมูลภัณฑ์นั้นในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

               (ค)          บุคคลนั้นจัดหาในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกอย่างเป็นปกติวิสัยซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเอง หรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้นโดยผ่านทางนายหน้าตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าบุคคลดังกล่าวได้กระทำการตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน บทบัญญัตินี้จะไม่ใช้บังคับถ้านายหน้าหรือตัวแทนเช่นว่านั้นได้ประกอบกิจกรรมในอีกรัฐหนึ่งนั้นซึ่งกิจกรรมตามที่ระบุไว้ในวรรค 4 ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเอง หรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

6.             เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

7.             แม้จะมีบทบัญญัติในวรรคก่อนๆ ของข้อนี้อยู่ จะถือว่าวิสาหกิจประกอบกิจกรรมรับประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีสถานประกอบการถาวรในรัฐอีกรัฐหนึ่ง ถ้าวิสาหกิจนั้นเรียกเก็บเบี้ยประกันในอาณาเขตของรัฐอีกรัฐหนึ่งนั้นหรือรับประกันภัยภายในรัฐอีกรัฐหนึ่งนั้นโดยผ่านทางลูกจ้างหรือผ่านทางตัวแทนซึ่งมิได้เป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายในวรรค 5 ของข้อนี้ เว้นแต่ในกรณีของการรับประกันภัยต่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011