เมนูปิด

ความเป็นมาของ FATCA

Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) เป็นกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของสหรัฐอเมริกาที่ทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ แนวคิดและหลักการในการจัดเก็บภาษีของประเทศสหรัฐฯ เป็นไปตามหลักแหล่งเงินได้ทั่วโลก (Worldwide Income Basis)

FATCA กำหนดให้สถาบันทางการเงินในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลทางบัญชีของลูกค้าชาวอเมริกันต่อกรมสรรพากรของสหรัฐฯ ซึ่งสถาบันทางการเงินที่ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายฉบับนี้ คือ สถาบันการเงินที่มีการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นการสร้างรายได้หรือผลกำไรให้กับชาวสหรัฐฯ

หากสถาบันการเงินใด ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย FATCA หรือหากเจ้าของบัญชีชาวสหรัฐฯ รายใดไม่ยินยอมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การจ่ายเงินเข้าบัญชีของชาวสหรัฐฯ ในสถาบันการเงินนั้น จะถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดที่มีแหล่งที่มาหรืออ้างอิงหลักทรัพย์จากสหรัฐฯ และอาจต้องปิดบัญชีที่เจ้าของไม่ยินยอมปฏิบัติตาม FATCA

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ FATCA ประเทศสหรัฐฯ จึงทำความตกลงระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลประเทศอื่นๆ (IGA) เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางบัญชีของผู้เสียภาษีตามความตกลงนั้นเกิดขึ้นได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายภายในของประเทศคู่สัญญา และเพื่อให้ประเทศคู่สัญญาทั้งสองประเทศให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์ทางด้านภาษี โดยความตกลงระหว่างรัฐบาลนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. ความตกลงระหว่างรัฐบาลประเภท Model 1 คือ ความตกลงระหว่างรัฐบาล ที่รัฐบาลคู่สัญญาเป็นผู้รวบรวมข้อมูลบัญชีชาวสหรัฐฯ จากสถาบันการเงินภายในเขตการปกครองของตน เพื่อรายงานให้แก่ประเทศคู่สัญญา ผ่านระบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท ได้แก่
    - Model 1 A (Reciprocal) คือ กรณีที่ประเทศคู่สัญญาทั้งสองประเทศตกลงที่จะส่งข้อมูลให้แก่กันและกัน ผ่านระบบอัตโนมัติ
    - Model 1 B (Non-reciprocal) คือ กรณีที่ประเทศคู่สัญญาตกลงที่จะส่งข้อมูลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ฝ่ายเดียว โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องส่งข้อมูลให้ประเทศคู่สัญญา
  2. ความตกลงระหว่างรัฐบาลประเภท Model 2 คือ ความตกลงระหว่างรัฐบาล ที่รัฐบาลคู่สัญญาตกลงที่จะออกกฎหมายเพื่ออนุญาตและชี้นำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีชาวสหรัฐฯ กับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ โดยที่สถาบันการเงินภายใต้รัฐบาลคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้รายงานต่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง ผ่านระบบอัตโนมัติ

สำหรับประเทศไทย ได้ทำความตกลงประเภท Model 1 A (Reciprocal) และได้เลือกใช้ ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล (International Data Exchange Service: IDES) ของสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลจากสถาบันการเงินในไทย ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า Model 1 Option 2 (M1O2)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 28-12-2020