เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งประเทศไทยและรัฐบาลแห่งประเทศญี่ปุ่น

 

                มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาฉบับใหม่เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บเงินได้

 

                ได้ตกลงกันดังนี้

 

 

ข้อ 1

 

               อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

1.             ภาษีซึ่งเป็นประเด็นของอนุสัญญานี้ คือ

 

                (ก)          ในประเทศญี่ปุ่น

 

                               (1)          ภาษีเงินได้ และ

 

                               (2)          ภาษีบรรษัท

 

                               (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีญี่ปุ่น")

 

                (ข)          ในประเทศไทย

 

                               (1)          ภาษีเงินได้ และ

 

                               (2)          ภาษีเงินได้จากปิโตรเลียม

 

                              (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

2.             นอกจากนี้ให้ใช้อนุสัญญานี้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่เหมือนกันหรือในสาระสำคัญคล้ายคลึงกันซึ่งได้บังคับเพิ่มเติมจากหรือแทนที่ภาษีที่กล่าวถึงในวรรค 1 ภายหลังจากวันที่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเต็มของรัฐผู้ทำสัญญาจะได้แจ้งแก่กันและกัน เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐภายในระยะเวลาที่เหมาะสมภายหลังจากการแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้น

 

 

ข้อ 3

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                (ก)          คำว่า "ประเทศญี่ปุ่น" เมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์ หมายถึงอาณาเขตทั้งปวงรวมถึงทะเล

                              อาณาเขตของประเทศญี่ปุ่นที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีญี่ปุ่นใช้บังคับ และพื้นที่ทั้งหมดภายใต้ทะเล

                              อาณาเขตรวมถึงก้นทะเลและที่ดินใต้ผิวดิน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ

                              และที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีญี่ปุ่นใช้บังคับได้

 

                (ข)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึงราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ใดๆ ที่ติดกับน่านน้ำอาณาเขต

                              ของราชอาณาจักรไทยซึ่งตกอยู่ภายใต้สิทธิของราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายไทยและ

                              กฎหมายระหว่างประเทศ

 

                (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง "และ"รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศญี่ปุ่น หรือ

                              ประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ง)          คำว่า "ภาษี" หมายถึงภาษีญี่ปุ่นหรือภาษีไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (จ)          คำว่า "บุคคล" รวมถึง บุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลอื่นใดและในกรณีของประเทศไทยให้

                              รวมถึงกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นหน่วยภาษีภายใต้กฎหมายภาษีอากรไทย

 

                (ฉ)          คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคลหรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่า เป็นนิติบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์

                              ทางภาษี

 

                (ช)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมาย

                              ถึงวิสาหกิจซึ่งดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และวิสาหกิจซึ่งดำเนินการโดย

                              ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                (ซ)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                               (1)          ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของประเทศญี่ปุ่นและ

                                             นิติบุคคลทั้งปวงที่ตั้งขึ้นหรือรวบรวมขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น และองค์การ

                                             ทั้งปวงที่ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลซึ่งตามความมุ่งประสงค์ทางภาษีญี่ปุ่นถือว่าเป็น

                                             นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นหรือรวบรวมขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น และ

 

                              (2)          ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของประเทศไทยและ

                                             นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคม และหน่วยอื่นใดที่ได้รับสถานภาพเช่นว่านั้นตามกฎหมาย

                                             ที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศไทย

 

                (ฌ)         คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ ทางเรือหรืออากาศยานซึ่งดำเนินการ

                              โดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีการเดินเรือหรืออากาศยานระหว่างสถานที่

                              ต่างๆ ซึ่งอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น และ

 

                (ญ)         คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึง

 

                               (1)          ในกรณีประเทศญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

                                             และ

 

                               (2)          ในกรณีประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

 

2.             ในการบังคับใช้อนุสัญญานี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในอนุสัญญา ให้มีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้นเกี่ยวกับภาษีที่อนุสัญญานี้ใช้บังคับเว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดๆซึ่งตามกฎหมายรัฐนั้นมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐนั้นโดยเหตุผลของการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจัดการ สำนักงานใหญ่ หรือ โดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คำนี้มิได้รวมถึงบุคคลใดๆ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงรัฐเดียว

 

2.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลหนึ่งผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะกำหนดโดยวิธีการตกลงร่วมกัน ซึ่งบุคคลนั้นจะถูกถือว่ามีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาเพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้

 

 

ข้อ 5

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะให้รวมถึง

 

                (ก)          สถานจัดการ

 

                (ข)          สาขา

 

                (ค)          สำนักงาน

 

                (ง)          โรงงาน

 

                (จ)          โรงช่าง

 

                (ฉ)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมัน หรือ บ่อก๊าซ บ่อหรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ

 

                (ช)          ที่ทำการเพาะปลูกหรือไร่สวน

 

                (ซ)          คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้าสำหรับ

                              บุคคลอื่น

 

3.             ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบหรือกิจกรรมตรวจควบคุมเกี่ยวกับการนั้นเป็นสถานประกอบการถาวร ถ้าที่ตั้ง โครงการ หรือกิจกรรมเช่นว่านั้นมีอยู่เกินกว่า 3 เดือน

 

4.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งถ้าวิสาหกิจนั้นให้บริการรวมถึงบริการให้คำปรึกษาผ่านลูกจ้างหรือพนักงานอื่น โดยมีเงื่อนไขว่ากิจกรรมเช่นว่านั้นดำเนินอยู่ (สำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องสองโครงการหรือมากกว่านั้น) เป็นระยะเวลาเดียวกันหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลาสิบสองเดือนใดๆ

 

5.             แม้จะมีบทบัญญัติวรรคก่อนของข้อนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" จะให้ถือว่าไม่รวมถึง

 

                (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาหรือการจัดแสดงของหรือ

                              สินค้าของวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บ

                              รักษาหรือการจัดแสดง

 

                (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจ

                              อื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้าหรือเพื่อการ

                              รวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมอื่นใดที่มีลักษณะเป็น

                              การเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบสำหรับวิสาหกิจนั้น

 

6.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และ วรรค 2 เมื่อบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 7 กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก ถ้าบุคคลนั้น

 

                (ก)          มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนาม

                              ของวิสาหกิจนั้น เว้นแต่กิจกรรมของบุคคลนั้นถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะกิจกรรมที่กล่าวถึงในวรรค 5

                              ถ้าได้กระทำผ่านสถานธุรกิจประจำจะไม่ทำให้สถานธุรกิจประจำนี้เป็นสถานประกอบการถาวรตาม

                              บทบัญญัติแห่งวรรคนี้

 

                (ข)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกซึ่งมูล

                              ภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น และดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือส่งมอบในนาม

                              วิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

                (ค)          ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น แต่ได้จัดหาคำสั่งซื้ออย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวว่าถึงรัฐ

                              แรกทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นซึ่งถูกควบคุม

                              โดยวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

7.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพียงเพราะว่าประกอบธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน

 

8.             เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรือถูกควบคุมโดยบริษัทซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011