เมนูปิด
Untitled Document

การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business)

 

               1. สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา
                   1.1 ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีถิ่นที่ตั้งในต่างประเทศสามารถประกอบธุรกิจในอีกประเทศได้อย่างสะดวกโดยผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การซื้อสินค้าและรับบริการจากผู้ประกอบการต่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันนั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดี ด้วยข้อกฎหมายปัจจุบันการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศดังกล่าวทำได้อย่างจำกัด อันส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในภาระภาษีระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ
                   1.2 ประมวลรัษฎากรกำหนดให้สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันกรมศุลกากรกำหนดให้ ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นอากร ตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ทำให้สินค้าที่นำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยในปัจจุบันการนำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท จากต่างประเทศทางไปรษณีย์นั้นเป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแม้ว่าจะขายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทก็ตาม

               2. ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย
                   เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการกับผู้ซื้อในประเทศไทยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ เป็นไปอย่างเหมาะสม ทั่วถึง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมกับรูปแบบของธุรกิจในปัจจุบัน

               3. หลักการอันเป็นสาระสำคัญ
                   3.1 กำหนดให้นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และในการประกอบกิจการนั้นมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ อันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทย เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรนั้น
                      (1) มีการใช้โดเมนท้องถิ่นของไทย
                      (2) มีการสร้างระบบการชำระเงินเป็นสกุลเงินไทยหรือมีการโอนเงินจากประเทศไทย
                      (3) กรณีอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

                   3.2 กำหนดให้นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการดังกล่าวอันเป็นเงินได้ประเภทค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ หรือประเภทที่จะได้กำหนดโดยกฎกระทรวง ให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 และนำส่งกรมสรรพากร
                   3.3 กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างหรือให้บริการโดย การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
                   3.4 กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ขายสินค้าไม่มีรูปร่างหรือให้บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของผู้อื่น กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันนั้นเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการดังกล่าว โดยต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการ และเมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการนั้น
                   3.5 กำหนดให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท

               4. ประเด็นที่จะขอรับฟังความคิดเห็น
               หลักการอันเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business)

               ในการนี้ กรมสรรพากรจึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 21-08-2017