เมนูปิด
Untitled Document

 

เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
(เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศ
ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล)

                   ด้วยกระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล)เนื่องจากปัจจุบันได้มีการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี กรณีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยกำหนดให้กิจการต้องกำหนดสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน และวัดผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินในสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลทำให้การจัดทำรายงานของประเทศไทยมีความเป็นสากล เพื่อให้การคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว และลดภาระต้นทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในการจัดทำรายงานทางการเงิน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สินและสินค้าที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

              1. สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา
                   สืบเนื่องจากประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน โดยกำหนดเงื่อนไขในการคำนวณเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และสินค้าซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ที่จะนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จะต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่กำหนด ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีไทย ฉบับที่ 21 ที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standards หรือ IFRS) ที่กำหนดให้กิจการต้องใช้สกุลเงินหลักที่ใช้ในการดำเนินงาน (Functional Currency หรือ FC) เป็นสกุลเงินที่ใช้บันทึกบัญชี ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ส่งเสริมให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับใช้มาตรฐานการบัญชีที่ปรับปรุงตาม IFRS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 อันเป็นการสร้างภาระให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งใช้สกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินหลักในการดำเนินกิจการ ทำให้งบการเงินไม่สอดคล้องและไม่สะท้อนผลการดำเนินการที่แท้จริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บันทึกบัญชีเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นสกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

               2. ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานั้น
                    เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สกุลเงินต่างประเทศ (FC) เป็นสกุลเงินหลักในการดำเนินงานและจัดทำบรรดาบัญชี หลักฐาน และเอกสารประกอบการลงบัญชี สามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศดังกล่าวในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยไม่ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินสกุลบาทก่อน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของบริษัทโดยการบันทึกบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับผลดำเนินงานที่แท้จริง อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มิได้ใช้เงินตราไทยเป็นสกุลเงินหลักในการดำเนินการ (FC)

               3. หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น

                    3.1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน หรือราคาทุนของสินค้าซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ดังนี้
                     (1) กรณีมีเงินตราหรือทรัพย์สินในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรืออัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และเมื่อใช้อัตราใดในการคำนวณแล้ว ให้ใช้อัตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
                     (2) กรณีมีหนี้สินในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรืออัตรา ถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และเมื่อใช้อัตราใดในการคำนวณแล้ว ให้ใช้อัตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
                     (3) กรณีมีเงินตราหรือทรัพย์สินที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
                     (4) กรณีราคาทุนของสินค้าให้คำนวณเป็นเงินตราไทยในวันที่ได้สินค้านั้นมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
                    3.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความประสงค์จะใช้เงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) อาจขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรก็ได้ และหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมีเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน หรือราคาทุนของสินค้าซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราอื่นที่มิใช่เงินตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) ดังนี้
                     (1) กรณีมีเงินตราหรือทรัพย์สินในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) ตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรืออัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และเมื่อใช้อัตราใดในการคำนวณแล้ว ให้ใช้อัตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
                     (2) กรณีมีหนี้สินในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) ตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรืออัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และเมื่อใช้อัตราใดในการคำนวณแล้ว ให้ใช้อัตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
                     (3) กรณีมีเงินตราหรือทรัพย์สิน ที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) ในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
                     (4) กรณีราคาทุนของสินค้า ให้คำนวณเป็นเงินตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) ในวันที่ได้สินค้านั้นมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
                     (5) กรณีธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินเป็นเงินตราที่เป็นเงินตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) ตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
                     (6) ในการยื่นรายการและการชำระภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในช่วงระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
                     (7) ในการยื่นรายการและการชำระภาษีภายใน 150 วันนับแต่สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่รอบระยะเวลาบัญชีใดซึ่งมีน้อยกว่า 12 เดือน ให้ให้คำนวณค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในช่วงระยะเวลาของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
                     (8) ผลขาดทุนหรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการใช้เงินตราต่างประเทศเป็นตราที่ใช้ในการดำเนินงาน (FC) ไม่ให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

               4. ประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น
               ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ วันที่ 28 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2560

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 21-08-2017