เมนูปิด
Untitled Document

 

การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business)
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ

 

               

                   ตามที่กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน - 11 กรกฎาคม 2560 ไปแล้ว นั้น
                   กรมสรรพากรได้นำผลจากการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในหลักการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ จึงเห็นควรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการให้บริการในต่างประเทศอีกครั้ง

               1. สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา

                   ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน การให้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถดำเนินการได้โดยง่าย ทำให้การให้บริการของผู้ประกอบการในต่างประเทศแก่ผู้รับบริการในประเทศไทยนั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีการชำระราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นใน ประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติผู้จ่ายเงินค่าบริการที่เป็นบุคคลธรรมดา ได้มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรณีการจ่ายค่าบริการสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีอย่างจำกัด สร้างความไม่เป็นธรรมในภาระภาษีระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ และส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ

               2. ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย

                   เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้ บริการนั้นในประเทศไทย มีประสิทธิภาพ เกิดความเหมาะสม และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสอดคล้องกับทิศทางการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีของ นานาประเทศ

               3. หลักการอันเป็นสาระสำคัญ

               (1) กำหนดให้ผู้จ่ายเงินค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหากผู้จ่ายเงินมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

               (2) กำหนดให้ผู้ประกอบการ ที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศแก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย หากมีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (เกินกว่าฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร) ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการดังกล่าวมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทแต่ประสงค์จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้สามารถขอจดทะเบียนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

               (3) กำหนดให้การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการต่างประเทศทำผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร

               (4) กำหนดให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด ดังนี้

                    (4.1) ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นการให้บริการแก่ผู้รับบริการ ในประเทศไทยที่มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย (วิธีการหนึ่งที่ต่างประเทศใช้ในการระบุว่าผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือการกำหนดให้ผู้รับบริการต้องแจ้งเลขทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศทราบก่อนชำระค่าบริการ)

                    (4.2) ให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิให้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการในประเทศไทย

                    (4.3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรและให้นำเงินส่งกรมสรรพากรผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

                    (4.4) ไม่สามารถนำภาษีซื้อที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศไทยเรียกเก็บมาหักออกจากภาษีขาย หรือขอคืนจากกรมสรรพากรได้

                    (4.5) ไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี

                    (4.6) มีหน้าที่จัดทำรายงานภาษีขายตามรูปแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (ไม่ต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ)

                    (4.7) ความผิดสำหรับการไม่จดทะเบียน การไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่นำส่งเงิน ส่งเงินไม่ครบถ้วนหรือทำความผิดในกรณีอื่นๆ ให้เสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและมีโทษปรับอาญาเช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วไป

               (5) กำหนดให้แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม รายงานภาษีขาย รวมถึงเอกสารอื่นที่กรมสรรพากรจัดทำหรือกำหนดให้จัดทำเพื่อใช้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ให้จัดทำเป็นภาษาอังกฤษ

               (6) กรณีผู้ประกอบการต่างประเทศได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการในประเทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ กำหนดให้รายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนั้นเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งหากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ทุกข้อ ให้ถือว่ารายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนั้นเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการต่างประเทศ

                    (6.1) มีการระบุในเอกสารที่ได้ออกให้แก่ผู้รับบริการว่าการให้บริการนี้เป็นการให้บริการของผู้ประกอบการต่างประเทศ (ไม่ใช่เป็นการให้บริการของดิจิทัลแพลตฟอร์ม)

                    (6.2) มีเอกสารสัญญาซึ่งได้มีการลงลายมือชื่อระหว่างผู้ประกอบการต่างประเทศกับดิจิทัลแพลตฟอร์มซึ่งในเอกสารสัญญาดังกล่าวได้มีข้อตกลงให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

                    (6.3) ดิจิทัลแพลตฟอร์มต้องมิได้เป็นผู้อนุมัติการเรียกเก็บค่าบริการกับผู้รับบริการ

                    (6.4) ดิจิทัลแพลตฟอร์มต้องมิได้เป็นผู้อนุมัติการส่งมอบบริการแก่ผู้รับบริการ้

                    (6.5) ดิจิทัลแพลตฟอร์มต้องมิได้เป็นผู้กำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขในการให้บริการ

                    ทั้งนี้ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม หมายถึง ตัวกลางที่เป็นช่องทาง ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการ เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และออนไลน์มาร์เก็ตเพลส

               (7) กำหนดให้ ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการได้นำส่งตามแบบ ภ.พ.36 สำหรับรายจ่ายค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ (รวมถึงการจ่ายให้แก่ดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ) ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้น เช่น มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท แล้วไม่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่นำส่งเงิน หรือนำส่งเงินไม่ครบถ้วน ภาษีซื้อดังกล่าวให้เป็นภาษีซื้อต้องห้ามและไม่สามารถนำภาษีซื้อนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

               (8) กำหนดให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               4. ประเด็นที่จะขอรับฟังความคิดเห็น

               หลักการอันเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ

               ในการนี้ กรมสรรพากรจึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561

 



 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2018