เมนูปิด
Untitled Document

 

เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.. ....
(เพื่อให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล)

 

               สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา

                   โดยที่มาตรฐานการบัญชีได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้กิจการที่มีธุรกรรมทางการเงินเป็นเงินตราต่างประเทศบางกรณีสามารถเลือกใช้สกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นสกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยได้ ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติจัดเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน สามารถแจ้งต่ออธิบดีเพื่อใช้เงินตราสกุลดังกล่าวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ได้ อันจะส่งผลเป็นการเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ลดต้นทุนของผู้ประกอบการและจูงใจให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและบริษัทการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

               ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานั้น

                   เพื่อให้การปฏิบัติจัดเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ของประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน อัตราแลกเปลี่ยนสำหรับการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สิน และวิธีการคำนวณ รวมทั้งการชำระภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานสามารถมีการดำเนินงานได้อย่างครบถ้วนในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นขั้นตอนการชำระภาษีที่กำหนดให้ใช้เงินตราไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

               หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น

               1.กำหนดวันใช้บังคับของพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)
               2. กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีเงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้
                   2.1 กรณีเงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ดังนี้
                       (1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (2) ให้เลือกใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรือวิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตราหรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และคำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรือวิธีการอื่นซึ่งสอดคล้องกับ หลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อใช้วิธีการใดแล้ว ให้ใช้วิธีการนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
                       (2) กรณีธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทย ตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
                   2.2 กรณีเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น (ร่างมาตรา 3 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 65 ทวิ (5))
               3. กำหนดหลักเกณฑ์การใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังนี้
                   3.1 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน สามารถแจ้งต่ออธิบดีเพื่อใช้เงินตราสกุลดังกล่าวในการจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย รวมถึงการคำนวณกำไรสุทธิหรือยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ และการคำนวณจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องเสียได้ และกำหนดให้การประเมินภาษีและการแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ต้องชำระเพิ่มเติม หรือได้รับคืน รวมทั้งการคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และการปฏิบัติการอื่นใดของเจ้าพนักงานประเมินกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ต้องดำเนินการโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 76 ตรี))
                   3.2 กำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และรายการอื่น ๆ ในงบการเงินในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 76 จัตวา))
                   3.3 กำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน โดยมิให้นำมาตรา 65 ทวิ (5) มาใช้บังคับ แต่ให้คำนวณตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
                       (1) การคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้เลือกใช้วิธีการคำนวณอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
                         (ก) ใช้อัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ แต่ในกรณีมีส่วนใดที่ไม่อาจคำนวณตามอัตราดังกล่าว ให้ขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อใช้อัตราอื่นเฉพาะส่วนนั้นได้
                         (ข) ใช้วิธีการอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
                       (2) การคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 76 เบญจ))
                   3.4 กำหนดการชำระภาษีและการคืนเงินภาษีในกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้ใช้เงินตราไทย โดยให้คำนวณค่าตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายก่อนวันชำระภาษีหรือก่อนวันที่ผู้มีอำนาจอนุมัติให้คืนเงินภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนตามความเป็นจริงในวันที่มีการชำระภาษีหรือได้รับคืนเงินภาษี (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 76 ฉ))
                   3.5 กำหนดให้ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือจากการคำนวณค่าของสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินตราไทยเพื่อชำระภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ไม่ให้นำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 76 สัตต))
               4. กำหนดให้บทบัญญัติมาตรา 3 และมาตรา 5 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้บังคับ (ร่างมาตรา 6)
               5. กำหนดให้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ยังค้างอยู่ (ร่างมาตรา 7)
               6. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

               ประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น
               ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 5 - 20 มิถุนายน 2561

 




 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 30-08-2018