เมนูปิด

อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

 

                มีความปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

บทที่  1

ขอบข่ายแห่งอนุสัญญา

 

 

ข้อ  1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ  2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับภาษีเก็บจากเงินได้ ที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ  โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่บังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น  หรือจากองค์ประกอบของเงินได้รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จาการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์  หรืออสังหาริมทรัพย์และภาษีที่เก็บจากจอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนทั้งสิ้นซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่าย  ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุนและจะถือเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.            ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งอนุสัญญานี้ใช้บังคับโดยเฉพาะได้แก่

 

               (ก)          ในกรณีประเทศไทย

 

                              -              ภาษีเงินได้  และ

 

                              -              ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                                             (ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า  “ภาษีไทย”)

 

               (ข)          ในกรณีประเทศปากีสถาน

 

                              -              ภาษีเงินได้

 

                              -              ภาษีเสริม   และ

 

                              -              ภาษีเพิ่ม

 

                                             (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า  “ภาษีปากีสถาน”)

 

4.             อนุสัญญานี้จะใช้บังคับกับภาษีใด ๆ  ที่มีลักษณะเหมือนกัน  หรือคล้ายคลึงกันในประการสำคัญซึ่งบังคับจัดเก็บภายหลังจากวันที่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้เป็นการเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษ๊ที่มีอยู่ในปัจจุบัน  ณ  วันสุดท้ายของแต่ละปีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำสัญญาจะแจ้งให้แก่กันและกันทราบถึงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ  ที่สำคัญซึ่งมีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

บทที่  2

บทนิยาม

 

 

ข้อ  3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             ในอนุสัญญานี้  เว้นแต่บริบทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

                (ก)          คำว่า  “ประเทศไทย”  หมายถึง  ราชอาณาจักรไทยและรวมถึงพื้นที่ใด ๆ  ซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย  ซึ่งตามกฎหมายไทยกำหนดไว้  หรืออาจจะกำหนดไว้ในภายหลังว่าเป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเล และใต้พื้นดินท้องทะเลและทรัพยากรธรรมชาติของตนในพื้นที่นั้น ๆ  ได้

 

                (ข)          คำว่า  “ประเทศปากีสถาน”  เมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์  หมายถึง  ประเทศปากีสถานที่นิยามไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน  และรวมถึงพื้นที่ใด ๆ  นอกน่านน้ำอาณาเขตของประเทศปากีสถาน  ซึ่งตามกฎหมายปากีสถานเป็นพื้นที่ซึ่งประเทศปากีสถานอาจใช้สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ฝิวดิน  และทรัพยากรธรรมชาติของตนในพื้นที่นั้น ๆได้

 

                (ค)          คำว่า  “รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง”  และ  “รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง”  หมายถึงประเทศไทยหรือประเทศปากีสถาน  แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ง)          คำว่า  “บริษัท”  หมายถึง  นิติบุคคลใด  หรือหน่วยงานใดซึ่งถือว่าเป็นนินิบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                (จ)          คำว่า  “เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ”  หมายถึง

 

                              (1)          ในประเทศไทย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

                              (2)          ในประเทศปากีสถาน  คณะกรรมการกลางรายได้

 

                (ฌ)         คำว่า  “วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจของรัฐผู้ทำ      สัญญาอีกรัฐหนึ่ง”  หมายถึง  วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยมีผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง  และวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยมีผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                (ญ)         คำว่า  “คนชาติ”  หมายถึง

 

                              (1)          บุคคลใดซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                              (2)          นิติบุคคล  ห้างหุ้นส่วน  และสมาคมใด ๆ  ที่มีสถานภาพนั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                (ฎ)          คำว่า  “บุคคล”  รวมถึง  บุคคลธรรมดา  บริษัท  ห้างหุ้นส่วน  ทรัสต์ 

และหน่วยอื่นใด  ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยหนึ่งเพื่อประโยชน์ในทางภาษี

 

                (ฏ)          คำว่า  “การจราจรระหว่างประเทศ”  หมายถึง  การขนส่งใด ๆ  ทางเรือหรือทางอากาศยาย  ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง  ยกเว้นในกรณีที่เรือหรืออากาศยานนั้นดำเนินการระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น

 

2.             ในการใช้บังคับอนุสัญญานี้  โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง  คำใด ๆ  ที่มิได้นิยามไว้เป็นอย่างอื่นจะมีความหมายซึ่งคำนั้น ๆ  มีอยู่ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานั้น  เว้นแต่บริบทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

 

 

ข้อ  4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้  คำว่า  “ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง”  หมายถึง  บุคคลใดซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่เสียภาษีในรัฐนั้น  โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา  ถิ่นที่อยู่  สถานจัดการสถานจดทะเบียนบริษัท  หรือโดยเกณฑ์อื่นใด  ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

 

2.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค  1  บุคคลธรรมดาใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้นผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ  ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวดังต่อไปนี้

 

                (ก)          จะถือว่าบุคคลธรรมดาผู้มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใด  เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น  ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ  จะถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีความสัมพ้นธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดที่สุด (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

               (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐผู้ทำสัญญา  ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญของบุคคลธรรมดาได้  หรือถ้าบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด  จะถือว่าบุคคลธรรมดามีที่อยุ่เป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

              (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ  หรือไม่มีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ  จะถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

 

              (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ  หรือมิได้เป็นตนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาสัญญาทั้งสองรัฐ  เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค  1  บุคคลที่มิใช่บุคคลธรรมดาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐ ผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ  จะกำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวตามกฎต่อไปนี้

 

               (ก)          จะถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนเป็นคนชาติ

 

               (ข)          ถ้ามิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ  จะถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานจัดการใหญ่ตั้งอยู่

 

 

 

ข้อ  5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้  คำว่า  “สถานประกอบการถาวร”  หมายถึง  สถานธุรกิจประจำ  ซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วน

 

2.             คำว่า  “สถานประกอบการถาวร”  จะรวมถึงโดยเฉพาะ

 

                (ก)          สถานจัดการ

 

                (ข)          สาขา

 

                (ค)          สำนักงาน

 

                (ง)          โรงงาน

 

                (จ)          โรงงานช่างฝีมือ

 

                (ฉ)          คลังสินค้า

 

                (ช)          ที่ทำการเพาะปลูก  เลี้ยงสัตว์  หรือไร่สวน

 

                (ซ)          เหมืองแร่  บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ  เหมืองหิน  หรือสถานที่อื่น ๆ  ที่ใช้ในการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

                (ฌ)         ที่ตั้งอาคาร  หรือโครงการก่อสร้าง  หรือโครงการประกอบ  หรือกิจกรรมการอำนวยการที่เกี่ยวข้องกันในกรณีซึ่งที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรมได้มีติดต่อกันในช่วงระยะเกินกว่า  183  วัน

 

                (ญ)         การจัดให้มีการบริการ  รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งโดยผ่านลูกจ้าง  หรือบุคคลอื่นในกรณีที่กิจกรรมนั้นได้มีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งในระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันแล้วเกิน  183  วัน  สำหรับโครงการเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน

 

                (ฎ)          สถานที่ถาวรสำหรับการแสดงสินค้า

 

3.             คำว่า  “สถานประกอบการถาวร”  จะไม่ถือว่ารวมถึง

 

                (ก)          การใช้เครื่องอกนวยความสะดวกเพียงเพื่อมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา  จัดแสดงหรือส่งมอบของหรือสินค้า  ซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้า  ซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา  จัดแสดงหรือส่งมอบ

 

                (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น  เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์แห่งการแปรรูปโดยอีกวิสาหกิจหนึ่ง

 

                (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อของหรือสินค้าหรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศให้กับวิสาหกิจนั้น

 

                (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา  การให้ข้อสนเทศการวิจัยทางวิทยาศาสตร์  หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน  ซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบให้กับวิสาหกิจนั้น

 

                (ฉ)          การมีสำนักงานหรือสถานประกอบการที่คล้ายคลึงกันโดยสำนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์หรือวารสารเป็นวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง   เฉพาะเพื่อรวบรวมและส่งข้อสนเทศไปยังรัฐนั้นในนามของวิสาหกิจนั้น  บัคคลผู้กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

4.             นอกเหนือไปจากนายหน้า  ตัวแทนที่ได้รับมอบหมายทั่วไป  หรือตัวแทนอื่น ๆ  ที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค  5  จะถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก  แต่มีเงื่อนไขว่า

               

                (ก)          บุคคลนั้นมีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐซึ่งอำนาจในการทeสัญญาในสามของวิสาหกิจนั้น  เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่าง ๆ บุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของ  หรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น  หรือ

 

                (ข)          บุคคลนั้นได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐแรกซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น  และดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือส่งมอบในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ  หรือ

 

                (ค)          บุคคลนั้นจัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐแรก  ซึ่งคำสั่งซื้อเพื่อขายของหรือสินค้า  จะโดยเฉพาะหรือเกือบจะโดยเฉพาะในนามของวิสาหกิจนั้นเอง  หรือในนามของวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นซึ่งอยู่ในความควบคุม  หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             วิสาหกิจจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง  เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น  โดยผ่านทางนายหน้า  ตัวแทนการค้าทั่วไป  หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ  ถ้าบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน  อย่างไรก็ดี  จะไม่ถือว่าตัวแทนการค้าทั่วไปหรือนายหน้าเช่นว่านั้นเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระตามความหมายของวรรคนี้ถ้าบุคคลดังกล่าวกระทำการจะโดยทั้งหมดหรือเกือบจะโดยทั้งหมดในนามของวิสาหกิจนั้นหรือกลุ่มวิสาหกิจซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น

 

6.             ข้อเท็จจริงที่ว่า  บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรับผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง  หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น  (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือผู้อื่น)  มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011