เมนูปิด

                 อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี
             เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร
                             ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิตาลี

 

               โดยปรารถนาที่จะทำอนุสัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อนและเพื่อป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้

 

               ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

หมวดที่ 1

ขอบข่ายแห่งอนุสัญญา

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

               อนุสัญญานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             อนุสัญญานี้จักใช้บังคับแก่ภาษีเก็บจากเงินได้ที่ตั้งบังคับในนามของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ หรือในนามของส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของแต่ละรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่ตั้งบังคับเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบทั้งหลายของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือน ซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่าย ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน จักถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งอนุสัญญานี้จักใช้บังคับโดยเฉพาะ ได้แก่

 

               ก.            ในกรณีของประเทศไทย

 

                              (1)          ภาษีเงินได้

 

                              (2)          ภาษีเงินได้น้ำมันปิโตรเลียม

 

                                             (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย" )

 

               ข.            ในกรณีประเทศอิตาลี

 

                              (1)          ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (imposta sul reddito delle persone fisiche);

 

                              (2)          ภาษีเงินได้นิติบุคคล (imposta sul reddito delle persone giuridiche);

 

                              (3)          ภาษีเงินได้ส่วนท้องถิ่น (imposta locale sui redditi);

แม้ว่าภาษีเหล่านี้จะเก็บโดยการหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ก็ตาม

 

                                             (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "ภาษีอิตาลี" )

 

4.             อนุสัญญานี้จักใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่เหมือนกันหรือในสาระสำคัญคล้ายคลึงกันซึ่งจะได้ตั้งบังคับเพิ่มเติมจากหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะได้แจ้งให้ทราบแก่กันและกันถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอาการของแต่ละรัฐ

 

 

หมวดที่2

บทนิยาม

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             ในอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

               ก)            คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึงราชอาณาจักรไทย

 

               ข)            คำว่า "ประเทศอิตาลี" หมายถึงสาธารณรัฐอิตาลี

 

               ค)            คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง ประเทศไทยหรืออิตาลี แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

               ง)            คำว่า "บุคคล" ประกอบด้วยบุคคลธรรมดาบริษัทคณะบุคคลและหน่วยใดๆ ซึ่งถือเป็นหน่วยที่เก็บภาษีได้ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด

 

               จ)            คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคลใดหรือหน่วยใดๆ ซึ่งได้รับการปฏิบัติอย่างนิติบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

               ฉ)           คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" และวิสาหกิจที่ประกอบโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

               ช)           คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึง

 

                             1.             ในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

                             2.             ในกรณีของประเทศอิตาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

2.             ในการที่รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งใช้บังคับอนุสัญญานี้ คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้เป็นอย่างอื่นจักมีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้น เกี่ยวกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4

ภูมิลำเนาเพื่อการรัษฎากร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นจำต้องเสียภาษีให้รัฐนั้น โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนาที่อยู่ สถานจัดการ หรือโดยเกณฑ์อื่นใดในทำนองเดียวกัน

 

2.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทของวรรค 1 บุคคลธรรมดาคนใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจักวินิจฉัยกรณีตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

 

               ก)            ให้ถือว่าบุคคลธรรมดาผู้มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้ง 2 รัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดที่สุด (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

               ข)            ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญของบุคคลธรรมดาได้ก็ดี หรือถ้าไม่มีที่อยู่ถาวรของบุคคลธรรมดาอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐก็ดี ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติ

 

               ค)            ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือไม่มีอยู่เลยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

 

               ง)            ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลใดที่มิใช่บุคคลธรรมดาเป็นผู้มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมด หรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการ" โดยเฉพาะจักรวมถึง

 

               (ก)          สถานจัดการ

 

               (ข)          สาขา

 

               (ค)          สำนักงาน

 

               (ง)          โรงงาน

 

               (จ)          โรงช่าง

 

               (ฉ)          เหมืองแร่ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นที่ใช้ในการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

3.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" จักไม่ถือว่ารวมถึง

 

               (ก)          การใช้เครื่องอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา หรือจัดแสดง หรือการส่งมอบของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจ

 

               (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษาการจัดแสดงหรือการส่งมอบ

 

               (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

               (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อของหรือสินค้า หรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศสำหรับวิสาหกิจ

 

               (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา เพื่อจัดหาข้อสนเทศ เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อกิจกรรมต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบของวิสาหกิจ

 

               (ฉ)          การประกอบการหรือการติดตั้งหรือการตั้งอุปกรณ์โรงงานหรือเครื่องจักรรวมถึงการก่อสร้างที่จำเป็นเพื่อการติดตั้งเช่นว่านั้น หากดำรงอยู่ไม่เกินกว่า 6 เดือน

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 3 อยู่ บุคคลที่กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง นอกเหนือไปจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5 จักถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของรัฐแรก ถ้า

 

               (ก)          บุคคลนั้นมีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญานั้นซึ่งอำนาจในการทำสัญญาเพื่อหรือในนามของวิสาหกิจ เว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่เพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจ หรือ

 

               (ข)          บุคคลนั้นได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญานั้นซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าที่เป็นของวิสาหกิจ และดำเนินการส่งมอบของสินค้าจากมูลภัณฑ์เพื่อหรือในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

               (ค)          บุคคลนั้นจัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญานั้นซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเอง หรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจักไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนค้าต่างทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ซึ่งบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน

 

6.             เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011