เมนูปิด

ประกาศ

 

            ใช้ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

            มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

 

            โดยที่ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเบลเยี่ยม เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงภาษีรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน ซึ่งได้ลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พุทธศักราช 2521 มีบทบัญญัติในข้อ 29 ว่า ความตกลงนี้จะเริ่มใช้บังคับเมื่อครบสามสิบวัน หลังจากวันที่มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร และโดยที่รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกันแล้ว ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2523

 

            ฉะนั้น ความตกลงฉบับนี้จึงเป็นอันใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2523 เป็นต้นไป

 

            ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2524 เป็นปีที่ 36 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี

 


ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเบลเยี่ยม
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรใน

ส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

 

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม

 

            มีความปรารถนาที่จะทำความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

            ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

บทที่ 1
ขอบข่ายแห่งความตกลง

ข้อ 1
ขอบข่ายด้านบุคคล

            ความตกลงนี้จะใช้บังคับกับบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2
 ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

1.             ความตกลงนี้จะใช้บังคับกับภาษีจากเก็บเงินได้และจากทุนที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐหรือในนามของส่วนราชการ หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของแต่ละรัฐโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่บังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้นจากทุนทั้งสิ้นหรือจากองค์ประกอบทั้งหลายของเงินได้หรือจากทุน รวมทั้งภาษีที่เก็บจากผลได้จากการจำหน่ายสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนทั้งสิ้นซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่ายตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุนจะถือว่าเป็นภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความตกลงนี้จะใช้บังคับ โดยเฉพาะได้แก่

 

                (ก)           ในประเทศเบลเยี่ยม

 

                               (1)           ภาษีเงินได้ส่วนบุคคล

 

                               (2)           ภาษีเงินได้บริษัท

 

                               (3)           ภาษีเงินได้เก็บจากนิติบุคคล

 

                               (4)           ภาษีเงินได้เก็บจากผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่

 

                               รวมทั้งส่วนที่ชำระล่วงหน้า เงินเพิ่มจากภาษีเหล่านี้และส่วนที่ชำระล่วงหน้า และการเก็บภาษีเงิน

                ได้ท้องถิ่นอันรวมอยู่ในภาษีเงินได้ส่วนบุคคล

 

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีเบลเยี่ยม")

 

                (ข)           ในประเทศไทย

 

                               (1)           ภาษีเงินได้

 

                               (2)           ภาษีบำรุงท้องที่

 

                               (3)           ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

4.             ความตกลงนี้จะใช้บังคับกับภาษีใดๆ ที่เก็บจากเงินได้และจากทุนดังที่ได้กล่าวไว้ในวรรค 2 ด้วย อันจะได้บังคับจัดเก็บเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด ภายหลังวันที่ได้ลงนามในความตกลงนี้แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะแจ้งให้ทราบแก่กันและกันถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

บทที่ 2
บทนิยาม

 

ข้อ 3
บทนิยามทั่วไป

1.             ในความตกลงนี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                (ก)           คำว่า "ประเทศเบลเยี่ยม" หมายถึงราชอาณาจักรเบลเยี่ยม และเมื่อใช้ใน ความหมายทาง

                               ภูมิศาสตร์รวมถึงพื้นที่ใดๆ ที่อยู่นอกอำนาจอธิปไตยของประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งตามกฎหมายเบล

                               เยี่ยมที่ว่าด้วยไหล่ทวีป และตามกฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดหรืออาจกำหนดในภายหลัง

                               ให้เป็นพื้นที่ซึ่งประเทศเบลเยี่ยมอาจใช้สิทธิที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินท้องทะเล

                               และทรัพยากรธรรมชาติของตนภายในพื้นที่นั้นๆ ได้

               

                (ข)           คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทยและพื้นที่ใดๆ ซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขต

                               ของราชอาณาจักรไทยซึ่งตามกฎหมายไทย และตามกฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดหรือ

                               อาจกำหนดในภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยอาจใช้สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดิน

                               ท้องทะเลและใต้พื้นดินท้องทะเล และทรัพยากรธรรมชาติของตนภายในพื้นที่นั้นๆ ได้

 

                (ค)           คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง ประเทศเบลเยี่ยมหรือ

                               ประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ง)           คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัทและคณะบุคคลอื่นใด

 

                (จ)           คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคลใด หรือหน่วยใด กลุ่มหรือคณะบุคคลใดซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคล

                               เพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษีของรัฐผู้ทำสัญญา ซึ่งบริษัทนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่

 

                (ฉ)           คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมาย

                               ถึง วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งและวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้

                               มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ตามลำดับ

 

                (ช)           คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                               (1)           บุคคลธรรมดาทั้งปวงที่มีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                               (2)           นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน และสมาคมทั้งปวงที่ได้รับสถานภาพของตนเช่นว่านั้นตาม

                                              กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                (ซ)           คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" รวมถึงการจราจรระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐ

                               หนึ่งในช่วงของการเดินทางซึ่งได้ขยายออกไปมากกว่าหนึ่งประเทศ

 

                (ฌ)           คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายถึง

 

                               (1)           ในกรณีของประเทศเบลเยี่ยม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้

                                              รับมอบอำนาจ

 

                               (2)           ในกรณีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้

                                              รับมอบอำนาจ

 

2.             ในการใช้บังคับความตกลงนี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้เป็นอย่างอื่น จะมีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นเกี่ยวกับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญานี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4
ภูมิลำเนาเพื่อการรัษฎากร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งความตกลงนี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึง บุคคลใดๆ ผู้ซึ่งมีเงินได้หรือทุน ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นต้องเสียภาษีให้รัฐนั้น โดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจัดการหรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คำนี้ไม่รวมถึงบุคคลใดๆ ผู้ต้องเสียภาษีให้รัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้จากแหล่งหรือทุนซึ่งมีอยู่ในรัฐนั้น

 

2.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะวินิจฉัยสถานภาพของบุคคลนั้นดังต่อไปนี้

 

                (ก)           จะถือว่าบุคคลธรรมดาผู้มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดเป็นผู้มีที่อยู่ในรัฐนั้น ถ้าบุคคลธรรมดา

                               มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีความ

                               สัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                (ข)           ถ้าไม่สามารถกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญของบุคคล

                               ธรรมดาได้ก็ดี หรือถ้าไม่มีที่อยู่ถาวรของบุคคลธรรมดาอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐก็ดี จะถือว่า

                               บุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

                (ค)           ถ้าบุคคลธรรมดาที่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือไม่มีอยู่เลยในรัฐผู้ทำ

                               สัญญาทั้งสองรัฐ จะถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนเป็นคนชาติ

 

                (ง)           ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ทำ

                               สัญญาทั้งสองรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาจะแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

 

3.             ถ้าโดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บริษัทใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ จะถือว่าบริษัทนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่บริษัทนั้นได้ก่อตั้งขึ้น หรือได้สถานภาพเป็นบริษัทตามกฎหมายของรัฐนั้น ถ้าตามหลักเกณฑ์เช่นว่านี้บริษัทนั้นยังคงเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐอยู่อีก จะถือว่าบริษัทนั้นเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่บริษัทนั้นมีสถานจัดการใหญ่ตั้งอยู่

 

 

ข้อ 5
สถานประกอบการถาวร

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งความตกลงนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะจะรวมถึง

 

                (ก)           สถานจัดการ

 

                (ข)           สาขา

 

                (ค)           สำนักงาน

 

                (ง)           โรงงาน

 

                (จ)           โรงช่าง

 

                (ฉ)           คลังสินค้า

 

                (ช)           เหมืองแร่ เหมืองหิน บ่อน้ำมัน หรือบ่อก๊าซ หรือสถานที่อื่นที่ใช้ในการขุดทรัพย์ธรรมชาติ

 

                (ซ)           สถานที่ตั้งของอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง หรือโครงการประกอบ ซึ่งมีอยู่เกินกว่า 6 เดือน

 

3.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" จะไม่ถือว่ารวมถึง

 

                (ก)           การใช้เครื่องอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา การจัดแสดงหรือการส่ง

                               มอบของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ใน

                               การเก็บรักษา การจัดแสดง หรือการส่งมอบ

 

                (ค)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์แห่ง

                               การแปรรูปโดยอีกวิสาหกิจหนึ่ง

 

                (ง)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อของ หรือสินค้า หรือเพื่อรวบรวม

                               ข้อสนเทศสำหรับวิสาหกิจนั้น

 

                (จ)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา เพื่อให้ข้อสนเทศเพื่อการวิจัย

                               ทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อกิจกรรมต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการ หรือเป็น

                               ส่วนประกอบของวิสาหกิจ

 

4.             บุคคลที่กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจ ของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนอกจากนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5 จะถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของรัฐแรก แต่โดยมีเงื่อนไขว่า

 

                (ก)           บุคคลนั้นมีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาเพื่อหรือ

                               ในนามของวิสาหกิจนั้น เว้นไว้แต่กิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่เพียงการซื้อของหรือสินค้า

                               เพื่อวิสาหกิจนั้น หรือ

 

                (ข)           บุคคลนั้นได้เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรกนั้น ซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือ

                               สินค้าที่เป็นของวิสาหกิจนั้น และส่งมอบของ หรือสินค้าจากมูลภัณฑ์นั้นเพื่อหรือในนามของ

                               วิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

                (ค)           บุคคลนั้นจัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรกนั้นซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมด หรือเกือบ

                               ทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเองหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของ

                               วิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

5.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวร ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าบุคคลเช่นว่านั้น ได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตน แต่จะไม่ใช้บังคับถ้านายหน้าหรือตัวแทนเช่นว่านั้น ได้ประกอบกิจกรรมในอีกรัฐหนึ่งนั้น ตามที่กำหนดไว้ในวรรค 4 ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเอง หรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้นหรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น

 

6.             ไม่ว่าบทบัญญัติ ของวรรค 4 และ 5 จะกล่าวไว้อย่างไรก็ตาม จะถือว่าวิสาหกิจประกันภัยของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีสถานประกอบการถาวรในอีกรัฐหนึ่ง ถ้าหากว่าวิสาหกิจนั้นได้เก็บเบี้ยประกันในอีกรัฐหนึ่งนั้น หรือประกันการเสี่ยงภัยที่มีอยู่ ณ ที่นั้นผ่านตัวแทนดังที่ได้กล่าวถึงในวรรค 4 หรือตัวแทนที่มีสถานภาพ เป็นอิสระผู้มีและใช้อำนาจนั้นเป็นปกติวิสัยในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น

 

7.             ข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011