เมนูปิด

เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. ....

 

               สภาพปัญหาและความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานั้น

                   โดยที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ในการป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

               หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น
               ๑. การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ
               กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจสั่งให้บุคคลรวบรวมและนำส่งข้อมูลของตนเองหรือของผู้อื่นที่อยู่ในการครอบครองหรือการควบคุมของตน ตามที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา โดยไม่คำนึงว่าข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ก็ตาม และให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวตามที่ได้รับคำร้องขอตามมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอจากคู่สัญญาตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (DTA) และความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (MAC)
               ๒. การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ
                     ๒.๑ กำหนดนิยามของ “ผู้มีหน้าที่รายงาน” ให้หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่รวมถึงสาขาของนิติบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในต่างประเทศ หรือสาขาของนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
                         (๑) ประกอบกิจการรับฝากเงินเป็นธุรกรรมปกติในลักษณะของธุรกิจการธนาคาร หรือธุรกิจอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน รวมถึงการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
                         (๒) ประกอบกิจการรับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน และมียอดรายได้รวมจากการถือสินทรัพย์ทางการเงินและการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละยี่สิบของรายได้ของนิติบุคคลนั้นทั้งหมด ในช่วงระยะเวลา ดังต่อไปนี้
                             (ก) ในช่วงระยะเวลาสามปีปฏิทินที่สิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม หรือวันสิ้นสุดอื่นใดในกรณีรอบระยะเวลาบัญชีไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน ในปีก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน ในกรณีจัดตั้งมาแล้วตั้งแต่สามปีขึ้นไปก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน หรือ
                             (ข) ในช่วงระยะเวลาที่นิติบุคคลได้มีการจัดตั้งขึ้นก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน ในกรณีที่จัดตั้งมาแล้วไม่เกินสามปีก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน
                         (๓) ประกอบกิจการทำธุรกรรมหรือดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อหรือแทนลูกค้าในธุรกรรมใดธุรกรรมหนึ่ง หรือมากกว่า ดังต่อไปนี้
                             (ก) ซื้อขายตราสารทางการเงินใด ๆ การปริวรรตเงินตราต่างประเทศ การซื้อขายเครื่องมือทางการเงินเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและดัชนีประเภทต่าง ๆ การซื้อขายหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
                             (ข) บริหารจัดการการลงทุนแบบรายบุคคลหรือแบบรวมกลุ่ม หรือ
                             (ค) ลงทุน บริหารจัดการ บริหารกองทุน หรือบริหารเงิน แทนบุคคลอื่น นอกเหนือจากกรณีตาม (ข) และ
                         มีรายได้รวมจากการประกอบกิจการดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕0 ของรายได้ของนิติบุคคลนั้นทั้งหมด ในช่วงระยะเวลา ดังต่อไปนี้
                             (ก) ในช่วงระยะเวลาสามปีปฏิทินที่สิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม หรือวันสิ้นสุดอื่นใดในกรณีรอบระยะเวลาบัญชีไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน ในปีก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน ในกรณีจัดตั้งมาแล้วตั้งแต่สามปีขึ้นไปก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน หรือ
                             (ข) ในช่วงระยะเวลาที่นิติบุคคลได้มีการจัดตั้งขึ้นก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน ในกรณีที่จัดตั้งมาแล้วไม่เกินสามปีก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน
                         (๔) เป็นบริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิตที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยที่มีมูลค่าเงินสดหรือกรมธรรม์ประกันภัยแบบเงินรายปี ที่มีลักษณะตามบัญชีทางการเงินที่กำหนดในกฎกระทรวง
                         (๕) ในกรณีที่นิติบุคคลถูกบริหารจัดการโดยนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นนิติบุคคลซึ่งมีลักษณะตาม (๑) (๒) (๓) วรรคหนึ่ง หรือ (๔) มีรายได้รวมจากการลงทุน การลงทุนต่อ หรือการซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงิน ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของรายได้ของนิติบุคคลนั้นทั้งหมด ในช่วงระยะเวลา ดังต่อไปนี้
                             (ก) ในช่วงระยะเวลาสามปีปฏิทินที่สิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม หรือวันสิ้นสุดอื่นใดในกรณีรอบระยะเวลาบัญชีไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน ในปีก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน ในกรณีจัดตั้งมาแล้วตั้งแต่สามปีขึ้นไปก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน หรือ
                             (ข) ในช่วงระยะเวลาที่นิติบุคคลได้มีการจัดตั้งขึ้นก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน ในกรณีที่จัดตั้งมาแล้วไม่เกินสามปีก่อนที่จะพิจารณาการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน
                         ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่รายงานในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้หมายความรวมถึง นิติบุคคลที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                     ๒.๒. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานจัดให้ลูกค้าหรือผู้ใช้อำนาจควบคุมของลูกค้าที่เปิดหรือมีบัญชีทางการเงินกับผู้มีหน้าที่รายงาน แสดงตนตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
                     ๒.๓. กำหนดให้ลูกค้าของผู้มีหน้าที่รายงานหรือผู้ใช้อำนาจควบคุมของลูกค้าของ ผู้มีหน้าที่รายงาน แจ้งข้อความในการแสดงตนโดยถูกต้องและครบถ้วน
                     ๒.๔. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานมีหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบัญชีทางการเงินที่ตนเก็บรักษาของลูกค้า เพื่อบ่งชี้บัญชีทางการเงินของผู้ที่ต้องถูกรายงาน
                     ๒.๕. กำหนดให้เมื่อผู้มีหน้าที่รายงานได้ดำเนินการตาม ๒.๒ และ ๒.๔ แล้ว ปรากฏว่า มีบัญชีทางการเงินที่ถือโดยลูกค้าที่เป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน หรือโดยลูกค้าที่มีผู้ใช้อำนาจควบคุมเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้มีหน้าที่รายงานรายงานข้อมูลที่ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ
                     ๒.๖. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานเก็บรักษาข้อมูลและเอกสารหลักฐานใด ๆ ในการดำเนินการตามมาตรา ๒.๒ ๒.๔ และ ๒.๕ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาที่ผู้มีหน้าที่รายงานต้องดำเนินการตาม ๒.๒
                     ๒.๗. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานจะแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการตาม ๒.๒ ๒.๔ ๒.๕ และ/หรือ ๒.๖ ก็ได้
                     ๒.๘. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลตาม ๒. แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาตามระยะเวลาและวิธีการที่กำหนดในความตกลงแบบทวิภาคี (Competent Authority Agreement : CAA) หรือพหุภาคี (Multilateral Competent Authority Agreement : MCAA) ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตาม DTA หรือ MAC ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างประเทศที่กำหนดกรอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตาม Common Reporting Standard (CRS)
                     ๒.๙. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจออกคำสั่งให้กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงานของผู้มีหน้าที่รายงาน พยาน หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีหน้าที่รายงาน มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจง หรือส่งบัญชี บัญชีทางการเงิน เอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ อันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติ
                     ๒.๑๐. กำหนดให้ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่า ผู้มีหน้าที่รายงานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดข้างต้น หรือปฏิบัติตามแต่ข้อมูลที่รายงานไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่รายงานนั้น ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือปฏิบัติ หรือแก้ไขให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
               ๓. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามสัญญา แก่เจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรหรือหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ ตามความที่กำหนดในความตกลง แล้วแต่กรณี
               ๔. กำหนดให้บรรดาเอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีถึง ผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลนั้น ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และอยู่หรือทำงานในบ้าน หรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้
               กรณีไม่สามารถส่งตามวิธีในวรรคหนึ่งได้ หรือบุคคลนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ใช้วิธีปิดเอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นแล้วแต่กรณีในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลนั้น หรือบ้านที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้าย หรือโฆษณาข้อความย่อในหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายเป็นปกติในท้องที่นั้นก็ได้
               ๕. กำหนดให้บรรดาเอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต้องใช้ ในการติดต่อกับผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลใด หรือที่ผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ อาจกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
               ๖. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่ให้ใช้บังคับกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐
               ๗. กำหนดบทกำหนดโทษกรณี ดังต่อไปนี้
                     ๗.๑ ผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลใด โดยปราศจากเหตุอันสมควร ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง
                     ๗.๒ ผู้ใดโดยเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง ตาม ๑. ๒.๓ ๒.๕ และ ๒.๙ ต้องระวางโทษปรับทางอาญา
                     ๗.๓ ผู้มีหน้าที่รายงานไม่ปฏิบัติตาม ๒.๖ ต้องระวางโทษปรับทางปกครอง
                     ๗.๔ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลอันเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่กฎหมายอื่นบัญญัติ ต้องระวางโทษทางอาญา
                     ๗.๕ ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ตนเองหรือลูกค้าไม่ต้องทำหน้าที่รายงานบัญชีทางการเงิน ต้องระวางโทษปรับทางอาญา

 

ปรับปรุงล่าสุด: 06-04-2021