เมนูปิด

เปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อ
การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information: MCAA CRS)

                Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) คือ กรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD) 
ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2560 และต้องดำเนินการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยการขยายเครือข่ายประเทศคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และต้องเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด เรียกว่า Common Reporting Standard (CRS) ในเดือนกันยายน ปี 2566
                 การดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด ประเทศไทยต้องดำเนินการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information: MCAA CRS) ซึ่งเป็นความตกลงย่อยภายใต้ความตกลง MAC ที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศภาคีตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตามมาตรฐาน CRS มีประเทศเริ่มลงนามเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีภาคีทั้งหมด 110 ประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้ลงนามในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยตามความตกลง MAC 
โดยการดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าวนั้น จะเป็นการยกระดับการดำเนินการด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อยกระดับความโปร่งใสทางภาษีของประเทศไทย 
              ทั้งนี้ ความตกลง MCAA CRS เป็นหนังสือสัญญาที่มีลักษณะตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร จึงได้ดำเนินการเสนอเรื่องการเข้าเป็นภาคีดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาในลำดับต่อไป พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างกฎหมายรองรับการดำเนินการตามความตกลงดังกล่าว
              การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งนี้ เป็นส่วนหนี่งของกระบวนการนำเสนอร่างความตกลง MCAA CRS ให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาให้ความเห็นชอบ โดยภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็น กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรจะดำเนินการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นภาคีดังกล่าว และจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ระหว่างวันที่ 5 เมษายน 2564 ถึง 9 เมษายน 2564

หลักการอันเป็นสาระสำคัญของความตกลง


               ความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงิน
แบบอัตโนมัติ (ความตกลงฯ) เป็นความตกลงภายใต้ “ข้อ 6 การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ” ของความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (ความตกลง MAC) มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการหลบหลีกและหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี โดยกำหนดกรอบการดำเนินการและรายละเอียดเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตาม Common Reporting Standard (CRS) ที่ OECD กำหนด โดยความตกลงดังกล่าว ประกอบด้วย 8 มาตรา สรุปหลักการได้ดังนี้
             (1)    เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติรายปีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ 
โดยสามารถเลือกได้ ๒ รูปแบบ ได้แก่
                (๑.๑) ส่งข้อมูลให้ประเทศคู่สัญญาเท่านั้น และไม่รับข้อมูลจากประเทศคู่สัญญา (Non-reciprocal) ซึ่งหากเลือกรูปแบบนี้ จะต้องแจ้งความประสงค์ไว้ในภาคผนวก ก ของความตกลงฯ (Annex A)
                (๑.๒) ส่งและรับข้อมูลแบบต่างตอบแทนกับประเทศคู่สัญญา (Reciprocal) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ประเทศภาคีส่วนใหญ่เลือกใช้
            (2)    ข้อมูลที่ต้องแลกเปลี่ยนสำหรับบัญชีทางการเงินที่เข้าข่ายต้องรายงาน ได้แก่
                (๒.๑) ข้อมูลที่ต้องรายงานสำหรับบัญชีทุกประเภท ได้แก่ 
                      - ข้อมูลเจ้าของบัญชี ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี วันที่และสถานที่เกิด (กรณีบุคคลธรรมดา)
                      - เลขที่บัญชี
                      - ข้อมูลผู้มีหน้าที่รายงาน ได้แก่ ชื่อ และเลขที่ระบุตัวตน
                      - ยอดคงเหลือหรือมูลค่าในบัญชี ณ วันสิ้นปีปฏิทินหรือวันที่ปิดบัญชี
               (๒.๒) ข้อมูลที่ต้องรายงานสำหรับบัญชีรับฝากเงิน ได้แก่ จำนวนดอกเบี้ยรับระหว่างปีทั้งหมด
               (๒.๓) ข้อมูลที่ต้องรายงานสำหรับบัญชีรับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน ได้แก่ ยอดรวมดอกเบี้ยรับและเงินปันผลรับระหว่างปีทั้งหมด รวมถึงเงินได้จากการขายหรือไถ่ถอนสินทรัพย์
               (๒.๔) ข้อมูลที่ต้องรายงานสำหรับบัญชีทางการเงินประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจาก (๒.๒) และ (๒.๓) ได้แก่ ยอดรวมรายรับตลอดทั้งปี และเงินได้จากการไถ่ถอนบัญชี
           (3)    ระยะเวลาการแลกเปลี่ยน คือ เริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลในปีที่จะกำหนด ในภาคผนวก ฉ ของความตกลงฯ (Annex F) ภายในระยะเวลา ๙ เดือน หลังจากสิ้นปีปฏิทินที่เก็บข้อมูล โดย Global Forum กำหนดให้ประเทศไทยต้องเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในเดือนกันยายน ปี 2566
ดังนั้น ปีปฏิทินที่ผู้มีหน้าที่รายงานต้องเก็บข้อมูล คือ ปี 2565 ทั้งนี้ ภาคผนวก ฉ เป็นภาคผนวกรายการเดียวที่ต้องยื่นเอกสารพร้อมกับการลงนามเข้าเป็นภาคีในความตกลงฯ (สำหรับภาคผนวกอื่น ๆ สามารถยื่นเอกสารในขั้นตอนการแสดงเจตนาให้ความตกลงฯ มีผลผูกพัน) 
          (4)    รูปแบบในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ได้แก่ รูปแบบไฟล์มาตรฐานที่กำหนดขึ้น โดยใช้ภาษา XML (Extensible Markup Language) ทั้งนี้ จะต้องมีการตกลงกันเรื่องวิธีการรับ - ส่งข้อมูลพร้อมทั้งวิธีการเข้ารหัสข้อมูลตามที่มาตรฐานกำหนด และระบุวิธีการไว้ในภาคผนวก ข ของความตกลงฯ (Annex B)
          (5)    กรณีเกิดข้อผิดพลาดในการส่งข้อมูลให้ประเทศคู่สัญญา หรือผู้มีหน้าที่รายงาน
ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการรายงานหรือการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต้องแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศคู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบจากข้อผิดพลาดดังกล่าว
          (6)    การรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี โดยข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยน จะต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีเท่านั้น และเมื่อเกิดการฝ่าฝืนหรือข้อผิดพลาดในการรักษาความลับของข้อมูล รวมถึงการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือการลงโทษที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องแจ้งเลขาธิการผู้ประสานงาน (Coordinating Body Secretariat) ทันที ซึ่งในที่นี้ คือ OECD
          (7)    กรณีพบว่าประเทศคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามความตกลงฯ อย่างมีนัยสำคัญ เช่น ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล ไม่จัดส่งข้อมูลที่ครบถ้วนและภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือกำหนดผู้ไม่มีหน้าที่รายงานและบัญชีทางการเงินที่ไม่ต้องรายงาน 
ไม่สอดคล้องกับหลักการตามมาตรฐาน CRS เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสามารถแจ้งระงับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศคู่สัญญาได้
          (8)    ความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแจ้งต่อ OECD เพื่อแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสามารถยกเลิกการเป็นภาคีในความตกลงฯ หรือยกเลิกการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศคู่สัญญาใด ๆ โดยแจ้งไปยัง OECD และการยกเลิกสัญญาจะมีผลเมื่อสิ้นระยะเวลา 12 เดือน ภายหลังจากการแจ้งดังกล่าว
         (9)    ประเทศภาคีจะต้องชำระค่าดำเนินการตามความตกลงฯ เป็นรายปี โดยประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 บาทต่อปี

จำนวนผู้เยี่ยมชม
MCAA CRS

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-05-2021