เมนูปิด

การรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศ
แบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on the 
Exchange of Country-by-Country Reports: MCAA CbCR)

                      Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) คือ กรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกัน  การโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 กรอบความร่วมมือดังกล่าวกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Standards) ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานตามปฏิบัติการที่ 13 เรื่องการรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Reporting: CbCR)
                     

                     การดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด ประเทศไทยต้องดำเนินการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: MCAA CbCR) ซึ่งเป็นความตกลงย่อยภายใต้ความตกลง MAC ที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศภาคีตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศ โดยมีประเทศเริ่มลงนามเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมีภาคีทั้งหมด 89 ประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้ลงนามในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยตามความตกลง MCAA CbCR โดยการดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าวนั้น จะเป็นการยกระดับการดำเนินการด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อยกระดับความโปร่งใสทางภาษีของประเทศไทย
                     

                    ทั้งนี้ ความตกลง MCAA CbCR เป็นหนังสือสัญญาที่มีลักษณะตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง โดยที่มาตรา 178 วรรคสี่ กำหนดให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาดังกล่าว
การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนำเสนอร่างความตกลง MCAA CbCR ให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็น กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรจะดำเนินการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นภาคีดังกล่าว และจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

การเข้าร่วมเป็นภาคี
ความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศ 
(Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange 
of Country-by-Country Reports: MCAA CbCR)

                     ความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศ (ความตกลงฯ) เป็นความตกลงภายใต้ “ข้อ 6 การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ” ของความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (ความตกลง MAC) มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการหลบหลีกและหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี โดยกำหนดกรอบการดำเนินการและรายละเอียดเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศตามที่ OECD กำหนด โดยความตกลงดังกล่าว ประกอบด้วย 9 มาตรา สรุปหลักการได้ดังนี้
           (1) บทนิยามและความหมายที่เกี่ยวข้องของ รัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ กลุ่มกิจการ กลุ่มกิจการข้ามชาติ กลุ่มกิจการข้ามชาติที่ไม่มีหน้าที่รายงาน หน่วยธุรกิจ หน่วยธุรกิจที่มีหน้าที่รายงาน รายงาน CbC รายงานปี 2558 ผู้ประสานงาน เลขาธิการผู้ประสานงาน และความตกลงมีผลบังคับใช้
           (2) เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติรายปีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ โดยสามารถเลือกได้ ๒ รูปแบบ ได้แก่
                 (2.1) ส่งข้อมูลให้ประเทศคู่สัญญาเท่านั้น และไม่รับข้อมูลจากประเทศคู่สัญญา (Non-reciprocal) 
                 (2.2) ส่งและรับข้อมูลแบบต่างตอบแทนกับประเทศคู่สัญญา (Reciprocal) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ประเทศภาคีส่วนใหญ่เลือกใช้
           (3) เวลาและลักษณะของการแลกเปลี่ยนข้อมูล
                 (3.1) ระบุสกุลเงินของจำนวนเงิน
                 (3.2) เริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในระยะเวลา 18 เดือนหลังจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่ MCAA CbCR และกฎหมายที่กำหนดให้มีการยื่นรายงาน CbCR มีผลบังคับใช้
                 (3.3) รูปแบบในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ได้แก่ รูปแบบไฟล์มาตรฐานที่กำหนดขึ้น โดยใช้ภาษา XML (Extensible Markup Language)
           (4) กรณีเกิดข้อผิดพลาดในการส่งข้อมูลให้ประเทศคู่สัญญา หรือผู้มีหน้าที่รายงานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการรายงานข้อมูล เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต้องใช้มาตรการภายใต้กฎหมายภายในจัดการข้อผิดพลาดหรือการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว
           (5) การรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในความตกลง MAC โดยข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยน จะต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงระดับสูงของการกำหนดราคาโอน และการกัดกร่อนฐานภาษีและโยกย้ายกำไรอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงดังกล่าว โดยข้อมูลจะต้องไม่ถูกนำไปใช้แทนการวิเคราะห์การกำหนดราคาโอนอย่างละเอียดของธุรกรรมแต่ละรายการและราคา และเมื่อเกิดการฝ่าฝืนหรือข้อผิดพลาดในการรักษาความลับของข้อมูล รวมถึงการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือการลงโทษที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องแจ้งเลขาธิการผู้ประสานงาน (Coordinating Body Secretariate) ทันที ซึ่งในที่นี้ คือ OECD
           (6) กรณีมีประเด็นต้องหารือเพิ่มเติมที่กระทบต่อเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจฝ่ายที่ได้รับผลกระทบต้องหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอีกฝ่ายเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และในกรณีเกิดปัญหาในการใช้บังคับและการตีความความตกลง MCAA CbCR เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอาจขอหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอีกฝ่ายหรือหลายฝ่าย เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการปฏิบัติตามความตกลง MCAA CbCR
           (7) ความตกลง MCAA CbCR อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยการตกลงแบบฉันทามติของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทั้งหมด
           (8) วันที่จัดทำความตกลง MCAA CbCR หรือหลังจากนั้นทันทีที่สามารถกระทำได้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องทำหนังสือแจ้งเลขาธิการผู้ประสานงาน ความตกลง MCAA CbCR จะมีผลใช้บังคับระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสองฝ่ายในวันต่อไปนี้ แล้วแต่ว่าวันใดมาถึงทีหลัง ๑) วันที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจฝ่ายที่สองในสองฝ่ายนั้นได้แจ้งต่อเลขาธิการผู้ประสานงาน ๒) วันที่ความตกลง MAC มีผลบังคับใช้ทั้งสองรัฐ ในกรณีพบว่าประเทศคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามความตกลง MCAA CbCR อย่างมีนัยสำคัญ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสามารถแจ้งระงับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นการชั่วคราวกับประเทศคู่สัญญาได้ และเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสามารถยกเลิกการเป็นภาคีในความตกลงฯ หรือยกเลิกการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศคู่สัญญาใด ๆ โดยแจ้งไปยัง OECD และการยกเลิกสัญญาจะมีผลเมื่อสิ้นระยะเวลา 12 เดือน ภายหลังจากการแจ้งดังกล่าว
           (9) เลขาธิการผู้ประสานงานจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายทราบถึงการแจ้งใด ๆ ที่ได้รับภายใต้ความตกลง MCAA CbCR และจะแจ้งให้ผู้ลงนามทั้งหมดในความตกลง MCAA CbCR ทราบ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรายใหม่เข้าลงนามในความตกลง MCAA CbCR
                  สำหรับค่าดำเนินการตามความตกลงฯ ประเทศภาคีจะต้องชำระเป็นรายปี โดยประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 บาทต่อปี

จำนวนผู้เยี่ยมชม
web counter

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-05-2021