เมนูปิด

ข้อ 21
เงินบำนาญส่วนบุคคล และเงินรายปี

 

                เงินได้ในลักษณะของเงินบำนาญหรือเงินค่าตอบแทนอื่นๆ สำหรับการทำงานในอดีตจากแหล่งที่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง และจ่ายให้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง อาจเก็บภาษีได้ในรัฐแรก

 

ข้อ 22
การปรึกษาหารือ

 

1.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญา อาจติดต่อกันโดยตรงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการปฏิบัติตามบทแห่งอนุสัญญานี้ ถ้ามีข้อยุ่งยากหรือข้อสงสัยใดๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับการตีความ หรือการใช้อนุสัญญานี้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะพยายามที่จะระงับปัญหาโดยเร็วเท่าที่ พึงทำได้โดยความตกลงร่วมกัน

 

2.             โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญา ทั้งสองรัฐบาลอาจปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อพยายามที่จะตกลง

 

                (ก)           เกี่ยวกับแบ่งส่วนทำนองเดียวกันกับกำไรจากอุตสาหกรรม หรือการพาณิชย์ ระหว่างผู้มีถิ่นที่อยู่

                               ในหรือบรรษัทของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งกับสถานประกอบการถาวรของตนที่ตั้งอยู่ในรัฐผู้ทำ

                               สัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

                (ข)           เกี่ยวกับการแบ่งสรรทำนองเดียวกันกับเงินรายได้ระหว่างผู้มีถิ่นที่อยู่ในหรือบรรษัทของรัฐผู้ทำ

                               สัญญารัฐหนึ่งกับบุคคลที่สัมพันธ์กันตามที่ระบุไว้ในข้อ 10

 

                 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตกลงกันได้ดังกล่าว ในรัฐผู้ทำสัญญาตั้งบังคับเก็บภาษีจากเงินได้นั้น และยอมคืนเงินให้เครดิตภาษีตามข้อตกลงดังกล่าว

 

ข้อ 23
การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ

 

1.             ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง แลกเปลี่ยนข้อสนเทศที่จำเป็นแก่การปฏิบัติการตามบทของอนุสัญญานี้ หรือเพื่อป้องกันการทุจริต หรือการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งเป็นประเด็นแห่งอนุสัญญานี้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

2.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาที่ได้รับคำขอข้อสนเทศ ต้องไม่แลกเปลี่ยนข้อสนเทศใดๆ หากข้อสนเทศดังกล่าวมิอาจหามาได้ตามกฎหมายภาษีอากรและระเบียบการบริหารของรัฐนั้น หรือการให้ข้อสนเทศนั้นที่จะเปิดเผยความลับทางการพาณิชย์ ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือวิชาชีพ

 

3.             ข้อสนเทศใดๆ ที่แลกเปลี่ยนกันต้องถือเป็นความลับ แต่อาจเปิดเผยแก่บุคคล (รวมทั้งศาลยุติธรรมหรือองค์การบริหาร) ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภาษี การจัดเก็บภาษี การเร่งรัด หรือบังคับภาษีซึ่งเป็นประเด็นของอนุสัญญานี้

 

4.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญา จะแจ้งให้ทราบแก่กัน หากมีการแก้ไขกฎหมาย ภาษีอากร ตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 (1) และการบัญญัติเแลกเปลี่ยนข้อความที่แก้ไขหรือบทบัญญัติใหม่อย่างน้อยปีละครั้ง

 

ข้อ 24
ความช่วยเหลือในการจัดเก็บ

 

1.             รัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐจะต้องพยายามจัดเก็บภาษีใดๆ ที่รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตั้งบังคับเพื่อประกันว่าข้อยกเว้น หรือการลดอัตราภาษีใดๆที่รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งยอมให้ตามอนุสัญญานี้จะไม่ตกเป็นคุณประโยชน์แก่บุคคลที่มิได้มีสิทธิรับคุณประโยชน์นั้นรัฐผู้ทำสัญญารัฐที่ดำเนินการจัดเก็บภาษีเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดชอบในเงินที่เก็บมาต่อรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง

 

2.             ไม่ว่าในกรณีใดๆ ไม่ให้แปลความในบทของข้อนี้เป็นการตั้งข้อผูกพันบังคับรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดให้ดำเนินมาตรการด้านบริหารที่ขัดกับข้อบังคับและวิธีปฏิบัติของรัฐผู้ทำสัญญาที่พยายามจัดเก็บภาษีนั้น หรืออันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนของรัฐนั้น

 

ข้อ 25
คำร้องของผู้เสียภาษี

 

                ให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องราวของตนต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนเป็นคนชาติ หรือเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในหรือ ถ้าผู้เสียภาษี เป็นบรรษัทของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีสิทธิยื่นต่ออีกรัฐหนึ่งนั้น ถ้าตนเห็นว่าการกระทำของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งมีผลหรือจะมีผลให้ต้องเสียภาษีอากรโดยขัดกับบทแห่งอนุสัญญานี้ เมื่อคำร้องของผู้เสียภาษีปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาที่ได้รับยื่นเรื่องราวว่ามีเหตุผลสมควร เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้นจะต้องพยายามทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนซึ่งขัดกับบทต่างๆ ของอนุสัญญานี้

 

ข้อ 26
วันที่มีผลใช้บังคับ และการให้สัตยาบัน

 

1.             อนุสัญญาฉบับนี้จะได้รับการสัตยาบัน และจะได้ทำการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน ณ กรุงเซอูลโดยเร็วที่สุด

 

2.             (ก)           อนุสัญญานี้ จะเริ่มใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร

 

                (ข)           อนุสัญญานี้ จะถือปฏิบัติตามปีรัษฎากร (หรือระยะเวลาภาษี)หรือรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งเริ่มขึ้น

                               วันที่ หรือหลังวันที่หนึ่งมกราคมของปีปฏิทินซึ่งอนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับ

 

3.             อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับตลอดไป แต่รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดอาจบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเลิกความตกลงนี้โดยทางทูตต่อรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งในหรือก่อนวันที่ 30 มิถุนายน ในปีปฏิทินใดๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ภายหลังจากสิ้นกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ความตกลงนี้มีผลใช้บังคับ ในกรณีเช่นนี้ อนุสัญญานี้จะเป็นอันเลิกมีผลใช้บังคับ สำหรับปีรัษฎากรซึ่งเริ่มในวันที่ หรือหลังวันที่ 1 มกราคม ในปีปฏิทินต่อไป จากปีที่ได้รับการบอกกล่าวนั้น

 

                ทำ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2517 ต้นฉบับ 6 ฉบับเป็นภาษาเกาหลี ไทย และอังกฤษ ภาษาละ 2 ฉบับ ทุกฉบับใช้ได้เท่าเทียมกัน เว้นแต่กรณีสงสัย ให้ใช้ฉบับภาษาอังกฤษบังคับ

 

สำหรับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

(ลงนาม) จรูญ พ. อิศรางกูร ณ อยุธยา
(จรูญพันธุ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี

(ลงนาม) เชิน บิยง คิว
(เชิน บิยง คิว)
เอกอัครราชทูตเกาหลี

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011